แนะวิธีสังเกตและป้องกันผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมผู้สูงอายุในบ้าน
โรคสมองเสื่อม หรือ ภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ คือโรคที่ผู้ป่วยมีความเสื่อมถอยของการทำงานของสมองในภาพรวมซึ่งเกิดจากการสูญเสียเซลล์สมองหลายส่วน ผู้สูงอายุที่เป็นโรคสมองเสื่อมจะมีปัญหาในการทำงานของสมองขั้นสูง 6 ด้าน คือ ด้านสมาธิ ด้านการคิด ตัดสินใจ ด้านความจำ ด้านการใช้ภาษา ด้านมิติสัมพันธ์ และด้านการเข้าสังคม โรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุกำลังจะเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของไทย กรมสุขภาพจิตพบว่าผู้สูงวัยในไทยสมองเสื่อมกันมากถึง 8 แสนกว่ารายในปัจจุบัน ปู่ย่าตายายของเราที่อายุ 80 ขึ้นไป กว่าร้อยละ 50 มักมีอาการสมองเสื่อม ลูกหลานต้องช่วยกันดูแลอย่างเป็นพิเศษด้วยความใจเย็น แพทย์หญิงรุ่งทิพย์ ชัยธีรกิจ แพทย์ชำนาญพิเศษด้านประสาทวิทยา ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลนครธน เผยถึงวิธีการสังเกตเบื้องต้นว่าลูกหลานสามารถช่วยกันสังเกตผู้สูงอายุที่บ้านได้ว่าเข้าข่ายภาวะสมองเสื่อมหรือไม่ อาทิ ผู้สูงอายุมีอาการหลงลืม สับสนเรื่องเวลาหรือสถานที่อาจลืมว่าตอนนี้ตนอยู่ที่ใดและเดินทางมายังสถานที่นั้นได้อย่างไร ไม่สามารถรับรู้หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ใช้ภาษาผิดปกติ บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง เช่น ซึมเศร้า เฉื่อยชา โมโหฉุนเฉียวง่ายโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน พฤติกรรมเหล่านี้อาจเป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนการเข้าสู่ภาวะสมองเสื่อมของผู้สูงอายุในครอบครัวซึ่งผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมจะสูญเสียการทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอนไปและมีการสูญเสียความจำระยะสั้นย้อนกลับไปถามคำถามเดิมซ้ำ ๆ ทั้งที่เพิ่งพูดคุยกันภายใน 5-10 นาทีที่ผ่านมา มากกว่านั้น เกิดหลงทางขึ้นมาแม้เป็นเส้นทางที่ตนคุ้นเคยมาทั้งชีวิตและผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการทางจิตประสาท เช่น หูแว่ว ภาพหลอน เข้าใจว่ามีคนคิดจะมาทำร้ายตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นความอันตรายให้กับผู้สูงอายุในระดับนึง หากผู้สูงอายุมีอาการดังกล่าว […]