ประธานาธิบดีโจโก วีโดโด (Joko Widodo) หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า โจโกวี (Jokowi) ได้ปิดชุดการประชุมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแบบมีส่วนร่วม (ILLC) ในบาหลี โดยปธน.โจโกวีเน้นว่าการเรียนรู้ตลอดชีวิตไม่ใช่แค่เรื่องเล่าเท่านั้น แต่เป็นโปรแกรมของรัฐบาลที่เป็นรูปธรรม
“การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่แค่เรื่องเล่าหรือแรงบันดาลใจอีกต่อไป การเรียนรู้ตลอดชีวิตมีความสำคัญเพราะมันเป็นประโยชน์ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน” ปธน.โจโกวีกล่าวสุนทรพจน์ปิดท้ายผ่านการประชุมทางวิดีโอเมื่อวันพุธ (5 ก.ค.)
ปธน.โจโกวีเน้นย้ำว่าอินโดนีเซียจะประสบความได้เปรียบด้านประชากรภายในทศวรรษนี้ เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยทำงาน ดังนั้น เราจึงต้องใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้ผ่านการยกระดับคุณภาพแรงงานของประเทศ เพราะโอกาสแบบนี้เกิดขึ้นกับทุกประเทศเพียงครั้งเดียว
“เพื่อแก้ไขปัญหานี้ รัฐบาลได้ริเริ่มโปรแกรมการ์ตู ปราเกอร์จา (Kartu Prakerja) ที่ใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเร่งการพัฒนาทักษะผ่านโปรแกรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ทุกคนเข้าถึงได้” ปธน.โจโกวีกล่าว
โปรแกรมปราเกอร์จาใช้เทคโนโลยีเพื่อเร่งการพัฒนาทักษะของแรงงานอินโดนีเซีย และได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถเพิ่มอัตราการจ้างงานได้ถึง 12% และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนด้วยเทคโนโลยีได้ถึง 90%
“การบริหารความได้เปรียบด้านประชากรไม่อาจทำได้โดยรัฐบาลเพียงลำพัง และต้องอาศัยความร่วมมือ ความเป็นหุ้นส่วน และการทำงานร่วมกันกับกลุ่มและชุมชนต่าง ๆ เพื่อเร่งความคืบหน้าแบบก้าวกระโดดในการยกระดับคุณภาพทรัพยากรมนุษย์” ปธน.โจโกวีกล่าวเสริม
ในระหว่างการประชุม ILLC ประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมเห็นพ้องกันว่าการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นกุญแจสำคัญในการปรับปรุงสวัสดิการของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ การประชุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมประมาณ 340 คน โดยเป็นตัวแทนจาก 38 ประเทศ
“เราทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าการเรียนรู้ไม่มีขอบเขตและควรเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา เราต้องสามารถโน้มน้าวให้เยาวชน โดยเฉพาะเจนแซด (Gen-Z) และเจนแอลฟา (Gen-Alpha) ให้กลายเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและเป็นแรงผลักดันต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ปธน.โจโกวีกล่าวปิดท้าย
โปรแกรมปราเกอร์จาของอินโดนีเซียร่วมมือกับ UNESCO จัด ILLC เพื่อเป็นเวทีสำหรับผู้แทน นักวิชาการ และองค์กรต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนกรณีศึกษาและบทเรียนที่ได้รับ การประชุมประสบความสำเร็จในการแบ่งปันประสบการณ์ต่าง ๆ จนนำไปสู่การจัดทำแถลงการณ์บาหลี (Bali Manifesto) ซึ่งเป็นคู่มือสำหรับการนำการเรียนรู้ตลอดชีวิตไปปฏิบัติทั่วโลก
ILLC ขับเน้นความสำเร็จของอินโดนีเซียในด้านนวัตกรรมด้วยปราเกอร์จา ซึ่งเป็นโปรแกรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในวงกว้าง การประชุมดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำของอินโดนีเซียในด้านนวัตกรรมภายในอีโคซิสเต็มการเรียนรู้ตลอดชีวิต ความสำเร็จนี้มีความสำคัญต่อบทบาทของอินโดนีเซียในเวทีระหว่างประเทศผ่านการเป็นประธานอาเซียนในปี 2566 และในฐานะสมาชิกของ G20