RUN นำ 8 ผลงานวิจัยเด่นจาก 8 มหาวิทยาลัยเครือข่ายฯ ร่วมโชว์ในงานแถลงข่าวการจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567”

กรุงเทพฯ – 20 สิงหาคม 2567 เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network: RUN) นำโดยรองศาสตราจารย์ ดร.ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย ได้นำงานวิจัยบางส่วนจาก 8 มหาวิทยาลัย เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย มาร่วมจัดแสดงนิทรรศการภายในงานแถลงข่าวการจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 (Thailand Research Expo 2024) ครั้งที่ 19” ณ ห้อง World Ballroom ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

รองศาสตราจารย์ ดร.ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย เปิดเผยว่า งานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ซึ่งจัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นเวทีระดับชาติที่นำเสนอความก้าวหน้าผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ เพื่อเชื่อมโยงบูรณาการองค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ซึ่งปีนี้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 19 แล้ว โดยในทุกๆ ปี เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (RUN) ได้นำผลงานวิจัยของ 8 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ มหาวิทยาลัยนเรศวร เข้าร่วมแสดงนิทรรศการมาโดยตลอด ซึ่งพันธกิจหลักของ RUN คือ มุ่งเน้นการประสานความร่วมมือและสร้างความเข้มแข็งในการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพ และสร้างขีดความสามารถทางการศึกษาวิจัย และพัฒนาของประเทศ และยกระดับสู่ภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งประสานความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพนักวิจัย บัณฑิตศึกษา นักศึกษาและบุคลากรทางการวิจัยในการร่วมกันดำเนินงานทางด้านการวิจัย การแลกเปลี่ยน และใช้ทรัพยากร ตลอดจนปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยในระหว่างพันธมิตรการวิจัย รวมถึงสร้าง และขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยกับมหาวิทยาลัย ภาครัฐ ภาคเอกชนหรือเครือข่ายอื่นๆ และถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีสู่สังคม ภาคผลิตและภาคบริการ

การใช้ประโยชน์งานวิจัยมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชน เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network: RUN) ได้มีบทบาทร่วมกันในการส่งเสริมให้มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์งานวิจัย ก่อให้เกิดผลกระทบในหลายมิติ ทั้งทางด้านวิชาการ เศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม

ในปีนี้เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (RUN) จึงได้จัดกิจกรรมนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรม การเสวนาที่บูธนิทรรศการตามหัวข้องานวิจัย และการจัดบรรยายพิเศษ ภายใต้ Theme “RUN towards IMPACT” โดยมีอาจารย์/นักวิจัย ได้ร่วมนำผลงานวิจัยที่สร้างผลกระทบทั้งทางด้านวิชาการ เศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม รวม 24 ผลงาน จัดแสดงนิทรรศการโดยได้นำเสนอภายใต้ Concept “SDG”: Soft Power (S) Deep Science and Technology (D) และ Global Trends (G)

