“เอวีพีเอ็น” มอบเงินทุนรวม 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่ผู้พัฒนานวัตกรรมความยั่งยืน 13 ราย ในโครงการซัสเทนอะบิลิตี ซีด ฟันด์ เอเชียแปซิฟิก

~ เอวีพีเอ็นหวังใช้กองทุนนี้ ส่งเสริมให้องค์กรผู้สร้างผลกระทบในท้องถิ่นเข้ามาขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงปฏิรูปในชุมชนที่ดำเนินงานอยู่ ~

~ ประกาศรายชื่อองค์กรไม่แสวงกำไรผู้ได้รับทุน 13 รายที่มุ่งใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในงานประชุมซีอีเอดี ประจำปี 2566 ของธนาคารพัฒนาเอเชีย ~

เครือข่ายการกุศลเพื่อการร่วมลงทุนในทวีปเอเชีย (Asian Venture Philanthropy Network) หรือเอวีพีเอ็น (AVPN) เครือข่ายนักลงทุนเพื่อสังคมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ได้ประกาศผลการคัดเลือกองค์กรไม่แสวงกำไร 13 รายผู้ได้รับเงินทุนตามโครงการซัสเทนอะบิลิตี ซีด ฟันด์ เอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Sustainability Seed Fund) ในงานประชุมการพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Development Symposium หรือ SEADS) ประจำปี 2566 ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank หรือ ADB) กองทุนซัสเทนอะบิลิตี ซีด ฟันด์ เอเชียแปซิฟิกนี้ ได้รับการสนับสนุนโดยกูเกิล ด็อต โออาร์จี (Google.org) ซึ่งเป็นหน่วยงานการกุศลของกูเกิล (Google) และธนาคารพัฒนาเอเชีย

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะประเทศเกาะขนาดเล็กในพื้นที่ต่ำในภูมิภาคแห่งนี้ เปราะบางอย่างยิ่งต่อภัยพิบัติที่เป็นผลกระทบของภาวะโลกรวน อย่างเช่นเหตุการณ์หยาดน้ำฟ้าที่รุนแรง คลื่นความร้อน การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ กองทุนซัสเทนอะบิลิตี ซีด ฟันด์ เอเชียแปซิฟิก ก่อตั้งขึ้นโดยเอวีพีเอ็น เพื่อสนับสนุนโซลูชันที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีซึ่งมีความเป็นนวัตกรรมมากที่สุดเพื่อต่อสู้กับภาวะโลกรวนและขับเคลื่อนความยั่งยืนในภูมิภาค

องค์กรไม่แสวงกำไรที่ได้รับคัดเลือกทั้ง 13 แห่ง ได้แก่

1. อาลาม เซฮัต เลสตารี (Alam Sehat Lestari)

อาลาม เซฮัต เลสตารี สนับสนุนโซลูชันที่ออกแบบโดยชุมชนเพื่ออนุรักษ์ป่าฝนที่สำคัญขนาด 108,000 เฮกตาร์ในเกาะบอร์เนียวในอินโดนีเซีย อาลาม เซฮัต เลสตารี จะพัฒนาแพลตฟอร์มเรนฟอเรสต์ เอ็กซ์เชนจ์ (Rainforest Exchange หรือ RX) เพื่อให้ข้อมูลที่แม่นยำและเข้าถึงได้มากขึ้นเกี่ยวกับการสูญเสียป่าฝนและคาร์บอน ซึ่งมีความสำคัญในการต่อสู้กับการทำลายป่า

2. แอเซอร์ อัลไลแอนซ์ (Azure Alliance)

แอเซอร์ อัลไลแอนซ์ เป็นองค์กรไม่แสวงกำไรที่มุ่งส่งเสริมทรัพยากรน้ำสะอาด ตลอดจนการดูแลรักษาระบบนิเวศทางทะเลและน้ำจืดปลอดมลพิษ องค์กรแห่งนี้กำลังพัฒนายานพาหนะไร้คนขับเพื่อขจัดขยะในแหล่งน้ำอย่างเช่นขยะพลาสติกจากท่าเรือ ทะเลสาบ บ่อน้ำ และทางน้ำ

3. มูลนิธิพลังงานไร้พรมแดน (Border Green Energy Team Foundation)

มูลนิธิพลังงานไร้พรมแดนเป็นมูลนิธิจดทะเบียนสัญชาติไทยที่ทำงานเพื่อให้บริการโซลูชันพลังงานหมุนเวียนและการให้ความรู้เชิงเทคนิค มูลนิธิแห่งนี้กำลังเพิ่มการเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนสำหรับหมู่บ้านในชนบทบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา

4. โคอาลิชัน ฟอร์ อาวร์ คอมมอน ฟิวเจอร์ (Coalition for Our Common Future)

โคอาลิชัน ฟอร์ อาวร์ คอมมอน ฟิวเจอร์ เป็น ‘แพลตฟอร์มคิดและทำ’ (Think and Do Platform) ในเกาหลีใต้ที่ดำเนินบทบาทในการบรรลุเป้าหมายระดับโลกด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนและการเติบโตอย่างใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม องค์กรแห่งนี้ใช้ประโยชน์จากโซลูชันเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเช่นเทคโนโลยีคลาวด์และการวิเคราะห์บิ๊กดาต้า เพื่อเพิ่มการเข้าถึงพลังงานหมุนเวียน

5. เอ็นจิเนียริง กู๊ด (Engineering Good)

เอ็นจิเนียริง กู๊ด เป็นองค์กรไม่แสวงกำไรในสิงคโปร์ที่สนับสนุนการให้ความสำคัญกับทุกกลุ่มคนสำหรับชุมชนด้อยโอกาสโดยใช้โซลูชันวิศวกรรมและเทคโนโลยี องค์กรแห่งนี้นำอุปกรณ์เทคโนโลยีมาใช้งานเพื่อประโยชน์ใหม่ (repurpose) และสร้างมูลค่าใหม่ (upcycle) เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีสำหรับบุคคลด้อยโอกาส

6. กูจารัต มาฮิลา เฮาซิง เซวา ทรัสต์ (Gujarat Mahila Housing Sewa Trust)

มาฮิลา เฮาซิง ทรัสต์ มุ่งพัฒนาโมเดลที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และนำโดยสตรีผู้ยากไร้เพื่อความมั่นคงยืดหยุ่นทางภูมิอากาศสำหรับเมืองอมัลเนอร์ รัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย ซึ่งจะเป็นต้นแบบของชุมชนเมืองขนาดเล็กในอินเดีย องค์กรแห่งนี้จะบุกเบิกการใช้ประโยชน์จากข้อมูลการใช้ที่ดินในการระบุขอบเขตเพื่อทำแผนที่พื้นที่รับน้ำ โดยมุ่งให้เกิดการอนุรักษ์ระบบระบายน้ำตามธรรมชาติ

7. สถาบันยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมโลก (Institute for Global Environmental Strategies)

สถาบันยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมโลกเป็นคลังสมองด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมที่เป็นอิสระและไม่แสวงกำไร ซึ่งมุ่งสร้างระบบรีไซเคิลแบบปิดบนเกาะ รองรับพลาสติกและขยะประเภทอื่น ๆ บนเกาะเสม็ด จังหวัดระยอง

8. โอเชียน รีคัฟเวอรี อัลไลแอนซ์ (Ocean Recovery Alliance)

โอเชียน รีคัฟเวอรี อัลไลแอนซ์ เป็นองค์กรไม่แสวงกำไรที่มุ่งเน้นการสร้างโซลูชันเชิงนวัตกรรมและการทำงานร่วมกัน เพื่อยกระดับสภาพความสมบูรณ์ของมหาสมุทร องค์กรแห่งนี้ตั้งใจที่จะขยายการใช้งานโกลบอล อเลิร์ต (Global Alert) เครื่องมือออนไลน์เชิงนวัตกรรมที่เพิ่มปฏิสัมพันธ์และการเชื่อมโยงกับประเด็นพลาสติกในแหล่งน้ำ เปิดโอกาสให้ผู้ใช้รายงาน ให้คะแนน และระบุระดับมลพิษขยะพลาสติกพร้อมตำแหน่งในลุ่มน้ำบริเวณใกล้เคียง

9. ทีจีอีซีเอ (TGECA)

ทีจีอีซีเอมุ่งเน้นความเหลื่อมล้ำด้านพลังงานเพื่อไม่ให้มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โดยพัฒนาเครื่องมือที่ทำงานได้อย่างรวดเร็ว เพื่อตรวจจับความเปราะบางของกลุ่มเปราะบางในด้านการบริโภคไฟฟ้าภายใต้ภาวะโลกรวน

10. อันชาร์ทเต็ด วอเตอร์ส ลิมิเต็ด (Uncharted Waters ltd)

อันชาร์ทเต็ด วอเตอร์ส ลิมิเต็ด เป็นองค์กรสตาร์ตอัปด้านภูมิอากาศที่ไม่แสวงกำไรและขับเคลื่อนด้วยข้อมูลในออสเตรเลีย ซึ่งมอบหลักฐานแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศต่อน้ำและความมั่นคงทางอาหาร และสำรวจว่าผลกระทบเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเลวร้ายลง (หรือบรรเทา) โดยภาวะโลกรวนที่กำลังดำเนินอยู่ในระดับใด

11. มูลนิธิวิลโกร อินโนเวชัน (Villgro Innovation Foundation)

วิลโกรเป็นองค์กรไม่แสวงกำไรในอินเดียซึ่งมุ่งเน้นการสนับสนุนนวัตกรรม เพื่อสังคมที่มีศักยภาพในการสร้างความเสมอภาคด้านนวัตกรรม/เทคโนโลยีและการสร้างผลกระทบในวงกว้าง องค์กรแห่งนี้ร่วมมือกับคัลทิเวท (CultYvate) ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) เพื่อทำให้เกิดเทคนิคการให้น้ำแบบเปียกสลับแห้งและการทดน้ำที่แม่นยำ

12. วอเตอร์ สจ๊วร์ตชิพ เอเชียแปซิฟิก (Water Stewardship Asia Pacific)

วอเตอร์ สจ๊วร์ตชิพ เอเชียแปซิฟิก ก่อตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองต่อภาวะภัยแล้งแห่งสหัสวรรษในออสเตรเลีย องค์กรแห่งนี้มุ่งพัฒนาเครื่องมือเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) หลากหลายชนิดซึ่งจะเร่งการส่งมอบโครงการให้แก่ธุรกิจ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และชุมชนผู้ใช้น้ำที่ต้องพึ่งพิง

13. ยายาซาน โซลาร์ แชปเตอร์ อินโดนีเซีย (Yayasan Solar Chapter Indonesia)

ยายาซาน โซลาร์ แชปเตอร์ อินโดนีเซีย (โซลาร์ แชปเตอร์) เป็นองค์กรไม่แสวงกำไรที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่ชนบทในอินโดนีเซียที่เปราะบางต่อภัยพิบัติทางภูมิอากาศ องค์กรแห่งนี้กำลังพัฒนาวอเตอร์ไอคิว (WaterIQ) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งและคลาวด์ คอมพิวติง เพื่อยกระดับประสิทธิภาพของการติดตามเฝ้าระวังระบบน้ำที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในจังหวัดนูซาเติงการาตะวันออก

คุณดินี อินดราวาตี (Dini Indrawati) ผู้อำนวยการประจำประเทศอินโดนีเซียของเอวีพีเอ็น กล่าวเนื่องในโอกาสนี้ว่า กองทุนซัสเทนอะบิลิตี ซีด ฟันด์ เอเชียแปซิฟิก มูลค่า 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐนี้ เปิดโอกาสให้โครงการความยั่งยืนไม่แสวงกำไรที่มีความเป็นนวัตกรรมมากที่สุดได้เข้ามาช่วยชุมชนเปราะบางและด้อยโอกาสในตลาด 8 แห่งให้ปรับตัวและบรรเทาผลกระทบที่ร้ายแรงของภาวะโลกรวน

คุณดินี กล่าวเสริมว่า “เมื่อเราประกาศการมอบทุนดังกล่าวนี้ในเดือนมิถุนายน 2565 จุดมุ่งหมายหลักของเราคือการสร้างสะพานเชื่อมและส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างผู้มอบเงินทุนและองค์กรสร้างผลกระทบ องค์กรสร้างผลกระทบในท้องถิ่นกำลังพัฒนาการดำเนินการรับมือด้านภูมิอากาศโดยใช้เทคโนโลยีอย่างปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเมื่อผนวกรวมเข้ากับความเชี่ยวชาญในพื้นที่จริงของพวกเขาแล้ว กำลังพัฒนาการปฏิบัติด้านความยั่งยืนที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงและออกแบบให้เข้ากับความต้องการเฉพาะของตลาดต่างๆในเอเชียแปซิฟิก เงินทุนจึงเป็นสิ่งสำคัญในการทำให้พวกเขาทำงานต่อไปในการต่อสู้กับภาวะโลกรวนและสร้างความมั่นคงให้กับอนาคตของภูมิภาคแห่งนี้”

