ควอนทินิวอัม (Quantinuum) และเจพีมอร์แกน เชส (JPMorgan Chase) บรรลุผลลัพธ์ที่ดีกว่าคะแนนทดสอบในอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิม 100 เท่า โดยใช้คอมพิวเตอร์ควอนตัม H2-1 ของควอนทินิวอัม
บรูมฟีลด์ โคโลราโด และลอนดอน, 5 มิถุนายน 2567 /PRNewswire/ — ควอนทินิวอัม (Quantinuum) บริษัทการประมวลผลควอนตัมแบบบูรณาการรายใหญ่ที่สุดในโลก วันนี้ได้เปิดตัวคอมพิวเตอร์ควอนตัมตัวแรกของอุตสาหกรรมที่มาพร้อมกับ 56 คิวบิตแทรปไอออน (trapped-ion) คอมพิวเตอร์ H2-1 นี้ได้ยกระดับความแม่นยำที่เป็นแนวหน้าของตลาดไปอีกขั้น และขณะนี้เป็นไปไม่ได้แล้วที่คอมพิวเตอร์แบบเดิมจะเลียนแบบได้อย่างสมบูรณ์
ทีมงานภายใต้ความร่วมมือจากควอนทินิวอัมและเจพีมอร์แกน เชสใช้อัลกอริทึมสุ่มตัวอย่างวงจรแบบไม่เจาะจง (Random Circuit Sampling หรือ RCS) ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าถึง 100 เท่าเมื่อเทียบกับผลลัพธ์ก่อนหน้าที่มีอยู่ในอุตสาหกรรมจากกูเกิล (Google) ในปี 2562 และสร้างสถิติโลกใหม่สำหรับเกณฑ์มาตรฐานครอสเอนโทรปี (cross entropy) การผสมผสานการปรับขยายและความแม่นยำฮาร์ดแวร์ใน H2-1 ทำให้ยากสำหรับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ทรงพลังที่สุดในปัจจุบันและสถาปัตยกรรมการประมวลผลควอนตัมอื่น ๆ ที่จะบรรลุผลลัพธ์เช่นนี้
“เราขยายการเป็นผู้นำของเราในการแข่งขันเพื่อมุ่งสู่การประมวลผลควอนตัมที่ทนทานต่อความผิดพลาด (fault tolerant) โดยเร่งส่งเสริมการวิจัยสำหรับลูกค้าอย่างเจพีมอร์แกน เชสในแบบที่เป็นไปไม่ได้ในเทคโนโลยีอื่นใด” คุณ Rajeeb Hazra ซีอีโอของควอนทินิวอัม กล่าว “การที่เรามุ่งเน้นคุณภาพของคิวบิตเหนือกว่าปริมาณกำลังเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นไปได้ และพาให้เรายิ่งเข้าใกล้การดำเนินการเชิงพาณิชย์กับการประยุกต์ใช้งานควอนตัมในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างเช่น การเงิน โลจิสติกส์ การคมนาคมขนส่ง และเคมี ซึ่งเป็นที่เฝ้ารอมานาน”
การวิเคราะห์ของควอนทินิวอัมยังบ่งชี้ว่า H2-1 ดำเนินอัลกอริทึม RCS ที่ 56 คิวบิตโดยใช้พลังงานไฟฟ้าลดลงราว 30,000 เท่าเมื่อเทียบกับซูเปอร์คอมพิวเตอร์แบบเดิม จึงยิ่งส่งเสริมให้เป็นโซลูชันที่เป็นที่ต้องการสำหรับหลากหลายปัญหาความท้าทายด้านการประมวลผลคอมพิวเตอร์
“ความแม่นยำที่ได้ในการทดลองสุ่มตัวอย่างวงจรแบบไม่เจาะจงของเราแสดงสมรรถนะระดับระบบอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนของคอมพิวเตอร์ควอนตัมจากควอนทินิวอัม เราตื่นเต้นที่ได้ใช้ประโยชน์จากความแม่นยำสูงเช่นนี้เพื่อพัฒนาความก้าวหน้าในด้านอัลกอริทึมควอนตัมสำหรับกรณีการใช้งานเชิงอุตสาหกรรมในวงกว้าง และโดยเฉพาะกรณีการใช้งานในภาคการเงิน” คุณ Marco Pistoia ประธานฝ่ายการวิจัยประยุกต์ด้านเทคโนโลยีระดับโลกของเจพีมอร์แกน เชส กล่าว
การประกาศวันนี้เป็นความก้าวหน้าล่าสุดในการบรรลุความก้าวหน้าหลายประการโดยควอนทินิวอัมในปี 2567 ดังต่อไปนี้
• ในเดือนมีนาคม บริษัทฯ เปิดตัววิธีแก้ไข “ปัญหาการวางสัญญาณ” (“wiring problem”) ที่มีมานาน โดยแสดงให้เห็นว่าสถาปัตยกรรมอุปกรณ์ถ่ายเทประจุควอนตัม (quantum charge-coupled device หรือ QCCD) สามารถปรับขยายสำหรับคิวบิตจำนวนมากได้
