แผนภูมิรายงานผลกระทบปี 2565 ของ RSPO สานต่อความพยายามด้านความยั่งยืนของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มในการบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปรับปรุงวิถีชีวิตของเกษตรกรรายย่อย และยุติการเอารัดเอาเปรียบคนงาน
ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั่วโลกจากอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มรวมตัวกันเพื่อร่วมงาน RSPO Annual Roundtable on Sustainable Palm Oil (RT2022) ซึ่งเป็นการประชุมแบบพบหน้ากันครั้งแรกที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 โดยหัวใจหลักของงานอยู่ภายใต้หัวข้อ “การขยายห่วงโซ่คุณค่าน้ำมันปาล์มที่ยั่งยืนผ่านการดำเนินการร่วมกัน” งาน RT2022 ดึงดูดผู้เข้าร่วมเกือบพันคนที่เป็นตัวแทนของภาคส่วนสำคัญในห่วงโซ่มูลค่าน้ำมันปาล์ม เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาแรงงานที่สำคัญ และความก้าวหน้าเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์โต๊ะกลมครั้งแรกนั้น Joseph D’Cruz ซีอีโอคนใหม่ ได้เปิดตัวรายงานผลกระทบประจำปี 2565 โดยเน้นย้ำถึงความก้าวหน้าที่น่าประทับใจของสมาชิก RSPO ในตัวชี้วัดความยั่งยืนที่หลากหลาย รายงานฉบับใหม่นำเสนอกรอบผลกระทบของ RSPO ใหม่ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ซึ่งประมวลเป็นชุดของผลกระทบเจ็ดประเด็น ได้แก่ การเคารพสิทธิมนุษยชน การสนับสนุนการรวมตัวของเกษตรกรรายย่อย การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การป้องกันอัคคีภัย การจำกัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การรับรองขั้นสูง และการยกระดับตลาด
รายงานผลกระทบเปิดเผยความสำเร็จที่สำคัญหลายประการในช่วงเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมานับตั้งแต่ก่อตั้ง RSPO รวมถึงการเพิ่มพื้นที่ที่ได้รับการรับรองทั่วโลกจาก 125,000 เฮกตาร์ (781,250 ไร่) ในสามประเทศในปี 2551 เป็น 4.5 ล้านเฮกตาร์ (28.125 ล้านไร่) กระจายอยู่ใน 21 ประเทศ ซึ่งพื้นที่ 301,020 เฮกตาร์ (1,881,375 ไร่) ได้รับการอนุรักษ์และคุ้มครองผ่านการรับรองจาก RSPO ประเด็นว่าด้วยความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน พนักงานประมาณครึ่งล้านคนในนิคมอุตสาหกรรมและโรงสกัดทั่วโลกได้รับการรับรองภายใต้หลักการและหลักเกณฑ์ของ RSPO (P&C) ประเด็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการป้องกันตั้งแต่ปี 2558 สามารถลดลงได้เทียบเท่ากับรถยนต์เกือบ 400,000 คันที่ขับต่อปี นอกจากนี้ ในประเด็นกลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่มีเกษตรกรเกือบ 5,000 รายในเซียร์ราลีโอนได้รับการรับรองเป็นกลุ่มเกษตรกรรายย่อยอิสระรายแรกในแอฟริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวหน้าของการผลิตน้ำมันปาล์ม
ในคำกล่าวต้อนรับ D’Cruz กล่าวว่า “ความยั่งยืน คือ การเดินทาง และร่วมกับทีมงานของผมและสมาชิกทุกคน RSPO จะยังคงเดินหน้าสร้างเส้นทางให้กับภาคส่วนปาล์มน้ำมัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าการผลิตและการใช้ปาล์มมีความสำคัญอย่างไรต่อการสนับสนุนพันธสัญญาสุทธิเป็นศูนย์ เพื่อเน้นย้ำถึงบทบาทของการผลิตปาล์มเพื่อชีวิตที่ดีและมีเกียรติแก่ครอบครัวในชนบทหลายล้านครอบครัวในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อแสดงให้เห็นว่าสวนปาล์มน้ำมันที่ได้รับการจัดการและมีการฟื้นฟูปรับปรุงเป็นอย่างดีสามารถมีส่วนสำคัญในการอนุรักษ์สายพันธุ์และความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างไร”