คุณมิเคลลา บราวนิง (Michaela Browning) รองประธานฝ่ายกิจการภาครัฐและนโยบายสาธารณะประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของกูเกิล กล่าวว่า “เราภูมิใจที่ได้สนับสนุนเอวีพีเอ็นผ่านหน่วยงานการกุศลของเราอย่างกูเกิล ด็อต โออาร์จี เพื่อระบุตัวและช่วยเหลือผู้นำด้านความยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งช่วยชุมชนท้องถิ่นบรรเทาผลกระทบของภาวะโลกรวน เรามุ่งหวังที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้แก่องค์กรอื่น ๆ ให้ก้าวออกมาและสนับสนุนผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงระดับรากหญ้าในทั่วทั้งภูมิภาคแห่งนี้ ดิฉันขอแสดงความยินดีกับองค์กรไม่แสวงกำไรทั้งหมดที่ได้รับเลือกสำหรับการได้รับรางวัลเงินทุนครั้งนี้ และตั้งตารอผลงานที่ยอดเยี่ยมซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะเกิดขึ้นจากความพยายามของพวกเขาที่ขณะนี้ได้รับการสนับสนุนให้เป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น”

เกี่ยวกับเอวีพีเอ็น

เอวีพีเอ็นเป็นเครือข่ายนักลงทุนเพื่อสังคมประจำทวีปเอเชียที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีสมาชิกกว่า 600 รายกระจายอยู่ในตลาด 33 แห่ง เอวีพีเอ็นมีพันธกิจที่จะอุดช่องว่างด้านเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ( SDG) ในทวีปเอเชีย ด้วยการส่งเสริมสมาชิกให้เพิ่มกระแสเงินทุน ทุนมนุษย์ และทุนทางปัญญา มุ่งสู่การสร้างผลลัพธ์ เอวีพีเอ็นแบ่งปันความรู้ความเชี่ยวชาญและสร้างสรรค์ความร่วมมือระหว่างผู้กำหนดนโยบาย สำนักงานครอบครัว มูลนิธิ และภาคเอกชน เพื่อปรับปรุงการใช้ทุนให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น สะท้อนความต้องการในท้องถิ่น ความเชี่ยวชาญระดับภูมิภาค และข้อมูลด้านนโยบายในเชิงลึก

ในฐานะผู้จัดการประชุมเอวีพีเอ็นระดับโลก ( AVPN Global Conference) ซึ่งเป็นกิจกรรมเครือข่ายสำหรับนักลงทุนเพื่อสังคมในเอเชียที่ใหญ่ที่สุดในโลก จุดมุ่งหมายสำคัญของเอวีพีเอ็นคือการทำให้เสียงของชาวเอเชียอยู่ในแนวหน้าของการสนทนาระดับโลก โดยผลลัพธ์ที่ได้จากการประชุมนี้จะได้รับการเพิ่มเข้าไปในวาระหลักของการประชุมผู้นำกลุ่ม G20 ที่กำลังจะเกิดขึ้น การประชุมดังกล่าวนี้ยังใช้ในระบบนิเวศนักลงทุนเพื่อสังคมเป็นพื้นที่ในการก่อตั้งและประกาศความร่วมมือครั้งใหม่ พัฒนาเครื่องมือระดมทุนเพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลง และแบ่งปันแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศซึ่งเคลื่อนย้ายทุนปริมาณมากขึ้นไปสู่การสร้างผลกระทบ

เกี่ยวกับซัสเทนอะบิลิตี ซีด ฟันด์ เอเชียแปซิฟิก

ซัสเทนอะบิลิตี ซีด ฟันด์ เอเชียแปซิฟิก เป็นโครงการสำคัญโดยเอวีพีเอ็น ด้วยการสนับสนุนจากกูเกิล ด็อต โออาร์จี และธนาคารพัฒนาเอเชียในฐานะพันธมิตรเชิงกลยุทธ์และการช่วยเหลือชุมชน กองทุนดังกล่าวนี้ก่อตั้งขึ้นโดยเอวีพีเอ็น เพื่อสนับสนุนโซลูชันที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีซึ่งมีความเป็นนวัตกรรมมากที่สุดเพื่อต่อสู้กับภาวะโลกรวนและขับเคลื่อนความยั่งยืนในภูมิภาค

https://avpn.asia/philanthropic-fund/apac-sustainability-seed-fund/

เกี่ยวกับงานประชุมซีอีเอดีเอส ประจำปี 2566:

https://seads.adb.org/symposium/SEADS2023

รูปภาพ: https://mma.prnewswire.com/media/2044306/AVPN_APAC_Sustainability_Seed_Fund.jpg
โลโก้: https://mma.prnewswire.com/media/2044307/AVPN_Logo.jpg