8 องค์กรชั้นนำรับรางวัลเชิดชูเกียรติ Real Impact Awards 2565 ต้นแบบการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนที่ส่งผลเชิงบวกต่อสังคม

กรมประชาสัมพันธ์ – 8 องค์กรธุรกิจ สื่อสารมวลชนและภาคประชาชน เข้าร่วมงานรับมอบรางวัลเชิดชูเกียรติสำหรับผู้ที่มีวิสัยทัศน์ มีความมุ่งมั่นภายใต้แนวปฏิบัติที่โดดเด่นสะท้อนการมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อนาคตที่ดีให้กับสังคมและสร้างคุณค่าในระยะยาวตามแนวทาง ESG ผู้ได้รับรางวัลสามารถเป็นต้นแบบ สร้างแรงบันดาลใจให้ทุกภาคส่วนในสังคมได้ตระหนักและลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืน

พิธีมอบรางวัลจัดขึ้นในวันพุธที่ 7 มิถุนายน พ.ศ.2566 ณ ห้องประชุม 1 กรมประชาสัมพันธ์ โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานเปิดงานและมอบรางวัล

นางพงษ์ทิพย์ เทศะภู ประธานสายงานประชาสัมพันธ์ บริษัท เรียล สมาร์ท จำกัด กล่าวรายงานในพิธีมอบรางวัลครั้งนี้ว่า โครงการประกวดรางวัล Real Impact Award ประจำปี 2565 เป็นการริเริ่มโดยบริษัท เรียล สมาร์ท จำกัด ผู้นำธุรกิจให้บริการเทคโนโลยีการตลาด (MarTech) มีความเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ Big Data ข้อมูลดิจิทัลเชิงลึกโดยใช้เครื่องมือ Social Listening ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการติดตาม จัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลจากบทสนทนาที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ ด้วยความมุ่งหวังให้เป็นรางวัลที่จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนผู้ที่ให้ความสำคัญกับแนวปฏิบัติการดำเนินงานที่ผนวกแนวคิด ESG เป็นแนวทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนครอบคลุมใน 3 ด้านคือ สิ่งแวดล้อม สังคมและมีธรรมาภิบาล และแสดงให้เห็นชัดเจนว่าการสร้างความเปลี่ยนแปลงภายใต้แนวทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนนั้นเป็นการทำความดีที่มีผู้คนในสังคมได้รับรู้และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเหล่านั้นอย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด

นางพงษ์ทิพย์ กล่าวว่า เป็นครั้งแรกของไทยสำหรับการจัดประกวดรางวัลเชิดชูเกียรติในลักษณะนี้ เนื่องจากผู้ที่ได้รับรางวัลทุกประเภทไม่ได้เป็นผู้ที่สมัครเข้ามาร่วมโครงการเพื่อแข่งขันประชันผลงานของตนเอง แต่ผู้จัดโครงการได้ใช้วิธีการคัดเลือกองค์กรและบุคคลที่เหมาะสมกับรางวัลผ่านการสืบค้นข้อมูลในสังคมโลกออนไลน์ด้วยเครื่องมือ Social Listening เพราะในปัจจุบันคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและใช้โซเชียลมีเดียในแพลตฟอร์มต่าง ๆ มากกว่า 60 ล้านคน ดังนั้น การสื่อสารในช่องทางออนไลน์จึงสามารถเผยแพร่ออกไปในวงกว้างได้อย่างรวดเร็วและเสียงสะท้อนจากโลกออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นเชิงบวก หรือเชิงลบ ถือเป็นตัวชี้วัดได้ว่า แคมเปญต่าง ๆ ขององค์กร หรือกิจกรรมของบุคคลที่มีอิทธิพลชี้นำ (Influencer) ได้สร้างผลกระทบต่อสังคมได้จริง

Social Listening เป็นเทคโนโลยีการตลาดใช้สำหรับเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นจำนวนไลค์ แชร์ คอมเมนต์จากทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เปิดเป็นสาธารณะโดยใช้ “Keyword” ที่เฉพาะเจาะจงและมีความหลากหลายในแต่ละเรื่อง ปริมาณข้อมูลขนาดใหญ่ที่ได้จะถูกนำมาวิเคราะห์ประเมินผลลัพธ์ทางสถิติเพื่อรับทราบว่าโครงการ หรือกิจกรรมที่ต้องการสร้างการมีส่วนร่วมของสังคมมีการรับรู้และเสียงตอบรับจากกลุ่มเป้าหมายเป็นไปในลักษณะใด

ทั้งนี้ ขั้นตอนการพิจารณาคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลอยู่ภายใต้ดุลยพินิจ คำชี้แนะและกำหนดเกณฑ์การพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาตัดสินโครงการประกวดรางวัล Real Impact Awards 2565 ซึ่งมีศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ เป็นประธานคณะกรรมการ ร่วมด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญจากหลายองค์กร ได้แก่ กรมประชาสัมพันธ์, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล, มูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน, ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านบรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน), สถาบันลูกโลกสีเขียว, สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี ในพระอุปถัมภ์, บริษัทที่ปรึกษาด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์แนวยั่งยืน รวมถึงสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

สำหรับองค์กรและบุคคลที่ได้รับรางวัล Real Impact Awards 2565 ตามการแบ่งรางวัลเป็น 3 ประเภท รวม 8 รางวัลประกอบด้วย

1.รางวัลด้านการส่งเสริมสิ่งแวดล้อม (Environment) เป็นรางวัลสำหรับองค์กรหรือบุคคลที่ส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานที่สะท้อนให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งภายในและภายนอกบริบทที่องค์กรหรือบุคคลนั้นๆ เป็นส่วนหนึ่ง เช่น ปัญหาเรื่องขยะ น้ำเสีย มลพิษทางอากาศ ฯลฯ มี 4 องค์กรที่ได้รับรางวัล คือ

1) บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) รับรางวัลสำหรับองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม (นวัตกรรมหรือกิจกรรม) ผลงานขององค์กรคือ โครงการวน (Won project)

2) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) รับรางวัลสำหรับหน่วยงานภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจที่มีการดำเนินงานด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ผลงานขององค์กร คือ โครงการทะเลเพื่อชีวิต (Ocean for life)

3) มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) รับรางวัลสำหรับองค์กรไม่แสวงหากำไร หรือองค์กรการกุศลที่มีการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมดีเด่น ผลงานขององค์กรคือ โครงการสวนผักคนเมือง

4) คุณอเล็กซ์ เรนเดลล์ รับรางวัลสำหรับผู้นำทางความคิดสนับสนุนการทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อม

2. รางวัลด้านการส่งเสริมสังคม (Social) เป็นรางวัลสำหรับองค์กรหรือบุคคลที่มีการจัดการหรือกรอบการดำเนินงานที่ชัดเจนเพื่อช่วยลดปัญหาของสังคม สะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจในประเด็นปัญหาของสังคม เช่น ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ความเลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมกันในสังคม การศึกษา ฯลฯ มี 3 องค์กรที่ได้รับรางวัล คือ

1) ธนาคารกรุงไทย รับรางวัลสำหรับองค์กรที่มีแนวทางปฏิบัติและกิจกรรมที่ส่งเสริมสังคม ผลงานขององค์กรคือโครงการธนาคารกรุงไทยรักชุมชนทั่วไทย

2) มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ รับรางวัลสำหรับองค์กรไม่แสวงหากำไรหรือองค์กรการกุศลที่มีการทำงานด้านช่วยลดปัญหาของสังคมอย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลอย่างชัดเจน ผลงานขององค์กรคือ โครงการเทใจดอทคอม

3) แพลตฟอร์มออนไลน์ภายใต้ชื่อ “อีจัน” รับรางวัลสำหรับผู้นำทางความคิด หรือ Influencer ที่มีแนวคิดและผลงานที่สร้างความแตกต่างแก่สังคมและผู้ที่ติดตาม

3. รางวัลด้านธรรมาภิบาล (Governance) ชื่อรางวัล Real Impact Champion 2565 Award เป็นรางวัลสำหรับองค์กรที่มีการบริหารจัดการธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และคำนึงถึงผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้าน สำหรับรางวัลนี้ใช้เกณฑ์การตัดสินจากกลุ่มบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ได้รับการประเมินในระดับ 5 ดาว จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ทำการคัดกรองครั้งแรกโดยค้นหาข้อมูลด้วย Social Listening ทั้งหมด 88 Keywords จากนั้นคัดกรองครั้งที่สองโดยเพิ่ม Keyword ให้มีความเฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น อาทิ โปร่งใสตรวจสอบได้, ปฏิบัติตามกฎระเบียบ, มีความรับผิดชอบต่อสังคม, บริหารความเสี่ยง, การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย ทำให้ได้รายชื่อ 10 บริษัทที่มีการกล่าวถึงในแพลตฟอร์มออนไลน์โดยมี Share of Topics และ Share of Potential Reach มากที่สุด และองค์กรที่ได้รับรางวัลนี้คือ ธนาคารกรุงไทย

นางพงษ์ทิพย์ กล่าวย้ำในตอนท้ายด้วยว่า บริษัทฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่รางวัล Real Impact Award สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชนและองค์กรต่างๆ ได้ให้ความสำคัญในการดำเนินงานโดยผนวกแนวคิด ESG มาใช้ในการดำเนินงานได้มากขึ้น สามารถใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกและสร้างความแตกต่างในทางที่ดีขึ้นให้กับสังคมอย่างเห็นได้ชัด และยังเป็นการสร้างมาตรฐานการดำเนินธุรกิจ กิจกรรมการตลาดในช่องทางออนไลน์ที่มี ESG เป็นแนวคิด หรือแนวนโยบายผสานอยู่ในการดำเนินงานเพื่อเป้าหมายสำคัญร่วมกันคือการเดินหน้าพัฒนาสู่ความยั่งยืน