เจดีอาร์เอฟประกาศเผยแพร่ดัชนีโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ระดับโลก

ดัชนีดังกล่าวนี้ซึ่งมีขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก จะยกระดับความตระหนักรู้เกี่ยวกับภาระและความต้องการที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองของผู้ที่ต้องใช้ชีวิตกับโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ทั่วโลก

เจดีอาร์เอฟ (JDRF) องค์กรชั้นนำระดับโลกผู้วิจัยและสนับสนุนประเด็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 (T1D) ได้ประกาศการเผยแพร่ดัชนีโรคเบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes Index หรือ T1D Index) เครื่องมือการจำลองข้อมูลซึ่งมีขึ้นเป็นครั้งแรกสำหรับการวัดผลกระทบด้านมนุษย์และด้านสาธารณสุขจากวิกฤตโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ในทุกประเทศทั่วโลก จนถึงปัจจุบันยังมีช่องว่างอย่างมากในแง่ของข้อมูลเกี่ยวกับอุบัติการณ์และผลกระทบของโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ในแง่นี้การใช้ประโยชน์จากข้อมูลและข้อมูลเชิงลึกจากดัชนีโรคเบาหวานชนิดที่ 1 นี้ช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้ที่ต้องใช้ชีวิตกับโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ได้ ด้วยการระบุการแทรกแซงที่ปฏิบัติได้จริงรายประเทศ ประกอบด้วย การวินิจฉัยอย่างทันท่วงที การดูแลรักษาที่เข้าถึงได้ และการให้ทุนวิจัยที่นำไปสู่วิธีการรักษาให้หายขาดได้ เป็นต้น

ดัชนีโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และงานวิจัยที่ดำเนินการควบคู่กัน ได้ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ชั้นนำด้านโรคเบาหวานและวิทยาต่อมไร้ท่ออย่างเดอะ แลนซิต โรคเบาหวาน และวิทยาต่อมไร้ท่อ (The Lancet Diabetes & Endocrinology)

โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เป็นภาวะภูมิคุ้มกันทำลายตนเองและภาวะเรื้อรั้งทางสุขภาพที่เติบโตเร็วเป็นอันดับต้น ๆ โดยส่งผลกระทบต่อผู้คนเกือบ 9 ล้านคนทั่วโลก ปัจจัยบางประการอย่างเช่นประวัติการเจ็บป่วยในครอบครัวนั้นเพิ่มความเสี่ยงได้ แต่ไม่ได้เกิดจากการบริโภคอาหารหรือวิถีชีวิต โรคเบาหวานชนิดที่ 1 ส่งผลให้ตับอ่อนผลิตอินซูลินน้อยมากหรือไม่ผลิตเลย ทำให้ร่างกายมนุษย์แปรสภาพอาหารให้เป็นพลังงานไม่ได้ นำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว รวมถึงความเสียหายต่อไต ดวงตา เส้นประสาท หัวใจ ตลอดจนถึงขั้นการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ให้หายขาด

“ในฐานะสมาชิกของชุมชนโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ผมทราบว่ามีคนจำนวนมากที่ไม่ได้โชคดีอย่างผม ที่มีทรัพยากรที่จำเป็นในการใช้ชีวิตอย่างแข็งแรงและสมบูรณ์” ดร.แอรอน โควาลสกี (Aaron Kowalski) ซีอีโอของเจดีอาร์เอฟ กล่าว “ผมจึงภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ขณะนี้มีความก้าวหน้าอย่างมากในการทำความเข้าใจผลกระทบระดับโลกของโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ด้วยดัชนีโรคเบาหวานชนิดที่ 1 นี้ เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้มีอำนาจตัดสินใจด้านสาธารณสุขทั่วโลกใช้ประโยชน์จากเครื่องมือนี้ ในการระบุวิธีและดำเนินการแทรกแซงที่เปลี่ยนแนวโน้มในปัจจุบันของโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ได้”

เจดีอาร์เอฟทำงานร่วมกับพันธมิตรและผู้เชี่ยวชาญรายสำคัญในทั่วโลกในการพัฒนาดัชนีโรคเบาหวานชนิดที่ 1 โดยใช้ผลจากการสำรวจระดับโลกที่ครอบคลุมแพทย์ด้านวิทยาต่อมไร้ท่อกว่า 500 คน และงานตีพิมพ์กว่า 400 ชิ้น เพื่อจำลองสถานะของโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ในระดับโลกและระดับประเทศ

ดัชนีนี้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับภาระด้านมนุษย์ที่เกิดจากโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ได้อย่างเฉพาะตัว ด้วยการเน้นย้ำความสำคัญของ “ผู้ที่จากหายไป” (missing people) ซึ่งคือจำนวนผู้ที่ในวันนี้จะยังมีชีวิตอยู่หากไม่ได้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และ “ปีของสุขภาพดีที่สูญเสียไป” (healthy years lost) ซึ่งหมายถึงเวลาที่สูญเสียไปให้กับสุขภาพที่ย่ำแย่ ความพิการ หรือการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากการต้องใช้ชีวิตกับโรคเบาหวานชนิดที่ 1

