CGTN: ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมทั้งกระบวนการ รับประกันว่าประชาชนจะเป็นใหญ่ที่สุด

กว่าเจ็ดทศวรรษของการสำรวจและทดลองอย่างยากลำบาก จีนได้ค่อย ๆ ก่อร่างสร้างตัวและนำระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยสังคมนิยมมาใช้โดยสมบูรณ์ ซึ่งมีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสำหรับจีนเอง

ในพิธีเปิดการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ชี้ให้เห็นว่า ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมทั้งกระบวนการ (whole-process people’s democracy) เป็นคุณลักษณะที่กำหนดประชาธิปไตยสังคมนิยม และถือเป็นรูปแบบประชาธิปไตยที่กว้างขวางที่สุด แท้จริงที่สุด และมีประสิทธิภาพที่สุด

นายสี จิ้นผิง กล่าวว่า จีนจะส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองอย่างเป็นระเบียบ และรับประกันว่าประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย การปรึกษาหารือ การตัดสินใจ การจัดการ และการกำกับดูแลตามกฎหมาย

“เราจะปรับปรุงระบบสถาบันที่ประชาชนเป็นผู้บริหารประเทศ” ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กล่าว

พลังสู่ประชาชน

นายหวัง เฉิน (Wang Chen) รองประธานคณะกรรมการถาวรแห่งสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน (Standing Committee of the National People’s Congress) กล่าวว่า ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมทั้งกระบวนการคือเอกลักษณ์สำคัญที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยสังคมนิยมมีความความแตกต่างจากระบอบประชาธิปไตยทุนนิยม

ประชาธิปไตยสังคมนิยมของจีนแตกต่างจากการเมืองแบบเลือกตั้งหลายพรรคในประเทศตะวันตก ซึ่งฝ่ายต่าง ๆ มักให้คำมั่นสัญญากับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามเพื่อให้ได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง ประชาธิปไตยสังคมนิยมของจีนต้องผ่านทุกกระบวนการ ทั้งการเลือกตั้ง การตัดสินใจ การจัดการ และการกำกับดูแล

สภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน ซึ่งเป็นสภานิติบัญญัติสูงสุดของจีน มีบทบาทสำคัญในการดำเนินการตามระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมทั้งกระบวนการ

ในฐานะองค์กรสูงสุดของอำนาจรัฐ สภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน ชุดที่ 13 ในปัจจุบัน ประกอบด้วยผู้แทนกว่า 2,900 คนที่ได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยจากหลากหลายสาขาอาชีพและภูมิหลัง ตั้งแต่นักกฎหมาย ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย ไปจนถึงเกษตรกรและคนงานในโรงงาน

ในช่วงระยะเวลาห้าปี ผู้แทนเหล่านี้ได้ลงคะแนนเสียงเพื่อตัดสินใจและกำหนดนโยบายมากมายที่มีผลกระทบในวงกว้าง ผู้แทนเหล่านี้ได้เลือกประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน รับรองประมวลกฎหมายแพ่งฉบับแรกของประเทศ และอนุมัติแผนพัฒนาห้าปี ฉบับที่ 14 ซึ่งเป็นพิมพ์เขียวที่เป็นแนวทางการพัฒนาประเทศในช่วงปี 2564-2568

ข้อมูลสถิติอย่างเป็นทางการระบุว่า ณ สิ้นปี 2563 มีประชาชน 2.62 ล้านคนทำหน้าที่เป็นผู้แทนของสภาผู้แทนประชาชนทุกระดับทั่วประเทศ โดยในจำนวนนี้ ผู้แทนระดับอำเภอและเมืองคิดเป็น 95% ของทั้งหมด และผู้แทนแต่ละคนมีสิทธิ์มีเสียงเท่าเทียมกันโดยไม่คำนึงถึงเพศ อายุ เชื้อชาติ และอาชีพ

ขณะเดียวกัน สภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งประชาชนจีน (CPPCC) ได้ทำหน้าที่เป็นเวทีให้ฝ่ายต่าง ๆ ได้บรรลุความร่วมมือหลายฝ่าย และรับประกันการใช้หลักธรรมาภิบาลเพื่อประเทศชาติ มิใช่เวทีให้ฝ่ายต่าง ๆ มาแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว

ด้วยความสามัคคีในการเป็นผู้นำของพรรค ส่งผลให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีบทบาทสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตยสังคมนิยมผ่านการประสานงาน ซึ่งไม่เพียงรับประกันการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพของคณะกรรมการพรรค สภาผู้แทนประชาชน หน่วยงานรัฐ ศาลประชาชน และหน่วยงานบริหารอื่น ๆ เท่านั้น แต่ยังรับประกันการมีส่วนร่วมในวงกว้างของหลากหลายฝ่ายด้วย

ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก

“ความเข้าใจของดิฉันเกี่ยวกับ “ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมทั้งกระบวนการ” คือเป็นกระบวนการประชาธิปไตยภายในพรรค ซึ่งมีการใช้หลักคุณธรรมนิยมในการระบุตัวบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดสำหรับงาน และคนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากที่สุด” นางเฮลกา เซปป์-ลารูช (Helga Zepp-LaRouche) ผู้ก่อตั้งและประธานสถาบันชิลเลอร์ (Schiller Institute) ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ซีจีที่เอ็น (CGTN)

นายอีวานโดร เมเนเซส เดอ คาร์วาลโฮ (Evandro Menezes de Carvalho) ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายชาวบราซิล คิดว่าประชาธิปไตยของจีนมีศูนย์กลางอยู่ที่สองคำถามหลัก นั่นคือ ประชาชนต้องการอะไรและรัฐบาลต้องทำอย่างไร

เขากล่าวว่า เมื่อเทียบกับประเทศตะวันตกหลาย ๆ ประเทศ ประชาธิปไตยของจีนเปิดโอกาสให้ประชาชนในวงกว้างได้มีส่วนร่วมมากกว่า รวมทั้งเข้าใกล้ความต้องการและประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชนมากกว่า

ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมทั้งกระบวนการ “เป็นรูปแบบการปกครองที่ไม่เหมือนใคร” นายมุสตาฟา ไฮเดอร์ ซายิด (Mustafa Hyder Sayed) กรรมการบริหารของสถาบันปากีสถาน-จีน (Pakistan-China Institute) กล่าว “เมื่อพูดถึงประเทศจีน เราจะเห็นว่าประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมทั้งกระบวนการได้เกิดขึ้นแล้ว”

นายวิลสัน ลี ฟลอเรส (Wilson Lee Flores) นักวิเคราะห์เศรษฐกิจ-การเมือง และประธานกิตติมศักดิ์ของแอนวิล บิสสิเนส คลับ (Anvil Business Club) ในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวถึงระบบการปกครองที่ก้าวหน้าของจีนว่าเป็น “ประชาธิปไตยของประชาชนที่มีเอกลักษณ์จีน” เนื่องจากเป็นระบบที่มุ่งสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจและการเมืองโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

นายฟลอเรสกล่าวว่า ระบบนี้ “ให้คำปรึกษาโดยตรง และสะท้อนความต้องการ เสียง และความปรารถนาของประชาชนอย่างแท้จริง” และเป็น “ค่านิยมทางศีลธรรมตามหลักปรัชญาขงจื๊อ”

https://news.cgtn.com/news/2022-10-19/Whole-process-people-s-democracy-guarantees-people-as-the-master–1eg6y5qPBLy/index.html

วิดีโอ – https://www.youtube.com/watch?v=X44TtFsi5zY