• H-Series ของควอนทินิวอัมเป็นรายแรกที่บรรลุอัตรา 99.9% (“three 9s”) สำหรับความแม่นยำของเกตสองคิวบิตในทุกคู่คิวบิตในอุปกรณ์ผลิต ซึ่งเป็นหลักชัยความก้าวหน้าสำคัญที่เอื้อให้มีความทนทานต่อความผิดพลาด
• ต่อมา ในการทำงานร่วมกันกับไมโครซอฟท์ (Microsoft) H2-1 ของควอนทินิวอัมได้รับการประกาศให้เป็นคอมพิวเตอร์ควอนตัมตัวแรก และจนถึงตอนนี้ยังเป็นตัวเดียว ที่สามารถบรรลุการประมวลผลควอนตัมที่มีความมั่นคงยืดหยุ่นระดับ 2 (Level 2 Resilient) ซึ่งสร้างคิวบิตเชิงตรรกะ (logical qubit) ที่เชื่อถือได้สี่ตัวโดยใช้การแก้ไขและตรวจพบข้อผิดพลาดเพื่อลดอัตราการเกิดข้อผิดพลาดลง 800 เท่า
“ไมโครซอฟท์ตั้งตารอที่จะได้ทำงานร่วมกับควอนทินิวอัมต่อไป ขณะที่ควอนทินิวอัมเปิดตัวเครื่องจักร 56 คิวบิตที่มีความแม่นยำสูง” คุณ Dennis Tom ผู้จัดการทั่วไปของไมโครซอฟท์ อาซัวร์ ควอนตัม (Microsoft Azure Quantum) กล่าว “เมื่อไม่นานมานี้ ทีมได้สร้างคิวบิตเชิงตรรกะที่เชื่อถือได้สูงสี่ตัว ด้วยการนำระบบจำลองคิวบิตของอาซัวร์ ควอนตัมไปใช้กับเครื่องจักร 32 คิวบิตของควอนทินิวอัม เมื่อมีคิวบิตจริงเพิ่มขึ้นในเครื่องจักรใหม่ของควอนทินิวอัม เราคาดว่าจะได้สร้างคิวบิตเชิงตรรกะโดยมีอัตราการเกิดข้อผิดพลาดที่ต่ำลงไปอีก ขณะที่เราบรรลุหลักชัยความก้าวหน้าเหล่านี้ เราจะดำเนินการต่อไปเพื่อเพิ่มความมั่นคงยืดหยุ่นของปฏิบัติการควอนตัม ตลอดจนประโยชน์ของการประมวลผลควอนตัม”
ควอนทินิวอัมยังเพิ่งปิดการระดมทุนหุ้นมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์ สนับสนุนโดยเจพีมอร์แกน เชส โดยมีการเข้าร่วมจากมิตซุยแอนด์คัมปนี (Mitsui & Co.) แอมเจน (Amgen) และฮันนี่เวลล์ (Honeywell) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ ทำให้การระดมทุนทั้งหมดโดยควอนทินิวอัมตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมีมูลค่าร่วมราว 625 ล้านดอลลาร์
ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.quantinuum.com/news/quantinuums-h-series-hits-56-physical-qubits-that-are-all-to-all-connected-and-departs-the-era-of-classical-simulation
อ่านบทความทางวิทยาศาสตร์ได้ที่ https://arxiv.org/abs/2406.02501
เกี่ยวกับควอนทินิวอัม
ควอนทินิวอัม (Quantinuum) คือบริษัทควอนตัมแบบบูรณาการรายใหญ่ที่สุดในโลก เป็นผู้บุกเบิกด้านคอมพิวเตอร์ควอนตัมและโซลูชันซอฟต์แวร์ที่ก้าวหน้า เทคโนโลยีของควอนทินิวอัมขับเคลื่อนความก้าวหน้าสำคัญในด้านการค้นพบวัสดุ ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และเอไอควอนตัมรุ่นใหม่ ควอนทินิวอัมเป็นผู้นำการปฏิวัติด้านการประมวลผลควอนตัมในทวีปต่าง ๆ โดยมีพนักงานเกือบ 500 คน รวมถึงนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรกว่า 370 คน ทั้งนี้ นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งโดยฮันนี่เวลล์ (Honeywell) และเคมบริดจ์ ควอนตัม (Cambridge Quantum) ในปี 2564 ควอนทินิวอัมได้ระดมทุนราว 625 ล้านดอลลาร์ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและการดำเนินการเชิงพาณิชย์กับการประมวลผลควอนตัม
รูปภาพ – https://mma.prnasia.com/media2/2431064/Quantinuum.jpg?p=medium600
View original content to download multimedia: Read More