ไทยจับมือเยอรมนี เปลี่ยนผ่านพลังงาน ขับเคลื่อนขอนแก่นเมืองอัจฉริยะ

(จากซ้าย) ผศ.ดร.อาดา รัยมธุรพงษ์ รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตขอนแก่น ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย นายไรน์โฮลด์ เอลเกส ผู้อำนวยการ GIZ ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณรงค์ ผลวงษ์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

ขอนแก่น, 23 มีนาคม 2564 – มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น สถานเอกอัครราชทูตเยอรมัน กรุงเทพฯ และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมเปิดงาน “พลังงานสะอาดขับเคลื่อนอนาคต” ณ ห้องประชุมนวราชมงคล ชั้น 3 อาคาร 50 ปีเทคนิคไทย-เยอรมัน ขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น โดยมีดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ผศ.ดร.อาดา รัยมธุรพงษ์ รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตขอนแก่น และนายเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย ให้เกียรติเป็นประธาน

งานนี้จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและการคมนาคมขนส่งของประเทศไทยจากปัจจุบันไปสู่อนาคตที่จะมีการนำเอาเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ มาปรับใช้เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้นทุนลดลง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับพลังงานสีเขียวและการคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการแสดงแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดของประเทศไทยและเยอรมนีผ่านนิทรรศการและกิจกรรมร่วมสนุก

ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า “จากการที่จังหวัดขอนแก่นมียุทธศาสตร์ในการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ซึ่งในแผนการพัฒนานี้มีการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนหลัก (Main Transportation System) เช่น โครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) เส้นทางที่ 1 สายเหนือ-ใต้ ช่วงบ้านสำราญ-บ้านท่าพระ จังหวัดขอนแก่น 16 สถานี วงเงิน 15,000 ล้านบาท และระบบขนส่งมวลชนเสริม (Feeder Transportation System) เช่น โครงการขอนแก่นซิตี้บัส ซึ่งเปิดให้บริการมาแล้วหลายปี ซึ่งปัจจุบันรถซิตี้บัสทั้งหมดนั้นใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) จำนวนทั้งหมด 37 คัน ซึ่งวิ่งให้บริการใน 3 เส้นทาง คือ 1) สายสีเขียว จากสถานีขนส่งแห่งที่ 3 ไปที่สนามบินขอนแก่น และอีก 2 สายที่วิ่งจากสถานีขนส่งแห่งที่ 3 เข้าในเมืองขอนแก่นซึ่งวิ่งบริการ 24 ชั่วโมง คือ 2) สายสีแดง 3) สายสีฟ้า จากแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ด้าน Smart Environment นั้นต้องการลดมลพิษจากระบบขนส่งมวลชนในเขตเมือง จึงมีแผนที่จะเปลี่ยนรถซิตี้บัสรุ่นเก่าในเส้นทางขอนแก่นซิตี้บัสซึ่งเป็นรถที่ใช้พลังงานจากเครื่องยนต์ดีเซล ให้เป็นรถไมโครบัสไฟฟ้า และยังมีโครงการรถตุ๊กตุ๊ก มาเป็นรถตุ๊กตุ๊กอีวีฟู้ดส์ เดลิเวอรี่ ซึ่งเป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าพร้อมบริการส่งอาหาร เพื่อขับเคลื่อนจังหวัดขอนแก่นให้เป็นศูนย์กลางของเมืองยานยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือที่เรียกว่ารถอีวี (EV) และผมเชื่อว่าแนวคิดนี้ จะช่วยอำนวยความสะดวกและตอบสนองรูปแบบการดำรงชีวิตของคนในจังหวัดได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นการต่อยอดแนวคิดในการพัฒนาเมืองสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ได้อย่างเต็มรูปแบบ ในวันนี้ผมมีความยินดีที่จะได้รับทราบแนวคิด เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานและการคมนาคมขนส่งของประเทศเยอรมนี เพื่อนำมาปรับใช้กับจังหวัดขอนแก่นและกับประเทศไทย แน่นอนว่าเราพร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนนี้ร่วมกับประเทศเยอรมนี”

ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวว่า “ในประเทศไทย ภาคพลังงาน เป็นต้นเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 43% ภาคขนส่งกว่า 27% คิดเป็นสัดส่วนรวมกว่า 70% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในประเทศ สิ่งนี้ทำให้เรามองเห็นได้ชัดว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องเปลี่ยนผ่านพลังงาน โดยหันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 53 จากทั้งหมด 115 ประเทศ ที่มีการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นอันดับ 4 ของอาเซียน ตามตัวชี้วัดที่ชื่อ Energy Transition Index (ETI) ของสภาเศรษฐกิจโลก ผมมองว่าประเทศไทยเริ่มเข้าสู่การเป็นประเทศที่มีการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานแล้ว ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดขอนแก่นเองก็ได้มีนโยบายเรื่อง “เมืองคาร์บอนต่ำ” และได้มีการพัฒนาแผนด้านการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หลายด้าน เช่น การนำขยะอาหารเข้าสู่โรงงานปุ๋ย การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากขยะอาหาร และการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาของตลาดสด นอกจากนี้ ผมมองว่าการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีอัจฉริยะมาปรับใช้ ก็จะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น ผมว่านี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะการเปลี่ยนผ่านพลังงานและการขนส่ง เป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต”

ผศ.ดร.อาดา รัยมธุรพงษ์ รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตขอนแก่น กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ก่อตั้งจากสัญญาความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลของประเทศเยอรมนี โดยใช้ชื่อว่า วิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น หรือส่วนใหญ่นิยมเรียกว่า เทคนิค ไทย-เยอรมัน เรามุ่งเน้นการให้ความรู้ทางด้านวิชาการและเทคนิคที่ผสมผสานระหว่างประเทศไทยและประเทศเยอรมนี จนถึงวันนี้เราได้ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ มีฝีมือ พร้อมด้วยความรู้ ความสามารถจำนวนมาก อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีไม่เคยหยุดนิ่ง การดำเนินชีวิตประจำวัน การประกอบอาชีพ ไปจนถึงกระบวนการผลิตสินค้าหรือบริการกำลังจะเปลี่ยนไปด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีอื่นๆ อีกมากมายที่กำลังจะเกิดขึ้น ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องรับมือ ปรับตัว เรียนรู้สิ่งใหม่และหาทักษะใหม่ อย่างที่เรารู้กันว่าเยอรมนีเป็นผู้นำเทคโนโลยีในระดับโลก โดยเฉพาะด้านวิศวกรรมที่ต้องยอมรับว่าเป็นอันดับหนึ่งของโลกมาหลายทศวรรษ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้นำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดการนำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้ก็ต้องดูความเหมาะสมกับบริบทของประเทศ และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อสภาพภูมิอากาศอีกด้วย”

นายเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย กล่าวว่า “Less is more น้อยแต่มาก ในที่นี้ หมายถึง ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง เพื่อปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้มากขึ้น และเราจะลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศและมีชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร นิทรรศการนี้มีคำตอบ โดยนิทรรศการนี้ได้ให้แนวคิดและแนวทางปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างอนาคตที่ดี มั่งคั่งและยั่งยืน เราทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนทั่วโลก ดังนั้นเราต้องใช้ความพยายามร่วมกัน เรียนรู้กันและกัน รวมทั้งแบ่งปันเรื่องราวความสำเร็จและบทเรียนที่ได้รับร่วมกัน ในฐานะที่ประเทศเยอรมนี เป็นพันธมิตรด้านภูมิอากาศที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เรายินดีที่จะแบ่งปันประสบการณ์ของเรากับจังหวัดขอนแก่นเช่นกัน พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและการขนส่งที่ยั่งยืนจะเป็นประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยและเยอรมนีจะร่วมมือกันพัฒนาในอนาคตแน่นอน”

นอกจากนี้ ภายในงาน ยังมีเวทีเสวนาหัวข้อ “Khon Kaen Model : Gateway to the GMS and Economic Corridors ขอนแก่นโมเดล: ประตูสู่ระเบียงเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำโขง” ซึ่งมีนายธวัชชัย โคตรวงษ์ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ภาคอีสาน สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และนายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย บริษัทพัฒนาเมือง Khon Kaen Think Tank ให้เกียรติมาร่วมบอกเล่าเรื่องราวและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องนี้

นิทรรศการ “พลังงานสะอาดขับเคลื่อนอนาคต” จะเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 23 – 27 มีนาคม พ.ศ. 2564 เวลา 09.00 – 16.00 น. ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น

นิทรรศการนี้ เป็นนิทรรศการสัญจรที่จัดขึ้นโดยสำนักงานต่างประเทศของรัฐบาลเยอรมนีร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)