Lazada

Mintel ชี้กลุ่มผู้บริโภค “สายกรีน” ในเอเชียแปซิฟิกมาแรง!

– ผู้บริโภคชาวไทย 70% ต้องการเห็นความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ non-dairy หรือผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากนมมากยิ่งขึ้น

– ชี้โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคสนใจอาหารที่มีโปรตีนจากพืช

– การเติบโตของกลุ่มผู้บริโภค ‘สายกรีน’ กรุยทางสู่โอกาสทางธุรกิจของแบรนด์ผลิตภัณฑ์นมและโยเกิร์ต

ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ผู้บริโภคเริ่มหันมาสนใจการรับประทานอาหารจากพืชมากขึ้น และผู้บริโภคยังให้ความสำคัญกับส่วนผสมและกรรมวิธีการผลิตที่สะอาดปลอดภัยของอาหารและเครื่องดื่มทางเลือกอีกด้วย ยกตัวอย่าง 1 ใน 3 (33%) ของผู้บริโภคชาวอินเดีย* ให้คำมั่นว่า จะทานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสัตว์น้อยลง (เช่น ผลิตภัณฑ์จากนมหรือเนื้อสัตว์) ซึ่งเป็นหนึ่งในปณิธานว่าด้วยการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะที่ประเทศเกาหลีใต้ ผู้บริโภคจำนวน 71%** เห็นด้วยว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่ออาหารและเครื่องดื่มที่ตนเองซื้อ หรือในขณะเดียวกัน 57% ของผู้บริโภคชาวจีนที่อาศัยในเมืองเห็นด้วยว่า ประเด็นสิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจและความสำคัญมากขึ้นนับตั้งแต่ที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ดังนั้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาการรับประทานโปรตีนจากพืชถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ผลิตเนื้อสัตว์และบริษัทผลิตภัณฑ์จากนมต่างมองหาวิธีกระตุ้นผู้บริโภคด้วยการออกผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มพรีเมียมที่มีคุณค่าทางโภชนาการและดีต่อสุขภาพสู่ตลาด

ข้อมูลจากระบบ Mintel Global New Products Database (GNPD) เปิดเผยว่า 47% ของผลิตภัณฑ์นมที่ได้จากพืชและมีการเปิดตัวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก(APAC)ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาถึงเดือนพฤษภาคม 2564 มีการอ้างอิงข้อมูลผลิตภัณฑ์ในเรื่องความยั่งยืน (ของที่อยู่อาศัย/ทรัพยากร) สถิติการอ้างอิงข้อมูลดังกล่าวนับเป็นตัวเลขที่บ่งชี้ถึงโอกาสในการเติบโตของผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้เป็นอย่างมาก

Tan Heng Hong นักวิเคราะห์ในกลุ่มนวัตรกรรมอาหารและเครื่องดื่มในภูมิภาค APAC กล่าวว่า “การเติบโตของกลุ่มผู้บริโภคอาหารและเครื่องดื่ม ‘สายกรีน’ จัดเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพสัตว์และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้จะช่วยผลักดันโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญแก่ผู้ผลิตและแบรนด์ผลิตภัณฑ์จำพวกนมจากพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบรนด์ผลิตภัณฑ์นมและโยเกิร์ตควรที่จะเริ่มให้ความสำคัญในเรื่องอาหารจากพืช สวัสดิภาพสัตว์และความยั่งยืนผ่านการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ไปจนถึงกระบวนการผลิตและประโยชน์ที่ผู้บริโภคพึงได้รับจากแบรนด์อีกด้วย

ผสมผสานคุณค่าทางอาหารที่ดีที่สุดจากทั้งสองขั้ว

ในเอเชียแปซิฟิกเรามักคิดว่าผลิตภัณฑ์นมจากพืชเป็นเครื่องดื่มที่เต็มไปด้วยโภชนาการที่มีประโยชน์และเหมาะกับคนแพ้แลคโตสเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ขณะนี้ผลิตภัณฑ์นมจากพืชมีคุณสมบัติที่เหมาะสมไม่เพียงแต่สำหรับผู้แพ้สารอาหารเท่านั้น แต่ยังเหมาะสมและสามารถรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่สนใจการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มจากพืชที่ใส่ใจในเรื่องความยั่งยืนและสวัสดิภาพสัตว์เช่นกัน

ทั้งนี้ เมื่ออ้างอิงผลการวิจัยของ Mintel พบว่า 35% ของผู้บริโภคในประเทศจีนที่อาศัยในเมืองต้องการเครื่องดื่มโปรตีนจากพืชที่มีส่วนผสมของนม ในขณะที่ 22% ของผู้บริโภคมองหาเครื่องดื่มโปรตีนจากพืชที่มีส่วนผสมจากพืชสองชนิดขึ้นไป ขณะที่ในประเทศอินเดียพบว่าผู้บริโภคเกือบ 1 ใน 5 (17%) กล่าวว่าน้ำนมที่มีสีขาวมีประโยชน์มากกว่านมจากพืช

Heng Hong เสนอแนะว่า “บริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมสามารถใช้โอกาสนี้ในการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ dairy-free ผ่านกรรมวิธีผสมผสานคุณประโยชน์จากน้ำนมที่มีสีขาวและโภชนาการที่มากมายจากนมที่ผลิตจากพืช การผสมผสานผลิตภัณฑ์เช่นนี้จะคลี่คลายประเด็นเกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาพที่เป็นอุปสรรคในการบริโภคได้ อย่างเช่นตลาดประเทศอินเดียที่บริโภคผลิตภัณฑ์จากนมเป็นหลักในมื้ออาหาร

ผู้บริโภคมองหาความหลากหลายในส่วนผสมจากพืชมากขึ้น

จากผลวิจัยของ Mintel พบว่า 70% ของผู้บริโภคคนไทยต้องการเห็นความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ non-dairy มากขึ้นและอ้างอิงข้อมูลจากฐานข้อมูล Mintel GNPD เปิดเผยว่า ในเอเชียแปซิฟิกระหว่างเดือนมิถุนายน 2563 ถึงเดือนพฤษภาคม 2564 ถั่วเหลือง (48%) เป็นส่วนผสมหลักในโยเกิร์ตถ้วยและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมจากพืช

อย่างไรก็ตาม ความนิยมในการบริโภคถั่วเหลืองมีแนวโน้มลดลงและสวนทางกับการเติบโตของส่วนผสมจำพวกถั่วที่รวมถึงอัลมอนด์ มะม่วงหิมพานต์ ธัญพืชและเมล็ดพืชต่าง ๆ ในประเทศจีน ผู้ดื่มชาถึง 59% เล็งเห็นคุณค่าทางโภชนาการจากข้าวโอ๊ต โดยข้อมูลจาก Mintel GNPD พบว่าในช่วง 12 เดือนที่ผ่านถึงเดือนพฤษภาคม 2564 ความนิยมของนมข้าวโอ๊ตในธุรกิจบริการอาหารได้ขยายตัวเข้าสู่ร้านค้าปลีกด้วยอัตราการเติบโตถึง 110% สำหรับผลิตภัณฑ์นมและโยเกิร์ตที่มีส่วนผสมจากข้าวโอ๊ต เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันเมื่อปีที่ผ่านมา