การจำลองจากดัชนีโรคเบาหวานชนิดที่ 1 บ่งชี้ว่าในระดับโลก ณ ปี 2565 มี “ผู้ที่จากหายไป” กว่า 3.86 ล้านคน และมี “ปีของสุขภาพดีที่สูญเสียไป” ให้กับโรคเบาหวานชนิดที่ 1 เฉลี่ย 32 ปีต่อคนหนึ่งคน หากได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ตั้งแต่อายุ 10 ปี

โรคเบาหวานชนิดที่ 1 ก่อภาระด้านมนุษย์ ภาระทางอารมณ์ และภาระทางการเงินอย่างหนักหน่วงสำหรับผู้ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับโรค ยิ่งไปกว่านั้นความชุกของโรคยังกำลังเพิ่มสูงขึ้น การจำลองข้อมูลจากดัชนีโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ได้นำไปสู่การระบุวิธีแทรกแซงสำคัญ 4 ประการที่เปลี่ยนแนวโน้มในปัจจุบันของโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และผลกระทบของโรคดังกล่าวนี้ต่อผู้คนทั่วโลกได้ ดังต่อไปนี้

การวินิจฉัยอย่างทันท่วงที: ให้ความรู้และการฝึกอบรมที่ดียิ่งขึ้นสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ในการวินิจฉัยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 อย่างถูกต้อง และหากประชากรโลกเข้าถึงการวินิจฉัยอย่างทันท่วงทีได้ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป จะมีคนจำนวนเพิ่มขึ้น 668,000 คนที่มีชีวิตอยู่ได้ในปี 2583
อินซูลินและแถบตรวจน้ำตาล: สร้างการเข้าถึงอย่างไร้อุปสรรคสำหรับอินซูลินและแถบตรวจน้ำตาลกลูโคสในเลือด หากประชากรทั่วโลกเข้าถึงอินซูลินและแผ่นตรวจน้ำตาลได้ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป ประกอบกับได้รับการฝึกสอนให้บริหารจัดการกับภาวะการเป็นโรคด้วยตนเองได้ จะมีคนจำนวนเพิ่มขึ้น 1.98 ล้านคนที่มีชีวิตอยู่ได้ในปี 2583
อินซูลินปั๊มและเครื่องตรวจน้ำตาลต่อเนื่อง ( CGM): ทำให้ผู้ที่ต้องใช้ชีวิตกับโรคเบาหวานชนิดที่ 1 เข้าถึงเทคโนโลยีที่ทำให้การเฝ้าระวังระดับน้ำตาลกลูโคสและการให้อินซูลินเป็นไปอย่างอัตโนมัติ จะมีคนจำนวนเพิ่มขึ้น 673,000 คนที่มีชีวิตอยู่ได้ในปี 2583 ถ้าทุกคนที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 เข้าถึงเทคโนโลยีดังกล่าวนี้ได้ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป
การป้องกันและรักษาให้หายขาด: ผลักดันการลงทุนและการวิจัยเพิ่มเติมในการพัฒนาการป้องกัน การรักษาตามอาการ และการรักษาให้หายขาด จะมีคนจำนวนเพิ่มขึ้น 890,000 คนที่มีชีวิตอยู่ได้ในปี 2583 ถ้าเราค้นพบวิธีการรักษาให้หายขาด
เมื่อพบวิธีแทรกแซงในระดับโลกและระดับประเทศแล้ว ดัชนีโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ผลักดันให้ผู้ใช้ดำเนินการ ด้วยการเผยแพร่ข้อมูลและข้อค้นพบกับเครือข่ายของพวกเขาและผู้มีอำนาจตัดสินใจในท้องถิ่น ประกอบกับการเชื่อมต่อกับผู้สนับสนุนประเด็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ในชุมชนของพวกเขา

นอกจากนี้ ดัชนีโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ได้เน้นย้ำสถิติที่สำคัญเกี่ยวกับภาระที่เกิดจากโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ในระดับโลก อย่างเช่น

