รายงานชุดเกรนส์ ออฟ ทรูธ : งานวิจัยชิ้นใหม่จากอีทและโกลบสแกน ยังเน้นย้ำว่า ผู้บริโภคมีบทบาทมากกว่ารัฐบาลในเรื่องอาหารที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
รายงานการศึกษาวิจัยผู้บริโภคทั่วโลกครั้งใหม่โดยโกลบสแกน (GlobeScan) บริษัทผู้ให้คำปรึกษาและข้อมูลเชิงลึกระดับโลก ร่วมกับอีท (EAT) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรด้านวิทยาศาสตร์เพื่อการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารทั่วโลก ระบุว่า 42% ของผู้บริโภคทั่วโลกคิดว่า ผู้คนมีแนวโน้มจะกินอาหารแพลนต์เบส (plant-based) แทนเนื้อสัตว์จริงในอีก 10 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ รายงานด้านอาหารเพื่อสุขภาพ ความยั่งยืน และความเท่าเทียมยังเปิดเผยอีกว่า ผู้คนเกินครึ่ง (51%) บอกว่า พวกเขารู้สึกไม่มั่นคงเกี่ยวกับการจัดหาอาหารของตนเมื่อเผชิญกับปัญหาโควิด-19 ความขัดแย้ง และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมีความแปรผันอย่างมากขึ้นอยู่กับประเทศและภูมิภาคต่าง ๆ โดยในแถบลาตินอเมริกามีระดับความหวั่นใจต่อความไม่มั่นคงทางอาหารสูงที่สุดอยู่ในประเทศบราซิล (73%) โคลอมเบีย (72%) และเปรู (69%) รวมถึงในเคนยา (77%) และอิตาลี (64%) ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามจากอินเดีย (19%) ซาอุดีอาระเบีย (33%) และอียิปต์ (35%) แสดงความกังวลต่อปัญหาดังกล่าวน้อยที่สุด
ผลการวิจัยที่ปรากฏในงานวิจัยชุดเกรนส์ ออฟ ทรูธ (Grains of Truth) ฉบับที่สอง ได้พิจารณาจากความคิดเห็นของผู้บริโภคเกือบ 30,000 รายใน 31 ตลาดทั่วโลกเกี่ยวกับการจัดหาอาหารเพื่อสุขภาพ ความยั่งยืน และความเท่าเทียม
ความกังวลด้านการจัดหาอาหารนำไปสู่ความกังวลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาด้านการขาดแคลนอาหารด้วย โดย 60% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาจากระดับความกังวลของแต่ละพื้นที่แล้ว จีน (16%) ฮ่องกง (24%) และเกาหลีใต้ (28%) มีระดับความกังวลน้อยที่สุด ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 8 ใน 10 จากโคลอมเบีย เปรู เคนยา เม็กซิโก บราซิล อาร์เจนตินา และแอฟริกาใต้กล่าวว่า พวกเขากังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนอาหาร นอกจากนี้ ค่าครองชีพที่สูงขึ้นยังเกี่ยวเนื่องกับปริมาณอาหารอีกด้วย สอดคล้องกับความเห็นของผู้คนทั้งหมด 92% ที่เห็นพ้องกันว่า ราคาของการซื้ออาหารตามปกติของพวกเขาเพิ่มขึ้นในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
ในยามที่ความกังวลด้านความไม่มั่นคงทางอาหารและราคาพุ่งสูงขึ้น ผู้บริโภคราว 60% กล่าวว่า พวกเขารับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพเกือบตลอดเวลาหรือตลอดเวลา โดยมีจำนวนผู้ที่บริโภคมังสวิรัติและวีแกนเพิ่มขึ้น ซึ่งกว่า 1 ใน 5 (22%) กล่าวว่าพวกเขากินอาหารแพลนต์เบสหรือวีแกน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 17% ในปี 2562 นอกจากนี้ ความสนใจในการลองรับประทานอาหารแพลนต์เบสยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกกลุ่มอายุ โดย 40% ของคนเจนซี (Gen Z) 43% ของคนยุคมิลเลเนียล 37% ของคนเจนเอ็กซ์ (Gen X) และ 28% ของคนยุคเบบี้ บลูมเมอร์ กล่าวว่าพวกเขาสนใจที่จะทดลองวิถีการกินในรูปแบบนี้
