“ภูกามยาวโมเดล” นำร่องเป็นพื้นที่ปลูกฟ้าทลายโจร สร้างรายได้เพื่อความเข้มแข็งของชุมชน อย่างยั่งยืน
วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน 2565 ผู้บริหารมหาวิทยาลัยพะเยา นำโดย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ศาสตราจารย์ ดร.เสมอ ถาน้อย พร้อมด้วยผู้บริหาร ลงพื้นที่โครงการการสร้างเครือข่ายงานเชิงพื้นที่ “ภูกามยาวโมเดล” โดยได้รับเกียรติจาก ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ว่าที่ร้อยตรี ณรงค์ โรจนโสทร ร่วมปลูกสมุนไพรฟ้าทะลายโจรอำเภอเชียงม่วน กับ ศาสตราจารย์ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เภสัชกรยิปซี ผู้คิดค้นยาต้านเชื้อไวรัสเอดส์ของประเทศไทย และของโลก ” ณ สวนสาธารณะดงก้นฝาย อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา
มูลนิธิกฤษณา ไกรสินธุ์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยพะเยา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยบริษัท ทิปโก้ ไบโอเทค จำกัด ลังกาสุกะโมเดล จังหวัดนราธิวาส สามหมื่นโมเดล จังหวัดตาก ศูนย์เครื่องมือกลาง สถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยพะเยา ศูนย์การเรียนรู้พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร สถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยพะเยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา กองบริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยพะเยา และ พื้นที่จังหวัดพะเยา ได้แก่อำเภอภูซาง อำเภอปง อำเภอเชียงม่วน อำเภอภูกามยาว และอำเภอจุน ได้ดำเนินงานพื้นที่นำร่องปลูกพืชสมุนไพร(ภูกามยาวโมเดล) ในพื้นที่จังหวัดพะเยา ซึ่งได้มีการดำเนินการนำร่องปลูกพืชสมุนไพรฟ้าทะลายโจรในพื้นที่ดังกล่าว โดยใช้เมล็ดพันธุ์จากภาคใต้ ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 2-5 พฤศจิกายน 2565
จากการได้ผลผลิตเบื้องต้นแล้วพบว่า ฟ้าทะลายโจรที่ได้จากการปลูก มีสารสำคัญในการออกฤทธิ์สูง จึงจะมีการขยายการปลูกไปยังพื้นที่อื่นในจังหวัดพะเยา และจะมีการนำวัตถุดิบสมุนไพรส่งแปรรูปที่มหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งมีศักยภาพและความพร้อมในด้านบุคลากร องค์ความรู้ เครื่องมือ สำหรับการผลิตสมุนไพรคุณภาพ จึงได้ทำโครงการพัฒนาศักยภาพการแปรรูปวัตถุดิบสมุนไพรเบื้องต้นขึ้น เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดพะเยา เกิดผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพโดยใช้ฟ้าทะลายโจรเป็นต้นแบบ เกิดการสร้างรายได้ สร้างอาชีพเสริม ให้กับกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดพะเยาประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ชุมชนเข้มแข็ง ทำให้ชุมชนได้ตระหนักถึงประโยชร์จากการใช้สมุนไพรที่มีคุณภาพ และเกิดพื้นที่ต้นแบบการผลิตสมุนไพรคุณภาพต่อไป