แอนน์ โรเซนบาร์เกอร์ (Anne Rosenbarger) และ ดาโต๊ะ คาร์ล เบ๊ค เนลสัน (Dato’ Carl Bek-Nielsen) ประธานร่วมของคณะกรรมการนโยบาย RSPO (RSPO Board of Governors) ร่วมกันเรียกร้องให้มีการตอบสนองอย่างเป็นเอกภาพเพื่อเพิ่มศักยภาพของภาคส่วนในการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่คุณค่าน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนไว้ว่า “ในช่วงเวลาที่ประชาคมโลกกำลังต้องการวิธีแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงและปฏิบัติได้เพื่อช่วยโลกที่ร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ประวัติการทำงานของ RSPO แสดงให้เห็นว่าเรากำลังสร้างความแตกต่างอย่างแท้จริงให้กับโลกและผู้คน ความมุ่งมั่นของสมาชิก RSPO ต่อความรับผิดชอบร่วมกันนำมาซึ่งการดำเนินการร่วมกัน ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด โดยไม่คำนึงว่าพวกเขาจะอยู่ที่ใดในห่วงโซ่คุณค่า”
สมาชิกสะท้อนให้เห็นว่า RSPO ต้องเรียกร้องความสนใจจากตลาดผู้บริโภคที่มีความสำคัญ เช่น จีน อินเดีย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ให้เลือกใช้น้ำมันปาล์มที่ยั่งยืน และเข้าร่วมการริเริ่มร่วมกันเพื่อให้ RSPO มีผล เปลี่ยนแปลงต่ออุปสงค์และอุปทานน้ำมันปาล์มที่ยั่งยืนทั่วโลก
เกี่ยวกับ RSPO
Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO) ก่อตั้งขึ้นในปี 2547 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเติบโตและการใช้ผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนผ่านมาตรฐานระดับโลกที่น่าเชื่อถือและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย RSPO เป็นองค์กรสมาชิกระหว่างประเทศที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่รวบรวมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาคส่วนต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ได้แก่ ผู้ผลิตปาล์มน้ำมัน ผู้แปรรูปหรือผู้ค้าน้ำมันปาล์ม ผู้ผลิตสินค้าอุปโภค บริโภค ผู้ค้าปลีก ธนาคาร และนักลงทุน องค์กรพัฒนาเอกชนด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือธรรมชาติ และองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อสังคมหรือการพัฒนา
การเป็นตัวแทนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายส่วนนี้ สะท้อนให้เห็นในโครงสร้างการกำกับดูแลของ RSPO ซึ่งที่นั่งในคณะกรรมการนโยบาย คณะกรรมการขับเคลื่อน และคณะทำงานได้รับการจัดสรรอย่างเป็นธรรม ให้กับแต่ละภาคส่วน ด้วยวิธีนี้ RSPO ปฏิบัติตามหลักปรัชญาของ “โต๊ะกลม” โดยให้สิทธิเท่าเทียมกันแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละกลุ่ม อำนวยความสะดวกแก่ผู้มีส่วนได้เสียที่เป็นปฏิปักษ์ตามประเพณีดั้งเดิมในการทำงานร่วมกัน เพื่อบรรลุการตัดสินใจโดยฉันทามติ และบรรลุวิสัยทัศน์ร่วมกันของ RSPO ในการสร้างบรรทัดฐานของน้ำมัน ปาล์มที่ยั่งยืน
RSPO จดทะเบียนที่ตั้งองค์กรที่เมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ขณะที่สำนักงานเลขาธิการประจำอยู่ที่ กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยมีสำนักงานในกรุงจาการ์ตา ลอนดอน ซูเธอร์เมียร์-เนเธอร์แลนด์ ปักกิ่ง โบโกตา-โคลัมเบีย และนิวยอร์ก
รูปภาพ – https://mma.prnewswire.com/media/1957528/image_1.jpg