ในวันที่ 6 มิถุนายน 2565 หัวเว่ย (Huawei) จะจัดการประชุมสุดยอด “เทค ฟอร์ อะ เบทเทอร์ แพลนเน็ต” (Tech for a Better Planet) หรือ เทคโนโลยีเพื่อโลกที่ดีกว่า โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN)
เนื่องจากก๊าซเรือนกระจกกำลังทำให้โลกของเราหายใจไม่ออก ขณะที่สัตว์และพืชมากถึง 1 ล้านสายพันธุ์กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ ในวันสิ่งแวดล้อมโลกปีนี้ โลกของเราจึงเผชิญกับความท้าทายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
การที่ประชากรโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้มีความต้องการพลังงานมากกว่าที่เคย โดยการใช้พลังงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นราว 1-2% ทุกปี ขณะเดียวกัน การใช้เทคโนโลยีอย่างแพร่หลายมากขึ้นก็เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2563 สมาร์ทโฟนปล่อยคาร์บอนคิดเป็นสัดส่วน 1% ของทั่วโลก แต่ตัวเลขดังกล่าวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.5% ภายในสิบปี เช่นเดียวกับทราฟฟิกในเครือข่ายโทรคมนาคมที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นห้าเท่าในช่วงปี 2561-2567 โดยคาดว่าประชากรโลกแต่ละคนจะสร้างข้อมูลเทียบเท่ากับการอัปโหลดรูปภาพ 6,700 รูปต่อวัน
ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่า เทคโนโลยีกำลังช่วยโลกหรือทำร้ายโลกกันแน่ และเราสามารถพลิกกระแสการทำลายสิ่งแวดล้อมโดยอาศัยเทคโนโลยีได้หรือไม่
สิ่งที่ควรทำต่อจากนี้คือ การให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในภาคเทคโนโลยี รวมถึงการส่งต่อนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เราสร้างสรรค์ขึ้นให้กับภาคส่วนอื่น โดยนวัตกรรมสีเขียวตั้งแต่เครือข่ายการสื่อสารสีเขียวไปจนถึงดาต้าเซ็นเตอร์สีเขียวสามารถสร้างความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญต่อการปล่อยคาร์บอนของธุรกิจทั่วโลก เราคาดการณ์ว่าการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ สามารถลดการใช้พลังงานได้ราว 20% ภายในปี 2573 ซึ่งเป็นการชดเชยคาร์บอนมากกว่าการใช้พลังงานในอุตสาหกรรมไอซีทีถึงสิบเท่า
อย่างไรก็ตาม การใช้พลังงานเพิ่มขึ้นไม่ใช่แค่ภัยคุกคามเดียวที่โลกของเรากำลังเผชิญ ปัจจุบัน ป่าฝนทั่วโลกมีความสามารถในการดูดซับคาร์บอนจากบรรยากาศลดลงอย่างรวดเร็วตามจำนวนพื้นที่ป่าที่ลดลง ส่งผลให้แหล่งดูดซับคาร์บอนลดลง เกิดผลกระทบแบบโดมิโนต่อถิ่นที่อยู่ของสัตว์และพืช และสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
ในส่วนของการอนุรักษ์ธรรมชาติ เราต้องพัฒนาแนวทางที่สามารถทำความเข้าใจระบบนิเวศทั่วโลกและกำหนดมาตรการคุ้มครองที่มีประสิทธิภาพร่วมกัน เราได้ร่วมมือกับพันธมิตรหลายราย ซึ่งรวมถึงองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) และเรนฟอเรสต์ คอนเนกชัน (Rainforest Connection) ในการพัฒนาโซลูชันภายใต้โครงการเทคฟอร์เนเจอร์ (Tech4Nature) และเทคฟอร์ออล (TECH4ALL) เพื่ออนุรักษ์ระบบนิเวศทั่วโลก ตั้งแต่ป่าฝน ภูเขา ที่ราบสูง พื้นที่ชุ่มน้ำ แม่น้ำ ไปจนถึงมหาสมุทร
ยกตัวอย่างเทคโนโลยีกล้องอินฟราเรดที่มีความสามารถในการวิเคราะห์ด้วยคลาวด์เอไอ ซึ่งช่วยติดตามและสังเกตการณ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ รวมถึงสุนัขจิ้งจอกดาร์วินและชะนีไห่หนาน
เทคโนโลยีอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกันนี้ได้ช่วยฟื้นฟูแนวปะการังในมหาสมุทรอินเดีย และป้องกันสัตว์ชนิดพันธุ์รุกรานไม่ให้ทำลายล้างประชากรแซลมอนในมหาสมุทรแอตแลนติกในยุโรป ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีหาแหล่งกำเนิดเสียงด้วยเอไอที่ติดตั้งไว้ตามต้นไม้ยังสามารถตรวจจับเสียงเลื่อยยนต์และรถบรรทุกของพวกลักลอบตัดไม้อย่างผิดกฎหมายในพื้นที่ป่าฝน และส่งสัญญาณแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ไปยังเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในพื้นที่ ข้อมูลจากสหประชาชาติระบุว่า การตัดไม้ 90% เป็นการตัดไม้แบบผิดกฎหมาย และป่าฝน 64% ของทั้งหมดถูกทำลายหรือทำให้เสียหายนับตั้งแต่ก่อนยุคอุตสาหกรรม
ความร่วมมือเพื่อการอนุรักษ์
ในขณะที่เทคโนโลยีช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติและการบรรลุเป้าหมายคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ สิ่งที่จะทำให้เกิดผลสำเร็จได้จริงคือความร่วมมือ ดังนั้น ในวันที่ 6 มิถุนายน หรือหนึ่งวันหลังวันสิ่งแวดล้อมโลก หัวเว่ยจะจัดการประชุมสุดยอด “เทค ฟอร์ อะ เบทเทอร์ แพลนเน็ต” (Tech for a Better Planet) หรือ เทคโนโลยีเพื่อโลกที่ดีกว่า โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) โดยพันธมิตรของเราจะมาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับบทบาทของเทคโนโลยีในการปกป้องและฟื้นฟูโลกของเราที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก รวมถึงโครงการต่าง ๆ ที่มีการกล่าวถึงในที่นี้
เพราะท้ายที่สุดแล้ว โลกของเราก็มีแค่ใบเดียว
ลงทะเบียนเข้าร่วมการประชุมออนไลน์ได้ที่ https://www.huawei.com/en/tech4all/news-and-events/events/environment-day-2022
รูปภาพ – https://mma.prnewswire.com/media/1827786/Endemic_Chile_facing_threats_1_000_Darwin_s_foxes_remain.jpg
คำบรรยายภาพ – สุนัขจิ้งจอกดาร์วินเป็นสัตว์ที่พบเฉพาะในประเทศชิลีและเผชิญภัยคุกคามมากมาย ส่งผลให้ประชากรลดลงเหลือไม่ถึง 1,000 ตัว