เพราะการอ่านคือรากฐานของชีวิต แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. จึงทำงานด้านนี้มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน เพื่อปลูกฝังให้การอ่านเป็นวัฒนธรรมในการสร้างเสริมสุขภาวะในกลุ่มเด็กปฐมวัย (0-6ปี) โดยเมื่อเร็วๆ นี้ แผนงานฯ ได้จัดเวที ปักธงร่วมฝัน สรรสร้างวัฒนธรรมการอ่าน 2565 “ฟื้นคืนพลังครอบครัวและชุมชนท้องถิ่น เพื่อสุขภาวะเด็กปฐมวัย” หนุนเสริมให้เกิด “กลไกศูนย์ประสานงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านในชุมชนท้องถิ่น” สร้างพลังขับเคลื่อนงานแบบมีส่วนร่วม มีภาคีเครือข่ายจากทั่วประเทศเข้าร่วมกว่า 30 กลุ่ม โดยมีการกำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานของปี 2565 ใน 3 ด้าน ประกอบด้วย 1. พัฒนาแกนนำอาสาสมัครและเครือข่ายฯ ให้มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการส่งเสริมและมีส่วนร่วมในการสร้างเสริมพฤติกรรมการอ่านในเด็กปฐมวัยในชุมชนท้องถิ่น 2.พัฒนากระบวนการสื่อสารที่หลากหลาย และสอดคล้องกับบริบทชุมชน ฟื้นคืนพลังครอบครัวและชุมชนท้องถิ่นด้วยการอ่านเพื่อลดภาวะถดถอยพัฒนาการการเรียนรู้ในกลุ่มเด็กปฐมวัย 3.พัฒนากลไก กระบวนการมีส่วนร่วม และการจัดการความรู้ที่หนุนเสริมการขับเคลื่อนนโยบายชุมชนท้องถิ่น และเชื่อมโยงนโยบายระดับชาติเพื่อลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงระบบอ่านที่เอื้อต่อการพัฒนาสุขภาวะเด็กปฐมวัย
โดย นางญาณี รัชต์บริรักษ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. ได้กล่าวว่า “แผนระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา มีเป้าหมายในการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาระบบนิเวศสื่อสุขภาวะ เพื่อให้องค์ประกอบในนิเวศสื่อสุขภาวะดำเนินไปอย่างความสมดุล โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเครือข่ายนักสื่อสารสุขภาวะในทุกระดับ รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดแนวปฏิบัติ มาตรการ หรือกลไกเชิงนโยบายด้านระบบนิเวศสื่อหรือสุขภาวะทางปัญญาที่เอื้อต่อการสร้างสังคมสุขภาวะ ทั้งนี้โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมในการลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาและปัญหาการเรียนรู้ถดถอย (learning loss) ของเด็กและเยาวชนจากวิกฤติโควิด-19 และภายใต้ความตระหนักถึงสภาพความเป็นจริงว่าในระบบนิเวศสื่อสุขภาวะประกอบด้วยระบบนิเวศย่อยจำนวนมาก และกลุ่มผู้ใช้สื่อในสังคมมีความแตกต่างหลากหลายอย่างสูง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจเชิงลึกกับผู้คน พื้นที่ และชุมชน เรียนรู้วิถีชุมชนที่หลากหลาย และสามารถประยุกต์พัฒนานวัตกรรมใหม่ๆในการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างร่วมสมัย ทั้งนี้มีงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศเป็นที่ประจักษ์ว่าการอ่านเป็นกระบวนการสำคัญในการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีศักยภาพในการเรียนรู้ มีพัฒนาการที่สมวัย และช่วยสร้างเสริมสุขภาวะของเด็ก ๆ ในทุกมิติ โดยกำลังสำคัญในการสร้างผลลัพธ์ของงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านในชุมชน ได้แก่ภาคีเครือข่ายสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านในพื้นที่ที่มาร่วมงานในเวทีนี้ ซึ่งจะเป็นพลังสำคัญในการเดินทางสู่เป้าหมายร่วมภายใต้ยุทธศาสตร์สร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน”
ทางด้าน นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน เล่าว่า ” ในส่วนของแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านเรารับผิดชอบกลุ่มปฐมวัย วางรากฐานเด็กเพื่อให้เติบโตไปอย่างมีคุณภาพ ซึ่งในระยะหลังมีองค์กรและกลุ่มประชาชนสนใจเรื่องของการอ่านเข้ามาร่วมทำงานกับเรามากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้พวกเราทุกคนเห็นภาพตรงกัน มองไปยังเป้าหมายเดียวกัน เราก็เลยจัดเวที “ปักธงร่วมฝัน สรรค์สร้างวัฒนธรรมการอ่าน” ขึ้นทุกปี เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ แนวทางการทำงาน เสริมศักยภาพให้ภาคีได้เห็นคุณค่าของงาน เห็นคุณค่าของชุมชนที่อาศัยอยู่ รูปแบบงานปีนี้จึงออกแบบเป็นพิเศษ โดยให้มีการดูงานนอกสถานที่ เพื่อให้กลุ่มคนทำงานที่มาจากพื้นที่ต่างๆ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน เกิดการแชร์กันระหว่างทีมที่เข้มแข็งที่ทำงานมายาวนาน กับทีมน้องใหม่ที่เก่งเรื่องเด็กปฐมวัย แต่อาจไม่เคยมีประสบการณ์การทำงานการอ่านมาก่อน ซึ่งจะเป็นประโยชน์มาก เรายังชวนเขามองภาพฝันที่เราอยากให้มีห้องสมุดเด็กปฐมวัยเกิดขึ้นในทุกชุมชนท้องถิ่น ปีนี้ก็เลยปักหมุดให้ไปดูห้องสมุดเด็กปฐมวัยของดรุณบรรณาลัย ที่เป็นห้องสมุดสำหรับเด็กแห่งแรกของไทย นอกจากนั้นเรายังได้ ครูก้า-กรองทอง บุญประคอง ผู้บริหารโรงเรียนอนุบาลจิตตเมตต์ปฐมวัย มาเป็นวิทยากรถ่ายทอดและทำให้เห็นว่าการอ่านนั้นบูรณาการได้ทุกเรื่องทั้งการออกกำลังกาย จินตนาการ การเข้าใจการเรียนรู้เท่าทันสังคม ทั้งหมดนี้คือเริ่มต้นมาจากการอ่าน”
และในส่วนของมุมมองจากภาคีที่เป็นสมาชิกใหม่ของแผนการอ่านในปีนี้ นางบุบผาทิพย์ แช่มนิล จากกลุ่มรักเขาชะเมา จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นผู้ที่ทำงานด้านการอ่านมากว่าครึ่งชีวิต เล่าถึงการมาร่วมสืบสานขับเคลื่อนงานด้านการอ่านครั้งนี้ว่า “ได้มีโอกาสมาทำงานร่วมกับแผนการอ่านปีนี้เป็นปีแรก กลุ่มรักเขาชะเมาก่อเกิดมาจากร้านหนังสือเช่าน้ำใจ พวกเราอยู่กับหนังสือมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 2536 เรามองเห็นว่าเด็กในยุคนั้นไม่รู้จักหนังสืออื่นนอกจากหนังสือเรียน