มหาวิทยาลัยชิงหัวและธนาคารพัฒนาเอเชียเรียกร้องยกระดับแนวทางแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐานในเอเชีย

ภายในเวลาไม่ถึงสามสัปดาห์หลังปิดฉากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP27) ที่ประเทศอียิปต์ การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 (CBD COP15) ก็ได้เปิดฉากขึ้นที่เมืองมอนทรีออล โดยวาระการประชุมของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพมีความทับซ้อนกันมากขึ้น สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างสองประเด็นและความต้องการแนวทางแก้ปัญหาแบบบูรณาการ

สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งมหาวิทยาลัยชิงหัว (Institute of Climate Change and Sustainable Development at Tsinghua University หรือ ICCSD) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asia Development Bank หรือ ADB) ได้ร่วมกันเรียกร้องให้พัฒนาแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับแนวทางแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solutions หรือ NbS) ทั่วภูมิภาคเอเชีย ในการประชุม CBD COP15

“เส้นทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนคือการปฏิวัติอย่างเป็นระบบที่เกี่ยวข้องกับสังคมโดยรวมทั้งหมด ดังนั้นความเป็นกลางทางคาร์บอนจึงอยู่เหนือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแนวทางแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐานควรไปไกลกว่าการกักเก็บคาร์บอนเพียงอย่างเดียว” ดร.หวัง ปินปิน (WANG Binbin) หัวหน้า C+NbS ของ ICCSD และเลขาธิการบริหารของพันธมิตรมหาวิทยาลัยโลกว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ (Global Alliance of Universities on Climate หรือ GAUC) กล่าว

ตามนิยามที่กำหนดไว้ในการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Assembly) เมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ แนวทางแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐานหมายถึง “การดำเนินการเพื่อปกป้อง อนุรักษ์ ฟื้นฟู ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และจัดการระบบนิเวศบนบก น้ำจืด ชายฝั่ง และทะเลตามธรรมชาติหรือดัดแปลง เพื่อจัดการกับความท้าทายทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพและปรับเปลี่ยนได้ พร้อมกับสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับมนุษย์ สร้างบริการจากระบบนิเวศ และสร้างประโยชน์ด้านความยืดหยุ่นและความหลากหลายทางชีวภาพ”

ICCSD และ ADB ได้ร่วมกันจัดการประชุมย่อยในหัวข้อ “เส้นทางสร้างสรรค์สู่อนาคตที่เป็นกลางทางคาร์บอน” (Innovative Pathway towards the Carbon Neutral Future) โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้มีการสำรวจศักยภาพของธรรมชาติมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนจากมุมมองของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศ ดิฉันมองว่าพลังงานหมุนเวียนทั้งหมดมาจากทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้นหากเราเห็นพ้องต้องกันว่าพลังงานหมุนเวียนคือทางออกสู่อนาคตคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ พลังงานหมุนเวียนก็ถือเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน” ดร.หวังเน้นย้ำ “เราควรส่งเสริมมุมมองที่บูรณาการและสอดประสานกัน”

เพื่อใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งของธรรมชาติในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ICCSD ได้จัดตั้งแพลตฟอร์ม C+NbS ร่วมกับพันธมิตรทั่วโลกมากกว่า 400 ราย และดำเนินการศึกษาติดตามแนวปฏิบัติระดับโลกมาตั้งแต่ปี 2562 ทันทีที่ปิดฉากการประชุมสุดยอดว่าด้วยการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action Summit) ที่นิวยอร์ก ซึ่งจีนและนิวซีแลนด์ได้รับเชิญให้เป็นผู้นำกลุ่มพันธมิตรแนวทางแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐานนี้ โดยได้ดำเนินการวิจัยเพื่อสร้างฐานข้อมูลที่ประกอบด้วยกรณีศึกษาทั่วโลก 300 กรณี จากนั้นกำหนดเกณฑ์การประเมินโดยพิจารณาจากแนวทางของอารยธรรมทางนิเวศวิทยา นั่นคือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) โดยอ้างอิงมาตรฐานสากลขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN)

“เราสรุปตัวบ่งชี้การคัดกรองเบื้องต้น 6 รายการ และมิติการประเมินเชิงลึก 3 รายการ ในการคัดเลือกกรณีศึกษาที่ดี 28 กรณีจากฐานข้อมูล เพื่อแนะนำให้เผยแพร่ในการประชุม CBD COP15 ช่วงที่ 1 ที่นครคุนหมิง” ดร.หวังกล่าว “ในขั้นตอนต่อไป ขอบเขตการวิจัยจะถูกจำกัดให้แคบลงสู่ระดับภูมิภาค เพื่อให้สามารถค้นหากรณีศึกษาเชิงปฏิบัติที่ทันสมัยที่สุดและเป็นแบบอย่างได้แม่นยำยิ่งขึ้น”

นอกจากนี้ ICCSD ยังจับมือกับ ADB ในการสร้างฐานข้อมูลแนวทางแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian NbS) เพื่อทำการวิเคราะห์เชิงลึกแนวปฏิบัติต่าง ๆ ทั่วทั้งภูมิภาค โดยทุกองค์กรที่มีแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องในเอเชียสามารถส่งกรณีของตนมาที่อีเมล iccsd@tsinghua.edu.cn ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2566 ทั้งนี้ รายงานการวิจัยจะเผยแพร่ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 ที่ดูไบ

การประชุมย่อยครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่าง ICCSD กับ ADB โดยตัวแทนจากองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติ (The Nature Conservancy หรือ TNC), เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (World Economic Forum) และไคลเอนท์เอิร์ท (ClientEarth) ร่วมด้วยยุวทูตจาก GAUC ได้แลกเปลี่ยนงานวิจัยและความก้าวหน้าเชิงปฏิบัติในสาขานี้ระหว่างการประชุม

คุณหลี่ เจิง (LI Zheng) ประธานของ ICCSD กล่าวว่า “เรามีความมั่นใจที่จะสำรวจแนวทางแก้ปัญหาที่เป็นนวัตกรรมมากขึ้นเพื่ออนาคตที่เป็นกลางทางคาร์บอน ด้วยการสนับสนุนที่แข็งแกร่งและเครือข่ายของ ADB ในเอเชีย”

“ธรรมชาติถูกมองว่าเป็นกุญแจสำคัญในการรับมือกับวิกฤตเร่งด่วนที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังเผชิญอยู่ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และความไม่มั่นคงทางอาหาร” คุณจาง ฉิงเฟิง (ZHANG Qingfeng) ประธานคณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อมของ ADB กล่าว พร้อมกับเผยว่า ADB ยังสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) เพื่อปลดล็อกศักยภาพของธรรมชาติอีกด้วย

รูปภาพ – https://mma.prnewswire.com/media/1965227/The_side_event_attracted_leading_experts_world.jpg
คำบรรยายภาพ – การประชุมย่อยดึงดูดผู้เชี่ยวชาญชั้นนำจากทั่วโลก