  • Soft Power (S) (อำนาจละมุน) ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญอันหนึ่งของประเทศไทย ในการผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย เป็นการนำเสนอผลงานวิจัยที่มีอิทธิพลทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านความคิดในเชิงสร้างสรรค์ หรือการใช้งานวิจัยเพื่อสร้างพฤติกรรมความชอบใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ชุมชน และเศรษฐกิจของไทย โดยผลงานวิจัย RUN ที่เป็น Soft Power ในการนำเสนอผลงานครั้งนี้ ได้แก่ งานด้านอาหารนวัตพันธุข้าวสี : จุดเปลี่ยนในอาหารโภชนาการ งานด้านนวัตกรรมการจัดการห่วงโซ่คุณค่าโกโก้ในระบบนิเวศโกโก้ และด้านการท่องเที่ยว “ย่านเก่าเล่าเรื่อง” เมืองเรียนรู้ตลอดชีวิต เทศบาลนครพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก เป็นต้น
  • Deep Science and Technology (D) มุ่งเน้นผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง เป็นการวิจัยและพัฒนาเชิงลึกที่ต้องใช้ความรู้เฉพาะทางและเทคนิคที่ก้าวหน้า ครอบคลุมถึงการค้นคว้าและพัฒนาที่มีความท้าทายและต้องการความรู้ความสามารถ เพื่อประโยชน์ต่อการยกระดับวิถีชีวิตของมนุษย์ให้ดีขึ้น ตัวอย่างงานวิจัยที่จะนำเสนอครั้งนี้ เช่น การพัฒนาชุดทดสอบทางด้านอาหาร ทางด้านสุขภาพ การเพิ่มมูลค่าอาหาร การใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อการเกษตร การแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านการจัดการยางพารา และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพารา เป็นต้น
  • Global Trends (G) ผลงานวิจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ผลงานวิจัยที่สามารถส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและการทำงานของคนทั่วโลก ซึ่งนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ งานวิจัยด้านอาหารเพื่ออนาคต (Food for Future) ซึ่งมีทั้งอาหารเพื่อผู้ที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ อาหารสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ อาหารที่มีโภชนาการสูง เป็นต้น และงานวิจัยด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Health and Well-being) ในหลากหลายด้าน

 

ทั้งนี้ได้นำผลงานวิจัยเด่น 8 ผลงาน จาก 8 มหาวิทยาลัยเครือข่ายฯ มาร่วมจัดแสดงภายในงานแถลงข่าวครั้งนี้ด้วยได้แก่ ด้าน Soft Power (S) 1. นวัตพันธุข้าวสี : จุดเปลี่ยนในอาหารโภชนาการ  จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้าน Deep Science and Technology (D) 1. ชุดตรวจสอบสัตว์ต้องห้ามแบบรวดเร็วในผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  2. เครื่องมือคัดเลือกอสุจิด้วยเทคโนโลยีไมโครฟลูอิดิกส์ จาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ด้าน Global Trends (G) – Food  for Future 1. อาหารโฮลมีลเพียวเร่นุ่ม พร้อมทานสำหรับผู้ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น 2. I-Sec Technology : เทคโนโลยีการสกัดโปรตีนจากจิ้งหรีดแบบอัตโนมัติในระดับอุตสาหกรรมเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน จาก มหาวิทยาลัยนเรศวร – Health and Well-being 3. CMU-Done พอดี นวัตกรรมเพื่อผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 4. เอ็มยูทีเอ็ม ชุดตรวจแอนติบอดีจำเพาะต่อโรคเมลิออยโดสิส มหาวิทยาลัยมหิดล และ 5. ศักยภาพและความก้าวหน้าของสเต็มเซลล์ในการรักษาโรค : จากการแบ่งตัวไม่จำกัดสู่การฟื้นฟูเนื้อเยื่อที่เสียหาย จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นอกจากนี้ในวันที่ 30 สิงหาคม 2567 เวลา 13.30 น. เป็นต้นไป จะมีจัดกิจกรรมบรรยายพิเศษ หัวข้อ RUN towards IMPACT” มีการบรรยายพิเศษ 3 หัวข้อย่อย ได้แก่ การบรรยายพิเศษ เรื่อง “อำนาจละมุน (Soft power) กับการส่งเสริมเศรษฐกิจ” โดย หม่อมหลวงภาสกร อาภากร ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ การบรรยายพิเศษ เรื่อง “มุมมองของภาคเอกชนต่อการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์” โดย นายดำเกิง ทองซ้อนกลีบ บริษัท เกรด อินดีด จำกัด และการบรรยายพิเศษ เรื่อง “AI และ Digital เพื่อสร้างงานวิจัยที่มีผลกระทบ” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ผลเพิ่ม  รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ทั้งนี้ขอเชิญชวนอาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ  นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เข้าร่วม
ชมการแสดงนิทรรศการผลงานวิจัย ฟังเสนาที่บูธนิทรรศการ ร่วมกิจกรรมรับของรางวัล และฟังการบรรยายพิเศษ ของเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network: RUN)  ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 (Thailand Research Expo 2024) ครั้งที่ 19” ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 30 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