แต่พอเราได้แนะนำวรรณกรรมให้เขาอ่าน ก็ค้นพบว่าเด็กๆ ตื่นตาตื่นใจมาก เราเลยเปิดร้านหนังสือขึ้นมาเพื่อให้เป็นเหมือนบ้านหนังสือที่เด็กจะเข้ามานั่งนอนเล่น ได้หยิบหนังสืออ่าน ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยของพวกเขา ต่อมากลุ่มรักเขาชะเมาก็ได้มีการจัดกิจกรรมเล่นละครสัญจร ชื่อว่า “สื่อละครสานฝัน” ซึ่งเราก็จะไปโรงเรียนต่าง ๆ พร้อมกับหนังสือ การเล่านิทาน การเล่นดนตรี หรือการประดิษฐ์ควบคู่กันไปเสมอ ซึ่งพอได้รู้ว่าทาง สสส. ได้มีการทำงานเรื่องการอ่าน เราก็ได้แต่จดๆ จ้องๆ มาหลายปี จนมาในปีนี้มีความลงตัว จึงได้มาร่วมเป็นภาคีใหม่ของแผนการอ่านฯ ซึ่งเรามีความเชื่อมั่นในเรื่องของนโยบายที่ทางแผนการอ่านจะขับเคลื่อน มองเห็นแล้วว่าเป้าหมายเราคือสิ่งเดียวกัน ก่อนนี้เราก็ทำกันเองในชุมชนเล็กๆ ของเรา แต่เมื่อมาร่วมเป็นภาคี ก็ทำให้เราได้เรียนรู้คนอื่น กลุ่มอื่นด้วย และเราก็ได้เครื่องมืออะไรบางอย่างให้ไปทำงานได้ง่ายขึ้นค่ะ”
และในมุมมองของกลุ่มคนทำงานกับชุมชนมาอย่างยาวนาน นางอังคณา ขาวเผือก ผู้แทนสหพันธ์พัฒนาองค์กร ชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) เล่าว่า “ภาคีของเราทำงานเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย เรามองว่าเมื่อเรามีที่อยู่อาศัยที่ดี สิ่งที่ตามมาคือความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้อยู่อาศัย ซึ่งงานของแผนการอ่านมีการวางรากฐานเด็กไว้ตั้งแต่ในท้อง ด้วยการให้พ่อแม่อ่านนิทานอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ที่ได้ประโยชน์ทั้งกับตัวเด็กและช่วยสานสัมพันธ์ในครอบครัว ตรงนี้เราคิดว่ามันตอบโจทย์งานที่ทำอยู่มากเลย เหมือนคำที่พูดว่า “กว่าจะปลูกบ้านว่ายากแล้ว แต่การรักษาบ้านไว้นั้นยากยิ่งกว่า” ถ้าเราไม่สร้างคนให้มีคุณภาพ ไม่รู้รากเหง้าของตัวเองอย่าหวังว่าชุมชนจะเข็มแข็งได้ จึงได้ร่วมมือกันทำงานกับแผนการอ่านมาโดยตลอด โดยจากการทำงานที่ผ่านมาก็ได้ประจักษ์แก่สายตาจริงๆ ว่าการเรานำความรู้เรื่องการอ่านไปให้ชุมชนทดลองว่าเสียสละเวลาเพียง 5 นาที มาอ่านหนังสือให้ลูกฟัง พ่อแม่ลูกมานั่งอ่านหนังสือด้วยกัน มันเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดมาก และตัวเขาเองก็ได้เห็นผลดีเองด้วย ก็นับได้ว่าประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง สำหรับปีนี้เรานโยบายการทำงานคือ หนังสือ 3 เล่มในบ้าน อีกส่วนคือนโยบายเด็กถ้วนหน้า อันนี้ถือเป็นนโยบายระดับชาติ และเรื่องของ BOOK START ที่รณรงค์ให้คุณแม่ตั้งครรภ์อ่านหนังสือให้ลูกฟัง ตรงนี้เรามองขยายผลไปถึงว่าหน่วยงานที่จะมาช่วยส่งเสริมตรงนี้ได้ เช่น รพสต. ที่นอกจากมีหนังสือตรวจครรภ์ ก็อาจแจกหนังสือนิทานไปด้วย ซึ่งคิดว่าถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถทำงานแบบบูรณาการร่วมกันไปก็จะเป็นประโยชน์มาก ”