- ดัชนีเมืองยั่งยืนประจำปี 2567 ของ Arcadis เผยให้เห็นความแตกต่างอย่างมีสำคัญในแง่ความก้าวหน้าด้านความยั่งยืน ในขณะที่เมืองต่าง ๆ เร่งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ปี 2573
- อัมสเตอร์ดัมครองแชมป์เมืองที่ยั่งยืนที่สุด อันเนื่องมาจากความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ ความเท่าเทียมทางสังคม และการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน
- มุ่งรักษาระดับความคืบหน้า เมื่อกำหนดเวลาตามเป้าหมาย SDG ใกล้เข้ามา พร้อมโอกาสที่แม้แต่เมืองอันดับต้น ๆ ก็เร่งเป้าหมายความยั่งยืนได้
อัมสเตอร์ดัม, 12 มิถุนายน 2567 /PRNewswire/ — Arcadis ได้เผยแพร่ดัชนีเมืองยั่งยืน (Sustainable Cities Index) ประจำปี 2567 พร้อมเชิญชวนให้เมืองต่าง ๆ ทั่วโลกเร่งดำเนินการเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาท้าทายอื่น ๆ ด้านความยั่งยืน
การเผยแพร่รายงานดังกล่าวมีขึ้น เมื่อประเทศต่าง ๆ มีเวลาไม่ถึง 2,000 วันก่อนที่จะถึงกำหนดเวลาปี 2573 เพื่อบรรลุเป้าหมาย SDG ของสหประชาชาติ รายงานดังกล่าวเผยให้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างเมืองอันดับต้น ๆ เช่น อัมสเตอร์ดัม (อันดับ 1), โคเปนเฮเกน (อันดับ 3) และมิวนิก (อันดับ 5) กับเมืองอันดับหลัง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองในสหรัฐและเอเชีย เช่น นิวยอร์ก (อันดับที่ 48), บอสตัน (อันดับที่ 56) และไทเป (อันดับที่ 62)
ดัชนีเมืองยั่งยืนของ Arcadis จัดอันดับเมืองต่าง ๆ รวม 100 เมือง โดยใช้เกณฑ์ความยั่งยืน 3 เสาหลักสำคัญด้วยกัน ได้แก่ Planet (โลก), People (ผู้คน) และ Profit (กำไร) รายงานฉบับนี้ถือเป็นฉบับที่ 6 แล้วนับตั้งแต่เริ่มจัดทำในปี 2558 ประเมินตามตัวชี้วัด 67 รายการ ที่ชูให้เห็นความเข้าใจของเราในเรื่องความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางอากาศ การจัดการขยะ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานคาร์บอนต่ำ (รวมถึงพลังงานทดแทนและการขนส่งที่ยั่งยืน) เช่นเดียวกับผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ ความเท่าเทียมทางสังคม และการฟื้นตัวจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ
สำหรับปีนี้ Arcadis ได้เพิ่มเสาหลักที่ 4 อย่าง ‘Progress’ หรือ ‘ความคืบหน้า’ เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไป สิ่งนี้แสดงให้เห็นผลกระทบของการแทรกแซงเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และเมื่อพิจารณาควบคู่ไปกับเสาหลักอื่น ๆ แล้ว ก็จะให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับทิศทางในอนาคตของเมืองนั้น
ในภาพรวมนั้น เมืองต่าง ๆ ในยุโรปกวาดอันดับต้น ๆ ในดัชนีนี้ไปได้ โดยเมืองเยอรมนีทั้ง 4 เมืองที่รวมอยู่ในรายงานนี้ ได้แก่ แฟรงก์เฟิร์ต มิวนิก ฮัมบูร์ก และเบอร์ลิน ล้วนติด 10 อันดับแรก โดยได้แรงหนุนจากความสำเร็จในด้านสุขาภิบาลน้ำและการจัดการขยะ ทั้งยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ
การทำผลงานให้ยอดเยี่ยมในเสาหลัก Planet นั้นสัมพันธ์กับความสำเร็จโดยรวม โดยเมือง 8 แห่งจาก 10 อันดับแรกในการจัดอันดับสาขา Planet ก็ปรากฏใน 10 อันดับแรกในการจัดอันดับรวมด้วยเช่นกัน เสาหลัก Planet ประกอบด้วยตัวชี้วัดต่าง ๆ เช่น ระบบพลังงานที่ยั่งยืน และการขนส่งที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมืออันทรงพลังเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนของเมือง
ดัชนีประจำปีนี้ยังเน้นย้ำให้เห็นว่า การทำผลงานให้ยอดเยี่ยมในเสาหลัก Profit นั้นไม่จำเป็นต้องแลกกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเสมอไป รายงานฉบับนี้เน้นย้ำว่าเศรษฐกิจที่เจริญรุ่งเรืองควรสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน แหล่งพลังงานทางเลือก โครงการริเริ่มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และโครงการทางสังคมอย่างไรบ้าง โดยเมืองที่ยั่งยืนที่สุดในปี 2567 อย่างอัมสเตอร์ดัมก็อยู่หัวตารางของเสาหลัก Profit และเป็นเลิศทั้งในด้านมาตรฐานรายได้และความเป็นอยู่ การจ้างงาน และโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง
เมืองต่าง ๆ ในอเมริกาเหนือทำผลงานได้ดีในส่วนของ Profit โดยซานฟรานซิสโก ดัลลัส ชิคาโก ฮูสตัน นิวยอร์ก และซีแอตเทิล ล้วนติด 10 อันดับแรกด้าน Profit อันเป็นผลจากความสะดวกสบายในการทำธุรกิจ, GDP ต่อหัว และอัตราการจ้างงาน อย่างไรก็ตาม แม้เมืองเหล่านี้จะมีความสำเร็จทางธุรกิจ แต่ระดับค่าจ้างและมาตรฐานการครองชีพกลับไม่เป็นไปตามกัน การก้าวไปสู่ระดับที่สูงขึ้นจะต้องอาศัยกลยุทธ์การพัฒนาที่ครอบคลุมทางสังคม และเมืองต่าง ๆ ในอเมริกาเหนือและยุโรปจะต้องหาแรงบันดาลใจระหว่างกันเพื่อให้พัฒนาก้าวหน้าต่อไปได้
เมื่อว่ากันในเรื่องความก้าวหน้าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานั้น หลาย ๆ เมืองในยุโรปได้ก้าวหน้าอย่างมากในการรักษาสถานะของตนให้อยู่ในอันดับสูงสุดของดัชนี แม้จะมีจุดเริ่มต้นที่ยั่งยืนอยู่แล้ว เมืองต่าง ๆ เช่น อัมสเตอร์ดัม ร็อตเตอร์ดัม วอร์ซอ โคเปนเฮเกน แฟรงก์เฟิร์ต มิวนิค ฮัมบูร์ก และเบอร์ลิน ล้วนติดหนึ่งในสามส่วนแรกของเสาหลักด้าน Progress และหนึ่งในสามส่วนแรกของดัชนีรวม เป็นผลมาจากความมุ่งมั่นในการผลิตพลังงานหมุนเวียน รวมถึงปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น การมีส่วนร่วมของแรงงานหญิงและการดูแลสุขภาพ
แม้อันดับโดยรวมจะไม่สูงนัก แต่การที่เมืองในเอเชียอย่างจาการ์ตา อู่ฮั่น และเซี่ยงไฮ้ ครองอันดับบน ๆ ในเสาหลักด้าน Progress แสดงให้เห็นว่า สำหรับเมืองที่มีโครงสร้างพื้นฐานหรือแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนค่อนข้างจำกัดมาก่อน การริเริ่มดำเนินการในระยะแรกก็สร้างผลกระทบได้อย่างมหาศาลในการสร้างแรงขับเคลื่อน
John Batten ผู้อำนวยการโครงการ Arcadis Global Cities กล่าวว่า
“เมืองมีบทบาทสำคัญในการผลักดันวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดี การประเมินความก้าวหน้าของเราแสดงให้เห็นว่ายังมีเรื่องให้ลงมือทำอีกมาก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทันตามกำหนดเวลา เมื่อเหลือเวลาเพียง 2,000 วัน ความท้าทายก็อยู่ที่การคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการขยับขยายโครงการริเริ่มด้านพลังงานหมุนเวียน การนำประเด็นด้านสภาพภูมิอากาศมารวมไว้ในการวางแผนโครงสร้างพื้นฐาน การปรับปรุงระบบคมนาคมผ่านการบริหารจัดการจราจรอัจฉริยะ หรือจะสนับสนุนการปรับปรุงอาคารที่มีอยู่เดิม เราล้วนมีเรื่องให้ต้องพัฒนาอยู่เสมอ เมื่อปี 2573 ใกล้เข้ามา เมืองต่าง ๆ จำเป็นต้องนำความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาต่อยอด สำรวจพื้นที่ในการพัฒนา และส่งเสริมความร่วมมือเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ”
ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่นี่
รูปภาพ – https://mma.prnasia.com/media2/2435696/Arcadis_Sustainable_Index.jpg?p=medium600
โลโก้ – https://mma.prnasia.com/media2/1838726/Arcadis_Logo.jpg?p=medium600
View original content to download multimedia: Read More