“ชาลิ่วเป่า” มรดกชาจีนที่หอมกรุ่นไกลทั่วโลก

อู๋โจว, จีน, 12 พ.ย. 2567 /ซินหัว-เอเชียเน็ท/ดาต้าเซ็ต

เมื่อร้อยปีก่อน เส้นทางการเดินเรือขนาดใหญ่ได้ลำเลียงชาลิ่วเป่า (Liubao) มาจากเทือกเขาห่างไกล เชื่อมโยงผืนแผ่นดินและท้องทะเลด้วยเส้นทางการค้า ปัจจุบัน ด้วยแรงขับเคลื่อนจากโครงการสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) อุตสาหกรรมชาลิ่วเป่าในเมืองอู๋โจวก็ได้ก้าวสู่การพลิกโฉมและยกระดับครั้งใหญ่ ชาคุณภาพเยี่ยมที่มีกลิ่นหอมละมุนได้เดินทางไปตามเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 นำพากลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาจีนไปสู่ผู้คนในดินแดนแสนไกล

ที่ชุมชนลิ่วเป่าในเมืองอู๋โจว ท่ามกลางเทือกเขาสูงตระหง่าน มีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 21.2 องศาเซลเซียส และปริมาณน้ำฝนแตะหลัก 1,500 มิลลิเมตรต่อปี สภาพแวดล้อมเช่นนี้เอื้ออำนวยอย่างยิ่งต่อการเพาะปลูกชา ชาที่ผลิตในแถบนี้มีชื่อว่า “ชาลิ่วเป่า” ขึ้นชื่อด้วยคุณลักษณะเด่นอย่าง “สีแดง รสเข้มข้น นุ่มละมุน และบ่มเก่า” พร้อมกลิ่นหอมเฉพาะตัวคล้ายหมาก ในอดีตนั้น การค้าส่งออกชาลิ่วเป่าเคยรุ่งเรืองอย่างมาก ตามที่ปรากฏในหนังสือประจำปีมณฑลกวางซีที่ตีพิมพ์ในปี 2483 ระบุว่า ในปี 2478 มีการส่งออกชาลิ่วเป่าจากกวางซีมากถึง 1,100 ตัน โดย “เส้นทางเรือชาโบราณ” ที่เริ่มต้นจากชุมชนลิ่วเป่า อำเภอฉางอู๋ เมืองอู๋โจว ก็ได้กลายเป็นเส้นทางสำคัญในการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมระหว่างจีนตอนใต้กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนแปลงไป อุตสาหกรรมชาลิ่วเป่าในเมืองอู๋โจวได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่น้อย แต่ความมุ่งมั่นของผู้ผลิตชาลิ่วเป่าที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจุบัน อุตสาหกรรมชาลิ่วเป่ากำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยสถิติของสำนักงานวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเมืองอู๋โจวพบว่า ไร่ชาในอู๋โจวมีพื้นที่รวม 394,200 หมู่ (ประมาณ 26,280 เฮกตาร์) มีเกษตรกรปลูกชาถึง 240,000 คน ซึ่งการพัฒนาสวนชาช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรเฉลี่ยคนละ 3,000 หยวนต่อปี และมูลค่าผลผลิตรวมของชาลิ่วเป่าก็ทะลุหลัก 2 หมื่นล้านหยวน เพื่อรักษามาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ดีอยู่เสมอ เมืองอู๋โจวได้ผลักดันการสร้างมาตรฐานสำหรับชาลิ่วเป่าอย่างแข็งขัน ปัจจุบันมีมาตรฐานระดับประเทศ 1 มาตรฐาน มาตรฐานท้องถิ่นกวางซี 18 มาตรฐาน และมาตรฐานกลุ่มอีก 24 มาตรฐาน ซึ่งช่วยผลักดันให้ห่วงโซ่อุตสาหกรรมชาลิ่วเป่าทั้งระบบพัฒนาอย่างมีมาตรฐานและเป็นระเบียบ

จาก “เส้นทางเรือชาโบราณ” สู่เส้นทางสายไหมทางทะเล ชาลิ่วเป่าจากอู๋โจวยังคงขยายเส้นทางการค้าอย่างต่อเนื่อง ผ่านเครือข่ายการขนส่งที่ครอบคลุมทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ

ที่มา: สำนักงานวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเมืองอู๋โจว