นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร หัวเว่ย ประเทศไทย รับมอบรางวัล “บริษัทที่ให้การสนับสนุนการดำเนินการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศดีเด่น” (Prime Minister Awards – Thailand Cybersecurity Excellence Awards 2022) จากนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีพลเอก ปรัชญา เฉลิมวัฒน์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เป็นสักขีพยาน
[กรุงเทพฯ/ 15 สิงหาคม 2565] – นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นตัวแทนบริษัท รับมอบรางวัล “บริษัทที่ให้การสนับสนุนการดำเนินการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศดีเด่น” (Prime Minister Awards – Thailand Cybersecurity Excellence Awards 2022) จากสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพฯ โดยมีนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธาน และพลเอก ปรัชญา เฉลิมวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เจ้าหน้าที่ และผู้แทนองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมเป็นสักขีพยาน
รางวัลอันทรงเกียรตินี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นด้านความเป็นเลิศ นวัตกรรม และความเป็นผู้นำในการสนับสนุนด้านการรักษาความปลอดภัยข้อมูลของหัวเว่ย ประเทศไทย ด้านการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์และการปกป้องข้อมูลทั่วประเทศ โดยในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา หัวเว่ย ประเทศไทย ได้เข้าร่วมสนับสนุนโครงการที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ อาทิเช่น งาน ‘Thailand National Cyber Week’ และ ‘Cyber Defense Initiative Conference’ บริษัทได้ร่วมกับ สกมช. จัดงาน ‘Thailand Cyber Top Talent 2021’ ซึ่งเป็นการแข่งขันด้านความมั่นคงปลอดภัยทาง
ไซเบอร์ครั้งแรกของประเทศไทย มีนักเรียน นักศึกษา และบุคลากรด้านไอทีที่มีความสามารถโดดเด่นจำนวน 800 คน เข้าร่วมแข่งขัน นอกจากนี้ เพื่อตอกย้ำทักษะของทรัพยากรบุคคลด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศไทย หัวเว่ยได้ส่งทีมตัวแทนชาวไทยเข้าร่วมการแข่งขัน ‘Cyber SEA Game 2021’ ที่มีทีมจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนเข้าร่วมแข่งขัน โดยทีมไทยสามารถคว้ารางวัลอันดับหนึ่ง และได้ชื่อว่าเป็นทีมรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ดีที่สุดในอาเซียน
เมื่อต้นปีนี้ ผู้บริหารระดับสูงทางด้านการรักษาความปลอดภัยให้กับโครงสร้างเครือข่ายและความปลอดภัยข้อมูลสารสนเทศ (CISO) จากหัวเว่ย ประเทศไทย ได้สำเร็จหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับผู้บริหาร นอกจากนี้ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก่อนการประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) บริษัทยังได้แบ่งปันความรู้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ ด้วย และเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) กับ สกมช. เพื่อพัฒนาและเร่งทักษะด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์สำหรับบุคลากรไอทีของไทย โดยกำลังดำเนินการตามแผนเพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมอย่างน้อย 4,000 คน ในระยะเวลา 3 ปี ได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้ภาคปฏิบัติผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ e-Lab ของหัวเว่ย ที่มีโครงสร้างพื้นฐานและเวิร์กช็อปการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่สามารถลงมือปฏิบัติได้จริง ครอบคลุมระดับแรงงานในโลกไซเบอร์ 4 ระดับ ได้แก่ ระดับพื้นฐาน ระดับกลาง ระดับสูง และระดับผู้เชี่ยวชาญ
รางวัลบริษัทที่มีผลงานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ดีเด่นแห่งชาติ ของไทย มีขึ้นเพื่อเป็นยกย่องบุคคลและองค์กรที่สรรค์สร้างผลงานอันยิ่งใหญ่ในการยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศ ซึ่งบุคคลและองค์กรดังกล่าวจะได้รับการยอมรับในความมุ่งมั่น ความเป็นผู้นำในสาขาของตน ตลอดจนแนวปฏิบัติและกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ดี ทั้งนี้ หัวเว่ย ประเทศไทย ได้รับการยอมรับจากความพยายามอย่างต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาความท้าทายของเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมถึงการอัปเดตและแบ่งปันโซลูชันการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เป็นนวัตกรรมกับแวดวงวิชาการและหน่วยงานของรัฐ ตลอดจนพันธมิตรของบริษัท
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้แสดงความยินดีกับหัวเว่ย ประเทศไทย และกล่าวถึงความร่วมมือในปัจจุบันกับผู้นำด้านไอทีรายนี้ ในการรับรางวัลล่าสุดว่า “ในโลกดิจิทัลยุคปัจจุบัน การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์และการปกป้องข้อมูลมีความสำคัญต่อการพัฒนาของไทย และช่วยให้ประเทศของเราเดินหน้าสู่ประเทศไทย 4.0 หัวเว่ยเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้และมีความทุ่มเท มีการแบ่งปันประสบการณ์ เทคโนโลยี และมาตรฐานการบ่มเพาะบุคลากรตลอดระยะเวลาการดำเนินงานหลายปี รางวัลนี้สะท้อนถึงความพยายามของบริษัทได้อย่างดีที่สุด”
พลเอกปรัชญา เฉลิมวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวว่า “ความร่วมมือของเรากับหัวเว่ย ประเทศไทย เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างพื้นที่ไซเบอร์ที่น่าเชื่อถือในระดับโลก เรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มอบรางวัล บริษัทที่ให้การสนับสนุนการดำเนินการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศดีเด่นนี้ ให้แก่บริษัทเอกชนที่ยอดเยี่ยมทั้ง 5 ราย รวมถึงหัวเว่ย ในฐานะผู้ให้บริการโซลูชันและบริษัทไอซีทีชั้นนำระดับโลก นอกจากนี้ การร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกรายอย่างเปิดเผย โปร่งใส และมีความรับผิดชอบ จะช่วยให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ทั้งหมดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี”
นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร หัวเว่ย ประเทศไทย กล่าวในพิธีมอบรางวัลว่า “นับเป็นเกียรติอย่างยิ่งของหัวเว่ย ประเทศไทย ที่ได้รับรางวัล “บริษัทที่ให้การสนับสนุนการดำเนินการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศดีเด่น” พร้อมเสริมว่า “หัวเว่ยให้ความสำคัญกับการเป็นหุ้นส่วนในระยะยาว และเรายังคงร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และพันธมิตรที่มีวิสัยทัศน์ร่วมกันในการก้าวไปสู่ประเทศแถวหน้าของยุคดิจิทัล ในขณะเดียวกัน ก็รับประกันระดับการป้องกันความปลอดภัยทางไซเบอร์ขั้นสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เราจะยังคงช่วยยกระดับความตระหนักรู้และแบ่งปันแนวทางปฏิบัติด้านความปลอดภัยที่ดีที่สุด รวมถึงขั้นตอนต่าง ๆ ผ่านโครงการริเริ่มต่าง ๆ เช่น ‘Thailand Cyber Top Talent’ หรือการแข่งขัน ‘Cyber SEA Game’ นอกจากนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย ‘Grow in Thailand, Contribute to Thailand’ ของเรา เราจะพยายามอย่างเต็มที่และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งหมดเพื่อช่วยให้ประเทศไทย ก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 และกลายเป็นศูนย์กลางดิจิทัลที่ปลอดภัยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก”