นิคเคอิ ออนไลน์ เอดิชัน ขึ้นแท่นรายแรกของญี่ปุ่นที่มีผู้สมัครสมาชิกดิจิทัลแบบเสียค่าบริการทะลุ 1 ล้านราย

โตเกียว, 18 ธ.ค. 2567 /เกียวโด เจบีเอ็น/ดาต้าเซ็ต

นิคเคอิ อิงค์ (Nikkei Inc.) ประกาศเมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า นิคเคอิ ออนไลน์ เอดิชัน (Nikkei Online Edition) มียอดผู้สมัครสมาชิกแบบเสียค่าบริการทะลุหลัก 1 ล้านรายแล้ว นับเป็นสื่อข่าวดิจิทัลแบบเสียค่าบริการรายแรก (*) ของญี่ปุ่นที่ทำสถิตินี้ได้ การเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงที่ผ่านมานี้มีปัจจัยหนุนจากการสมัครสมาชิกที่เพิ่มขึ้นทั้งในภาคธุรกิจและการศึกษา โดยนิคเคอิยังคงขยายบทบาทจากการเป็นผู้ให้บริการข่าวสารที่ขาดไม่ได้ สู่การเป็นบริการที่จำเป็นสำหรับผู้ใช้งานในวงกว้างมากขึ้น

(*) อ้างอิงข้อมูลจากรายงานของสถาบันรอยเตอร์เพื่อการศึกษาวารสารศาสตร์ (Reuters Institute for the Study of Journalism)
( https://reutersinstitute.politics.ox.ac.uk/digital-news-report/2024/japan )

นิคเคอิ ออนไลน์ เอดิชัน เปิดตัวในปี 2553 โดยความสำเร็จในช่วงแรก ๆ มาจากการตอบรับที่ดีจากสมาชิกรายบุคคล แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็ปรากฏให้เห็นการเติบโตอย่างรวดเร็วจากการใช้งานในภาคธุรกิจและการศึกษา บริษัทต่าง ๆ ใช้นิคเคอิ ออนไลน์ เอดิชัน เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญและใช้ฝึกอบรมพนักงาน ขณะที่สถาบันการศึกษาก็หันมาใช้เป็นแหล่งข้อมูลเพื่อการศึกษาแบบสืบเสาะหาความรู้มากขึ้น

ในปี 2567 ยอดสมาชิกนิคเคอิ ออนไลน์ แบบเสียค่าบริการเติบโตอย่างรวดเร็ว เพิ่มขึ้นประมาณ 100,000 ราย แตะระดับ 1.01 ล้านราย หรือเพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2566 ขณะเดียวกัน จำนวนสมาชิกแบบเสียค่าบริการของสื่อดิจิทัลทั้งหมดในเครือนิคเคอิ รวมถึงบริการต่าง ๆ อย่างซีรีส์นิคเคอิ ไพรม์ (NIKKEI Prime) ได้ทะลุหลัก 1 ล้านรายในเดือนธันวาคม 2566 และเพิ่มขึ้นเป็น 1.17 ล้านราย ณ เดือนธันวาคมปีนี้ (2567)

นิคเคอิขึ้นแท่นผู้ให้บริการสื่อข่าวดิจิทัลแบบเสียค่าบริการรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก:

เมื่อรวมสื่อภาษาอังกฤษอย่างนิคเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) และไฟแนนเชียล ไทมส์ (Financial Times หรือ FT) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในเครือนิคเคอิ กรุ๊ป (Nikkei Group) แล้ว ทำให้ยอดสมาชิกดิจิทัลแบบเสียค่าบริการของนิคเคอิ กรุ๊ป ทั้งหมดอยู่ที่ 3.7 ล้านราย ส่งผลให้ก้าวขึ้นเป็นสื่อข่าวดิจิทัลรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากนิวยอร์ก ไทมส์ (New York Times) และดาวโจนส์ (Dow Jones) ซึ่งเป็นผู้เผยแพร่วอลล์สตรีทเจอร์นัล (Wall Street Journal)

ที่มา: นิคเคอิ อิงค์