Lazada

หัวเว่ย แสดงนวัตกรรมล้ำสมัย ณ งาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2564 เดินหน้าผลักดันประเทศไทยสู่ยุคดิจิทัล

ประกาศยืนหยัดช่วยสังคมนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาสร้างคุณค่าและโอกาสใหม่ๆ
เพื่อส่งเสริมทักษะไอซีที เตรียมความพร้อมคนไทยสู่ดิจิทัล ทรานสฟอร์มเมชัน

[กรุงเทพฯ, 10 พฤศจิกายน 2564] — บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการโซลูชันไอซีทีชั้นนำระดับโลก จัดแสดงนิทรรศการด้านนวัตกรรมภายใต้ธีม “Experience the Limitless Life with 5G” เพื่อเผยโฉมเทคโนโลยีอันล้ำสมัยล่าสุด ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2564 ซึ่งจัดขึ้นที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระหว่างวันที่ 9 – 19 พฤศจิกายน 2564 งานดังกล่าวถือเป็นงานจัดแสดงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักรู้ถึงความสำคัญและคุณค่าใหม่ๆ จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เข้าถึงความรู้และทักษะใหม่ๆ เพื่อเตรียมประเทศให้พร้อมสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเต็มรูปแบบ โดยนวัตกรรมและบริการที่นำมาจัดแสดงนั้นล้วนพัฒนาขึ้นร่วมกับพาร์ทเนอร์ชั้นนำภายใต้การสนับสนุนจากศูนย์ Thailand 5G Ecosystem Innovation Center (5G EIC) ที่เพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีระดับโลกและแพลตฟอร์มการสร้างนวัตกรรมที่ล้ำสมัย

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ให้เกียรติเยี่ยมชมบูธจัดแสดงของหัวเว่ย โดยมีนายอาเบล เติ้ง ซีอีโอของหัวเว่ย ประเทศไทย ให้การต้อนรับ พร้อมอธิบายภาพรวมของนวัตกรรมต่างๆ ตลอดจนประโยชน์ที่จะได้รับจากการนำโซลูชันอัจฉริยะมาใช้ในอุตสาหกรรมจริง โดยพลเอก ประยุทธ์ ได้ทดลองการใช้งานโซลูชัน 5G ซึ่งพัฒนาโดยศูนย์ 5G EIC พร้อมกับพาร์ทเนอร์ของหัวเว่ย ได้แก่ บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท อิลูชั่น คอนเน็ก (ประเทศไทย) จำกัด และ ห้องปฏิบัติการวิจัย CMIT Robotics มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ภายในงาน หัวเว่ย ได้เปิดตัวนวัตกรรมสุดล้ำ ซึ่งพัฒนาขึ้นร่วมกับพาร์ทเนอร์ ผ่านแพลตฟอร์มการพัฒนาที่สนับสนุนโดย 5G EIC โซลูชันหลักที่นำมาให้ผู้เข้าชมสัมผัสนั้นพร้อมรองรับเทคโนโลยีขั้นสูงหลากหลาย อาทิ 5G, AI, Big Data, Virtual Reality และ cloud ไฮไลต์ประจำบูธจัดแสดงในครั้งนี้ ได้แก่ 1) Cheetah Greet Bot – โรบ็อตให้บริการอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วย AI พร้อมรองรับการจดจำใบหน้าและการวิเคราะห์ข้อมูล 2) Lucki Service Bot – โรบ็อตส่งสินค้าอัจฉริยะ 3) Steriliz Air – เครื่องฆ่าเชื้อในอากาศและพื้นผิว มาพร้อมกับเทคโนโลยีมัลติพลาสม่า ยับยั้งแบคทีเรียและไวรัสโคโรน่าได้ถึง 99.99% 4) VR Live Broadcast – รองรับการสตรีมสดแบบเสมือนจริงด้วยความละเอียดสูงถึง 8K เพื่อประสบการณ์ด้านความบันเทิงและการจำลองงานแบบสมจริง 5) Cobot – ระบบ X-pert System Automation เพื่อการประมวลผลเซนเซอร์อัจฉริยะในอุตสาหกรรมการผลิต สามารถนำมาเชื่อมต่อเพื่อแสดงผลผ่านอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงการทำงานอัจฉริยะผ่านอินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่ง (IoT) โซลูชัน 3 รายการแรกนั้นพัฒนาขึ้นโดย บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในขณะที่ VR Live Broadcast พัฒนาโดยบริษัท อิลูชั่น คอนเน็ก (ประเทศไทย) จำกัด และ Cobot พัฒนาโดยห้องปฏิบัติการวิจัย CMIT Robotics มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมงานยังสามารถเยี่ยมชมและทดลองใช้งาน VR Headset ที่ประมวลผลผ่านคลาวด์ ทำให้การเชื่อมต่อลื่นไหลและรวดเร็ว ทั้งยังได้พบกับ AR Glasses สำหรับการแพทย์ทางไกลผ่าน 5G ที่ทำให้การวินิจฉัยโรคเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ โดยแว่นอัจฉริยะดังกล่าวนำมาใช้งานจริงแล้วที่โรงพยาบาลศิริราช กระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา

หัวเว่ยมุ่งมั่นสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชน ผู้ซึ่งจะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงในโลกดิจิทัลยุคใหม่ ผ่านนิทรรศการในครั้งนี้ โดยนายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร หัวเว่ย ประเทศไทย กล่าวว่า “ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สังคมของเรากำลังก้าวเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 อย่างรวดเร็ว โดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นแรงขับเคลื่อน เช่นเดียวกับบทบาทของไฟฟ้าเมื่อ 100 ปีที่แล้ว เทคโนโลยีไอซีทีอย่าง 5G, เอไอ, IoT หรือคลาวด์ จะถูกผสานรวมเข้ากับทุกมิติของสังคม อุตสาหกรรม ตลอดจนการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ กระแสการทรานสฟอร์มสู่ดิจิทัลได้เติบโตทั่วโลกอย่างรวดเร็วในระยะเวลา 7 ปี และ 10 ปี ที่ผ่านมาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีและพันธมิตรด้านไอซีทีที่ได้รับความไว้วางใจจากอุตสาหกรรม หัวเว่ยได้ปูรากฐานที่แข็งแกร่งให้แก่ดิจิทัลทรานสฟอร์มเมชันของประเทศไทยและมอบคุณค่าทางสังคมมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 22 ปี เรามีเป้าหมายที่จะบ่มเพาะบุคลากรดิจิทัลและการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชน เพื่อร่วมมุ่งสู่ดิจิทัลไทยแลนด์และส่งเสริมให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางดิจิทัลของอาเซียน”

หัวเว่ย ประเทศไทย เดินหน้าเสริมสร้างทักษะและความรู้ด้านดิจิทัลให้แก่คนรุ่นใหม่ผ่านโครงการริเริ่มต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยโครงการไอซีทีของหัวเว่ย ซึ่งรวมถึงการฝึกอบรมภาคปฏิบัติและการสอบใบรับรองด้านไอซีทีมีเป้าหมายเพื่อวางรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับอีโคซิสเต็มด้านบุคลากรไอซีที หัวเว่ยสานต่อปณิธานในการช่วยประเทศไทยพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีความสามารถผ่านความร่วมมือในระยะยาวกับภาครัฐ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และมหาวิทยาลัยทั่วประเทศอย่างเต็มที่

บรรยายภาพ: นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ให้การต้อนรับพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระหว่างการเยี่ยมชมนิทรรศการด้านนวัตกรรมของหัวเว่ย ณ งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2564 จัดขึ้นที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี