Lazada

เปิดตัวโครงการ “ไทยทะยาน” ภายใต้แนวคิด ‘ทะยานให้สร้างสรรค์ ปั้นไทยด้วยมือ GEN Z’ ชวนคนรุ่นใหม่ผนึกไอเดียร่วมนำภูมิปัญญาไทยไปสู่ระดับโลก พร้อมเพิ่มมูลค่ามรดกวัฒนธรรมไทย ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย U2T, วิทยสถานสังคมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ ธัชชา และ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เปิดตัวโครงการ “ไทยทะยาน” ในแนวคิด “ทะยานให้สร้างสรรค์ ปั้นไทยด้วยมือ GEN Z” ผลักดันให้สังคมเห็นถึงความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมของไทย พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ สู่การพัฒนาโดยเรียนรู้จากการปฏิบัติ นำไปสู่การพัฒนาการเศรฐกิจชุมชน และยกระดับความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมสู่ระดับยั่งยืนได้อย่างต่อเนื่อง ชวนนักศึกษาระดับปริญญาตรี โชว์ไอเดียร่วมการประกวดแล้ววันนี้ – 26 ก.พ. นี้

กรุงเทพฯ – กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), U2T (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล), วิทยสถานสังคมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ ธัชชา (Thailand Academy of Social Sciences, Humanities and Arts : TASSHA) และ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จัดงานเปิดตัวโครงการ “ไทยทะยาน” ภายใต้แนวคิด “ทะยานให้สร้างสรรค์ ปั้นไทยด้วยมือ GEN Z” โดยเป็นโครงการประกวดออกแบบสร้างสรรค์ผลงานจากแนวคิดของคนรุ่นใหม่ เพื่อผลักดันให้สังคมเห็นถึงความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมของไทย และสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมต่อยอดให้เกิดโมเดลเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์และมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยมี รองศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการและโฆษกกระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี
รองศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการและโฆษกกระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า กระทรวงฯ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นหัวใจหลักสำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยได้วางทิศทางในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเชิงสร้างสรรค์และการเพิ่มขีดความสามารถของคนไทย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการสร้างคนรุ่นใหม่ และนิสิตนักศึกษา ให้มีทักษะทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ที่สามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของชาติ ให้เข้ากับการใช้สื่อและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับฐานทุนทางวัฒนธรรมที่เรามีอยู่ให้สูงขึ้น โดยผสานอดีตกับกระแสโลกาภิวัตน์ไปสู่อนาคต พร้อมมุ่งไปสู่การสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่ใช้มรดกทางวัฒนธรรมของไทยเป็นรากฐาน จนสามารถนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ต่อไป

“ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีมรดกทางวัฒนธรรมและมีเอกลักษณ์มากมาย ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนให้ว่าประเทศไทยมีต้นทุนทางด้านวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่นและแตกต่างจากประเทศอื่น ทางกระทรวงฯ ได้เล็งเห็นว่า หากเราหยิบ
ภูมิปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้มาต่อยอด และพัฒนาใส่นวัตกรรมความคิดของคนรุ่นใหม่ ย่อมก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมใหม่ที่ทันต่อกระแสและความเปลี่ยนไปของโลกในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับวิสาหกิจชุมชน ส่งเสริมการสร้างและพัฒนาอาชีพใหม่ รวมถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวและการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติ และทำให้ศิลปวัฒนธรรมของไทยทะยานออกไปยังเวทีโลกได้” รองศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ดวงฤทธิ์ กล่าว

ด้าน รศ.ดร.ชุติกาญจน์ ศรีวิบูลย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า สำหรับโครงการ “ไทยทะยาน” ทะยานให้สร้างสรรค์ ปั้นไทยด้วยมือ GEN Z ในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา วิทยสถานสังคมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (TASSHA) และภาคีภาคเอกชน ที่ต่างเล็งเห็นถึงความสำคัญในการรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทย เพื่อพัฒนาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชน ท้องถิ่น
สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สังคม และแสดงให้เห็นถึงมรดกทางวัฒนธรรมที่มีค่ายิ่งของไทย พร้อมนำมาต่อยอดให้เกิดโมเดลเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่สามารถนำไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างแท้จริง
“ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว และมุ่งมั่นที่จะต่อยอดในการจัดกิจกรรมอบรมเพิ่มองค์ความรู้ สร้างแรงบันดาลใจผ่านการเรียนรู้แบบปฏิบัติจริง (Experiential Learning) เพื่อเป็นการผลักดันให้สังคมได้เห็นถึงความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทย รวมถึงเป็นการติดอาวุธทางความคิดอย่างสร้างสรรค์ให้กับนักศึกษา ทั้งจากมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ มหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ รวมถึงผู้ร่วมโครงการ U2T ได้แสดงศักยภาพในการออกแบบ สร้างนวัตกรรมและผลงานทางศิลปะอย่างสร้างสรรค์ ที่สามารถเพิ่มมูลค่าทุนทางวัฒนธรรมไทย เพิ่มศักยภาพ และยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล รวมถึงการสร้างรายได้ สร้างโอกาสให้กับประชาชนและนักศึกษา อีกทั้งยังเป็นการหล่อหลอมเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้สามารถเชื่อมอดีตและสานต่ออนาคต คิดและลงมือทำเพื่อรักษามรดกของชาติให้ดำรงอยู่ต่อไปได้อีกด้วย โดยโครงการทะยานไทย ถือเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และสอดคล้องกับพันธกิจหลักและยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาได้อย่างชัดเจน ในการผลิตและพัฒนาบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศในแต่ละคณะ ควบคู่ไปกับการพัฒนาความรู้และนวัตกรรม รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้เชิงทฤษฎีสู่การปฏิบัติจริง” รศ.ดร.ชุติกาญจน์ กล่าว

