จากการที่เศรษฐกิจทั่วโลกประสบภาวะวิกฤตจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการดำเนินธุรกิจและการจ้างงานของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับทางอุตสาหกรรมจำนวนมาก ประเทศไทยต้องสูญเสียรายได้กว่า 2 ล้านล้านบาท คาดว่าวิกฤตการดังกล่าวจะทำให้เกิดการว่างงาน จำนวน 1 แสนคน โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ การนี้ เพื่อกระตุ้นภาวะวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศไทย ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จึงได้จัดทำมาตรการสำคัญสนองตามนโยบายรัฐบาลด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ จัดตั้ง “โครงการฝึกอบรมเพื่อชะลอการว่างงานในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์” ขึ้น โดยมีสถาบันการศึกษา 12 สถาบัน ระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา เข้าร่วมเป็นคณะทำงานจับคู่กับ ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ร่วมขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวสู่เป้าหมาย
สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ในฐานะของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการสร้างบุคลากรมืออาชีพที่พร้อมทำงานได้ทันที อีกทั้งมีความพร้อมด้านองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญ บุคลากรทางการศึกษาในสายวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีเฉพาะทางในหลายแขนง ได้จับคู่การจัดอบรมร่วมกับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เพื่อมุ่งส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพให้กับบุคคลกลุ่มเป้าหมายที่ตรงกับความต้องการที่ร่วมโครงการฯ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ในมิติของบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ได้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน บุคลากรที่มีทักษะใหม่พร้อมทำงานสอดคล้องกับอุตสาหกรรม 4.0 สร้างความแข็งแรงและความพร้อมให้ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์หลังวิกฤต COVID-19 ต่อไป
การเปิดโครงการฝึกอบรมเพื่อชะลอการว่างงานของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ รุ่นที่ 1 ดำเนินการผ่านรูปแบบการอบรมออนไลน์ ได้รับเกียรติจาก ดร.สมชัย ไทยสงวนวรกุล ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) และ ประธานเครือข่ายอุตสาหกรรมเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี อินดัสเทรียล ฟอรั่ม) คุณศราวุธ รัตนพันธ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และ รศ.ดร.พิสิษฐ์ ชาญเกียรติก้อง คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ในการให้รายละเอียดเกี่ยวกับหลักสูตรดังกล่าว มีแผนการอบรมให้แก่บุคลากรด้านยานยนต์ที่ผ่านการคัดเลือก ในระดับผู้บริหาร วิศวกรโรงงาน และช่างผู้ปฏิบัติงาน จำนวนกว่า 900 ราย เป็นการอบรมระยะสั้นที่ใช้เวลา 15 วัน ต่อรุ่น ตลอดระยะเวลาของโครงการฯ ระหว่างเดือนกันยายน ถึง เดือนธันวาคม 2564 ใน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับผู้บริหารและผู้จัดการ (Supervisor) ระดับวิศวกรและผู้ปฏิบัติการ (Operator) ระดับพนักงานและแรงงาน (Worker) ในการเพิ่มทักษะที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ โดยมี สถาบันยานยนต์ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และสถาบันไทย-เยอรมัน เป็นเครือข่ายพันธมิตรช่วยสนับนุนการดำเนินการอบรมครั้งนี้ด้วย โดยเริ่มต้นการอบรมครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22-23 กันยายน 2564 เป็นที่เรียบร้อย
ด้าน ดร.ธันยวัต สมใจทวีพร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรมเพื่อชะลอการว่างงานของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เสริมว่า โครงการอบรมดังกล่าวนี้ มีเป้าหมายให้บุคลากรจำนวน 9,500 คน ผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรระยะสั้นและสามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีแพลตฟอร์มอุตสาหกรรม 4.0 ได้ ผู้ที่เข้าร่วมอบรมจะได้รับประกันการจ้างงาน 1 ปี โดยคาดว่าผลลัพธ์จะสามารถลดโครงสร้างต้นทุนการผลิตด้านแรงงานประมาณ 38% นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ประเมินการรักษามูลค่าในห่วงโซ่อุปทานการผลิตยานยนต์ได้ราว 14,450 ล้านบาท
โครงการฝึกอบรมเพื่อชะลอการว่างงานของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ มีแผนดำเนินโครงการฯ เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยวิทยากรมืออาชีพร่วมให้ความรู้ อาทิ รองศาสตราจารย์ ดร. ไพฑูรย์ ศิริโอฬาร หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการและการผลิตอัจฉริยะ, ผศ.ดร. จุฑาทิพย์ ลีลาธนาพิพัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการและการผลิตอัจฉริยะ และ ดร. ภาคภูมิ ปฐมภาคย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม ผ่านการบรรยายและบูรณาการร่วมไปกับเชิงปฏิบัติการ การทดลองและการสาธิตเสมือนจริง(Simulation) ในรูปแบบออนไลน์เพื่อร่วมสนับสนุนการดำเนินโครงการฯ ให้เกิดประสิทธิผลอย่างสูงสุด ผู้อบรมจะได้เพิ่มเติมองค์ความรู้ ความสามารถผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรระยะสั้น พร้อมนำไปใช้ในการปฏิบัติงานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