ขณะเดียวกัน ในบางประเทศพบช่องว่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างผู้ที่สนใจจะเปลี่ยนมารับประทานอาหารแพลนต์เบสและผู้ที่รับประทานอยู่แล้ว โดยช่องว่างที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในเวียดนาม (ห่างกัน 38% ) ไทย (ห่างกัน 37%) และบราซิล (ห่างกัน 22%)
ผู้บริโภคเกือบ 9 ใน 10 (89%) กล่าวว่า การซื้ออาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความรับผิดชอบเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพวกเขา ขณะที่ 2 ใน 3 (64%) ยินดีจ่ายเพิ่ม ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้คุณค่าที่ผู้บริโภคมอบให้กับสินค้าเหล่านี้ แม้จะขัดกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นก็ตาม
ดร.กันฮิลด์ สตอร์ดาเลน (Gunhild Stordalen) ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารของอีท กล่าวถึงงานวิจัยนี้ว่า “ข้อเท็จจริงที่ผู้คนจำนวนมากทั่วโลกเริ่มให้ความสนใจในการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและยั่งยืนมากขึ้นนั้นเป็นสัญญาณที่ดี หากเป็นเมื่อไม่กี่ปีก่อนนี้ แทบจะไม่น่าเชื่อเลยว่า 42% ของคนทั่วโลกจะเชื่อว่า อาหารแพลนต์เบสจะเข้ามาแทนที่เนื้อสัตว์ภายใน 10 ปีข้างหน้า แต่ผู้คนเริ่มที่จะเข้าใจผลกระทบเกี่ยวกับสภาพอากาศและธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงขึ้น รวมถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตประจำวันของพวกเขามากขึ้นเมื่อเชื่อมโยงกับการระบาดของโควิด-19 สงครามในยูเครน และวิกฤตค่าครองชีพที่เร่งตัวขึ้น ในขณะที่ผู้บริโภคเข้าใจปัญหาต่าง ๆ มากขึ้น ก็ถึงคราวภาคส่วนอื่น ๆ ในระบบอาหารที่จะดำเนินการโดยทันทีเพื่อช่วยพวกเขา ซึ่งการเข้าถึงและความสามารถในการแจกจ่ายจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งดังที่ฉบับแรกของรายงานชุดนี้ได้ระบุไว้เมื่อปีที่แล้ว อีท-แลนเซ็ท 2.0 (EAT-Lancet 2.0) จะช่วยนำวิทยาการล่าสุดจากหลากหลายสาขามารวมกัน เพื่อกำหนดทิศทางร่วมกันเกี่ยวกับเป้าหมายของระบบอาหารเพื่อสุขภาพ ความยั่งยืน และความเท่าเทียมกัน นี่คือสิ่งสำคัญในการนำแนวโน้มของโลกไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง”
คุณคริส โคลเตอร์ (Chris Coulter) ซีอีโอของโกลบสแกน กล่าวว่า “การวิจัยในเวลาที่เหมาะสมนี้ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกว่า ราคาอาหารที่สูงขึ้น การที่รัสเซียรุกรานยูเครนอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้สร้างความหวาดกลัวให้แก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับความไม่มั่นคงด้านอาหารได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าจะมีความหวังในการเปลี่ยนแปลงไปสู่การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและยั่งยืนยิ่งขึ้นในหมู่ผู้บริโภค การบริโภคอาหารแบบแพลนต์เบสเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคของโลก และผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับการเลือกอาหารมากขึ้น”
ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็ม รวมถึงข้อมูลเปรียบเทียบแต่ละประเทศได้ที่นี่