เซินเจิ้น, จีน, 15 พ.ย. 2567 /ซินหัว-เอเชียเน็ท/ดาต้าเซ็ต
เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการจัดพิธีเปิดเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน อ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (เฉียนไห่) หรือ ASEAN-China Greater Bay Area (GBA) Economic Cooperation (Qianhai) Forum ประจำปี 2567 ณ เขตเฉียนไห่ นครเซินเจิ้น ประเทศจีน งานนี้มีขึ้นภายใต้แนวคิด “ความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี การผนึกกำลังในภาคอุตสาหกรรม” ประกอบด้วยเวทีย่อย 5 เวที นิทรรศการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ประกอบการ และกิจกรรมจับคู่ความร่วมมือในภาคอุตสาหกรรม โดยมีผู้แทนกว่า 1,000 คนเข้าร่วมพิธีเปิดและกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ สมาคมธุรกิจ สถาบันคลังสมอง และภาคเอกชนจากจีนและประเทศสมาชิกอาเซียน
ด้วยความใกล้ชิดทั้งทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม เขตเศรษฐกิจพิเศษอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (GBA) และอาเซียน ต่างเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกันและกัน โดยมีความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์ร่วมกันมาอย่างยาวนาน ในการนี้ นายเจิ้ง หย่งเหนียน (Zheng Yongnian) ประธานสถาบันการต่างประเทศเฉียนไห่ และศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง วิทยาเขตเซินเจิ้น ได้ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษ และเน้นย้ำว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า และประเทศสมาชิกอาเซียน ควรร่วมมือกันรับมือกับความท้าทายระดับโลกและมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
สำนักงานเขตความร่วมมืออุตสาหกรรมบริการสมัยใหม่เซินเจิ้น-ฮ่องกง เฉียนไห่ ได้เปิดเผยข้อมูลสถิติในงานนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ในพิธีลงนามโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าประจำปี 2567 ระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า กับอาเซียนนั้น ผู้แทนจากภาคธุรกิจและสมาคมการค้าของทั้งสองภูมิภาคได้ลงนามในโครงการความร่วมมือรวม 15 โครงการ คิดเป็นมูลค่าสัญญารวม 2.999 หมื่นล้านหยวน ทั้งนี้ เวทีนี้ได้ก่อให้เกิดการค้าที่มีมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านหยวน และผลักดันการลงทุนรวมเกือบ 5 พันล้านหยวน
นอกจากนี้ ภายในงานยังได้มีการเปิดตัว “โครงการสนับสนุนการศึกษาต่อต่างประเทศ อาเซียน อ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า ประจำปี 2567” อย่างเป็นทางการ โครงการนี้มุ่งสนับสนุนการจัดตั้งมูลนิธิการศึกษานานาชาติเฉียนไห่ ซึ่งริเริ่มขึ้นโดยสถาบันการต่างประเทศเฉียนไห่ พร้อมทั้งเสริมสร้างบทบาทของเฉียนไห่ในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ ดึงดูดผู้มีความสามารถจากต่างประเทศให้มาศึกษาที่เซินเจิ้น เพิ่มพลังใหม่ ๆ ให้กับการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างสองฝ่าย และพัฒนาบุคลากรที่มีมุมมองสากลและทักษะการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม
ระหว่างการประชุม ยังมีการเปิดเผยผลงานความสำเร็จของเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน อ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (เฉียนไห่) เมื่อปี 2566 และรายงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าอาเซียน อ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า ประจำปี 2566 ด้วย ผู้เข้าร่วมงานต่างกล่าวว่า เวทีนี้ไม่เพียงช่วยให้เข้าใจสถานะปัจจุบันและโอกาสความร่วมมือในอนาคตระหว่างจีนกับประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างลึกซึ้งเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสในการขยายความร่วมมือระหว่างประเทศและแสวงหาพันธมิตรที่มีศักยภาพด้วยเช่นกัน
เขตเศรษฐกิจพิเศษอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า ใช้เฉียนไห่เป็นจุดศูนย์กลาง และเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน อ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (เฉียนไห่) เป็นเวทีหลัก เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือกับอาเซียนในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล การเงินข้ามพรมแดน และการค้าระหว่างประเทศ ในยุคดิจิทัลทุกวันนี้ เวทีนี้จะเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดกว้างให้ผู้ประกอบการทั่วโลกได้แลกเปลี่ยนและร่วมมือกัน อันจะนำไปสู่การยกระดับอุตสาหกรรม นวัตกรรม และการพัฒนาวงการอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนในเขตเศรษฐกิจพิเศษอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า และประเทศสมาชิกอาเซียน
ที่มา: สำนักงานเขตความร่วมมืออุตสาหกรรมบริการสมัยใหม่เซินเจิ้น-ฮ่องกง เฉียนไห่