****************************
สอบถามข้อมูลข่าวเพิ่มเติมได้ที่ ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์
คุณกิตติพงษ์ สัจจพลากร (เอ็กซ์) โทร. 064 693 6541

เกี่ยวกับการประกวดโครงการ “ไทยทะยาน”
โครงการ “ไทยทะยาน” เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาทั่วประเทศ ได้สร้างสรรค์ผลงานออกแบบด้านศิลปะวัฒนธรรมจากรากเหง้าและภูมิปัญญาท้องถิ่น ภายใต้แนวคิด “ทะยานให้สร้างสรรค์ ปั้นไทยด้วยมือ GEN Z”
เพื่อต่อยอดการผลักดันให้สังคมเล็งเห็นถึงความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทย รวมถึงเป็นการติดอาวุธทางความคิดอย่างสร้างสรรค์ ให้นักศึกษาสามารถออกแบบ สร้างนวัตกรรม ผ่านกิจกรรมประกวดผลงานสร้างสรรค์ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรม ใน 4 ด้าน อันได้แก่
1) การออกแบบเครื่องแต่งกายที่แสดงถึงความเป็นไทยร่วมสมัย
2) ภาพยนตร์โฆษณาเพื่อส่งเสริมความเป็นไทยสู่สายตาชาวโลก
3) สื่อจิตรกรรม ประติมากรรม และสื่อผสมที่แสดงออกถึงความเป็นไทย
4) เครื่องประดับสะท้อนอัตลักษณ์ไทยสู่สากล
โดยรูปแบบของกิจกรรมจะแบ่งเป็นสองส่วน ได้แก่ 1. การคัดเลือกผู้เข้าโครงการที่มีความรู้ความสามารถทางด้านศิลปะและมรดก ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไทยทั้งจากมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ นิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชนทั่วประเทศ และจากตำบลที่เข้าร่วมโครงการ U2T ที่สามารถถ่ายทอดผลงานในหัวหัวข้อ “ไทยทะยาน” อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงพื้นฐานความสามารถและการสื่อสารความเป็นไทยหรือความเป็นภูมิหลังของทุนทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นของตน
2. การอบรมเพื่อเพิ่มองค์ความรู้รากเหง้าและภูมิปัญญาไทย และสร้างแรงบันดาลใจเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนในการต่อยอดสร้างสรรค์มรดกวัฒนธรรมไทยตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งประกอบด้วยหัวข้อ คือ Sensory
of Thai และ Future living (ประกอบด้วย circular economy, creative economy) รวมถึง การแข่งขันโดยใช้กระบวนการ HACKATHON ซึ่งเป็นกิจกรรมการแข่งขันเพื่อระดมความคิดสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมใหม่ ภายใต้โจทย์ที่ได้รับ (Themes) จากผู้ประกอบการที่จะนำผลงานไปใช้ประโยชน์ ภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมง และมีเวลา 2 สัปดาห์ ในการผลิตต้นแบบให้สมบูรณ์ โดยนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการพัฒนาศักยภาพความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างนวัตกรรม
ที่สามารถต่อยอดให้เกิดโมเดลเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้จริงต่อไป
สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมประกวดจะต้องนำเสนอผลงานการออกแบบ ที่พัฒนาจากมรดกทางภูมิปัญญาไทยที่มีอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัว เพื่อเพิ่มมูลค่าทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของไทยสู่สายตานานาชาติ ผ่านผลงานที่จะส่งเข้าประกวดในแต่ละประเภท โดยผู้ที่ชนะเลิศในแต่ละประเภทการแข่งขัน จะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท รองชนะเลิศ 20,000 บาท และ 10,000 บาท ตามลำดับ พร้อมโล่เกียรติยศ และโอกาสในการจัดแสดงผลงาน พร้อมโอกาสในการร่วมงานกับแบรนด์ดังในระดับสากลของไทย
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถส่งผลงานเข้าร่วมประกวดได้ตั้งแต่วันนี้ – 26 กุมภาพันธ์ 2565
โดยสอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมและติดตามข่าวสารได้ที่ facebook.com thaithayarn หรือ Line official : @thaithayarn หรือ Instagram : thaithayarn