ESOC ประจำปี 2567: ผลการศึกษาใหม่เผย รายได้สูงขึ้นลดเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองได้หนึ่งในสาม

บาเซิล, สวิตเซอร์แลนด์, 15 พฤษภาคม 2567 /พีอาร์นิวส์ไวร์/ — งานวิจัยชิ้นใหม่ที่นำเสนอในการประชุมองค์กรโรคหลอดเลือดสมองแห่งยุโรป (European Stroke Organisation Conference: ESOC) ครั้งที่ 10 ประจำปี 2567 เปิดเผยว่าบุคคลที่มีรายได้สูงมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมองลดลง 32% นอกจากนี้ ผู้ที่มีการศึกษาสูงมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมองลดลง 26% เป็นการเน้นให้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจนในการรอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองโดยพิจารณาจากปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพที่สำคัญ (Social Determinants of Health: SDoH)

การศึกษานี้วิเคราะห์ข้อมูลจากผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง 6,901 รายในเมืองโกเธนเบิร์ก ประเทศสวีเดน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 ถึงเดือนธันวาคม 2562 เพื่อตรวจสอบผลกระทบของปัจจัย SDoH ต่อความเสี่ยงการเสียชีวิตหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมอง การศึกษามุ่งเน้นไปที่ปัจจัย 4 ข้อ ได้แก่ พื้นที่อยู่อาศัย ประเทศที่เกิด การศึกษา และรายได้

นอกจากการระบุความเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างรายได้ ระดับการศึกษา และความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมองแล้ว การศึกษายังเผยให้เห็นแนวโน้มที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบสะสมของปัจจัย SDoH โดยผู้ป่วยที่มีปัจจัยไม่เอื้ออำนวยหนึ่งข้อมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงขึ้น 18% เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยไม่เอื้ออำนวยใด ๆ ความเสี่ยงนี้เพิ่มขึ้นเป็น 24% เมื่อผู้ป่วยมีปัจจัยไม่เอื้ออำนวยสองถึงสี่ข้อ

ผู้ประพันธ์อันดับแรก ศาสตราจารย์ Katharina Stibrant Sunnerhagen จากมหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์ก แผนกประสาทวิทยาทางคลินิก เมืองโกเธนเบิร์ก ประเทศสวีเดน ให้ความเห็นว่า “การค้นพบของเราตอกย้ำความเป็นจริงที่ชัดเจนว่าสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละบุคคลอาจเป็นเรื่องของความเป็นความตายในบริบทของโรคหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาต้องเผชิญกับปัจจัย SDoH ที่ไม่เอื้ออำนวยหลายข้อ”

ผลการศึกษาดังกล่าวยังพบความเชื่อมโยงระหว่างความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นและปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติม เช่น การไม่ออกกำลังกาย โรคเบาหวาน การดื่มแอลกอฮอล์ในทางที่ผิด และภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว

เป็นที่น่าสังเกตว่ามีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความแตกต่างทางเพศและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยเสี่ยงเมื่อตรวจสอบลักษณะผู้ป่วยในกลุ่มการศึกษา สัดส่วนของผู้ป่วยหญิงเพิ่มขึ้นตามจำนวนปัจจัย SDoH ที่ไม่เอื้ออำนวย โดย 41% ของกลุ่มที่ไม่มีปัจจัยที่ไม่เอื้ออำนวยเป็นผู้หญิง เทียบกับ 59% ของกลุ่มที่มีปัจจัยที่ไม่เอื้ออำนวยสองถึงสี่ข้อ นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ไม่ว่าจะยังสูบในปัจจุบันอยู่หรือสูบในปีที่ผ่านมา พบว่าแพร่หลายมากขึ้นในกลุ่มที่มีปัจจัยที่ไม่เอื้ออำนวยสองถึงสี่ข้อเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่มีปัจจัยที่ไม่เอื้ออำนวย (19% เทียบกับ 12%)

ศาสตราจารย์ Stibrant Sunnerhagen กล่าวถึงการดำเนินการที่จำเป็นในการลดภาระโรคหลอดเลือดสมองว่า “จากผลการวิจัยของเรา การดำเนินการแบบมุ่งเป้าถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ผู้กำหนดนโยบายจะต้องออกแบบกฎหมายและแนวทางเพื่อคำนึงถึงสถานการณ์เฉพาะของชุมชนที่หลากหลาย ในขณะที่แพทย์ฝ่ายรักษาควรพิจารณาระบุผู้ป่วยที่มีปัจจัย SDoH ที่ไม่เอื้ออำนวยเพื่อป้องกันการเสียชีวิตหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมอง”

“การจัดการกับความแตกต่างเหล่านี้ทำให้เรามีศักยภาพในการปรับปรุงผลลัพธ์ด้านสาธารณสุขอย่างมีนัยสำคัญได้”

 

View original content to download multimedia: Read More