ตั้งแต่ปี 2543 ความชุกของโรคเบาหวานชนิดที่ 1 เพิ่มขึ้นสี่เท่าตัวของอัตราการเติบโตของประชากรโลก
จำนวนคนที่ต้องมีชีวิตอยู่กับโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ในปี 2583 คาดว่าจะอยู่ที่ 17.43 ล้านคน
จำนวน “ผู้ที่จากหายไป” ในปี 2583 คาดว่าจะอยู่ที่ 6.85 ล้านคน
การจำลองข้อมูลของดัชนีโรคเบาหวานชนิดที่ 1 คือการประมาณการที่ดีที่สุดที่มีอยู่ในขณะนี้ โดยเวอร์ชัน 1.0 มีค่าการทดสอบที่ +/- 6% เมื่อเทียบกับข้อมูลในโลกจริง ถือเป็นการพัฒนาอย่างมากจากการประมาณการระดับแนวหน้าที่มีอยู่เดิมซึ่งมีค่าการทดสอบที่ +/- 35% เมื่อเทียบกับข้อมูลชุดเดียวกัน โครงการนี้เป็นการพัฒนาภายใต้การทำงานร่วมกันระหว่างเจดีอาร์เอฟ กับไลฟ์ ฟอร์ อะ ไชลด์ (Life for a Child), สมาคมระหว่างประเทศด้านโรคเบาหวานในเด็กและวัยรุ่น (International Society for Pediatric and Adolescent Diabetes หรือ ISPAD), สหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation หรือ IDF) และบียอนด์ ไทป์ 1 (Beyond Type 1) ดัชนีโรคเบาหวานชนิดที่ 1 สนับสนุนโดยองค์กรผู้สนับสนุนก่อตั้งอย่างแอบบอตต์ (Abbott) ประกอบกับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากลิลลี่ (Lilly), เวอร์เท็กซ์ ฟาร์มาซูติคัลส์ (Vertex Pharmaceuticals) และกองทุนการกุศลลีโอนา เอ็ม และแฮร์รี บี เฮล์มส์ลีย์ (The Leona M. and Harry B. Helmsley Charitable Trust) ทั้งนี้ในการปรับปรุงต่อไปในอนาคต ดัชนีนี้จะขยายให้ครอบคลุมถึงผลกระทบของโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ต่อต้นทุนทางเศรษฐกิจ สุขภาพจิต และคุณภาพชีวิต อีกทั้งข้อมูลยังจะแบ่งย่อยเป็นระดับภูมิภาคและระดับภูมิประชากรด้วย

ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับดัชนีโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ได้ที่นี่

เกี่ยวกับเจดีอาร์เอฟ

เจดีอาร์เอฟ (JDRF) มีพันธกิจเพื่อเร่งให้เกิดความก้าวหน้าที่เปลี่ยนแปลงชีวิตคนในการรักษาให้หายขาด ป้องกัน และรักษาตามอาการสำหรับโรคเบาหวานที่ 1 และภาวะแทรกซ้อนของโรค ในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว เจดีอาร์เอฟได้ลงทุนกว่า 2,500 ล้านดอลลาร์ในการให้ทุนวิจัยนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง เจดีอาร์เอฟเป็นองค์กรที่สร้างขึ้นบนฐานของโครงสร้างแบบรากหญ้าที่ผู้คนเชื่อมต่อกันในชุมชนท้องถิ่น ทำงานร่วมกันในระดับภูมิภาคเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและผลกระทบด้านการระดมทุนในวงกว้างมากขึ้น และรวมตัวกันบนเวทีโลกเพื่อรวบรวมทรัพยากร พลังใจ และพลังงาน เจดีอาร์เอฟทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา ผู้กำหนดนโยบาย ตลอดจนองค์กรบริษัทและพันธมิตรในอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาและส่งมอบรายการวิธีการรักษาให้กับผู้ที่ต้องใช้ชีวิตกับโรคเบาหวานชนิดที่ 1 พนักงานและอาสาสมัครของเจดีอาร์เอฟทั่วสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรระดับระหว่างประเทศ 5 รายอุทิศตนเพื่อการสนับสนุนประเด็น การมีส่วนร่วมของชุมชน และวิสัยทัศน์สู่โลกที่ปราศจากโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ jdrf.org หรือติดตามทางทวิตเตอร์ (@JDRF) เฟซบุ๊ก (@myjdrf) และอินสตาแกรม (@jdrfhq)

เกี่ยวกับโรคเบาหวานชนิดที่ 1 (T1D)

โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เป็นภาวะภูมิคุ้มกันทำลายตนเองที่ส่งผลให้ตับอ่อนผลิตอินซูลินน้อยมากหรือไม่ผลิตเลย นำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นภาวะน้ำตาลในเลือดสูงและต่ำ ความเสียหายต่อไต ดวงตา เส้นประสาท และหัวใจ ตลอดจนถึงขั้นเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษา เป็นหนึ่งในภาวะเรื้อรั้งทางสุขภาพที่เติบโตเร็วที่สุด หลายคนเชื่อว่าโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ตรวจวินิจฉัยพบได้เฉพาะในวัยเด็กและวัยแรกรุ่นตอนต้น แต่การวินิจฉัยในผู้ใหญ่กำลังเพิ่มสูงขึ้น และมีสัดส่วนเป็นเกือบ 50% ของการตรวจวินิจฉัยพบโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ทั้งหมด อาการแรกเริ่มเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและยังไม่สามารถทำสิ่งใดเพื่อป้องกันได้ โรคเบาหวานชนิดที่ 1 ไม่ได้เกิดจากการบริโภคอาหารหรือวิถีชีวิต ขณะที่ปัจจุบันยังไม่เข้าใจสาเหตุทั้งหมด นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าทั้งปัจจัยทางพันธุกรรมและตัวกระตุ้นเชิงสิ่งแวดล้อมมีส่วนเกี่ยวข้อง ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ให้หายขาด

โลโก้ – https://mma.prnewswire.com/media/146160/jdrf_logo.jpg