หลังโลกก้าวเข้าสู่ปีใหม่ ผลการจัดอันดับดัชนีพาสปอร์ตของเฮนลี่ย์ (Henley Passport Index) ครั้งล่าสุดก็ได้รับการเปิดเผย เพื่อนำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจเกี่ยวกับทิศทางของโลกที่ถูกกำหนดด้วยการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ธรรมดา พร้อมเปิดเผยให้เห็นสิ่งที่รออยู่เบื้องหน้า นับเป็นปีที่ 5 ติดต่อกันแล้วที่ญี่ปุ่นครองแชมป์พาสปอร์ตทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association หรือ IATA) และจัดอันดับ 199 พาสปอร์ตทั่วโลกตามจำนวนจุดหมายปลายทางที่ผู้ถือพาสปอร์ตนั้นสามารถเดินทางไปได้โดยไม่ต้องขอวีซ่ามาก่อน
ปัจจุบัน พลเมืองญี่ปุ่นสามารถเดินทางสู่จุดหมาย 193 แห่ง จากทั้งหมด 227 แห่งทั่วโลกโดยไม่ต้องขอวีซ่า (visa-free) หรือขอรับการตรวจลงตราที่ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (visa-on-arrival) ในขณะที่เกาหลีใต้และสิงคโปร์ที่รั้งอันดับ 2 ร่วม สามารถเดินทางสู่จุดหมาย 192 แห่งโดยไม่ต้องขอวีซ่า ส่วนเยอรมนีและสเปนที่ครองอันดับ 3 ร่วม สามารถเดินทางสู่จุดหมาย 190 แห่งทั่วโลกโดยไม่ต้องขอวีซ่า ขณะที่สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกายังคงอยู่ในอันดับที่ 6 และ 7 โดยสามารถเดินทางสู่จุดหมาย 187 และ 186 แห่งตามลำดับ และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะกลับมาทวงอันดับสูงสุดที่เคยครองร่วมกันเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว
อัฟกานิสถานยังคงอยู่ในอันดับรั้งท้ายในการจัดอันดับดัชนีพาสปอร์ตของเฮนลี่ย์ โดยสามารถเดินทางโดยไม่ต้องขอวีซ่าสู่จุดหมายเพียง 27 แห่ง ซึ่งห่างจากอันดับ 1 อย่างญี่ปุ่นถึง 166 แห่ง นับเป็นช่องว่างด้านการเดินทางที่กว้างที่สุดในประวัติศาสต์ 18 ปีของดัชนี ในโอกาสนี้ ดร. คริสเตียน เอช. เคลิน (Dr. Christian H. Kaelin) ประธานของเฮนลี่ย์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส (Henley & Partners) กล่าวว่า ผลวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างการเดินทางโดยไม่ต้องขอวีซ่ากับการเข้าถึงเศรษฐกิจโลก เผยให้เห็นว่าอำนาจของพาสปอร์ตมีความหมายอย่างไรในแง่ของการเงินที่เป็นรูปธรรม “สำหรับพลเมืองโลก วิธีการวัดความคล่องตัวทางเศรษฐกิจและโอกาสทางการเงินอันเป็นผลมาจากพาสปอร์ตก็คือ การดูสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ของจีดีพีโลกที่พวกเขาสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า ซึ่งผลวิจัยล่าสุดของเราเกี่ยวกับความสามารถในการเข้าถึงเศรษฐกิจโลกของพาสปอร์ต ถือเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์สำหรับนักลงทุนและให้ข้อมูลเชิงลึกใหม่เกี่ยวกับช่องว่างความไม่เท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งที่กว้างขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยกำหนดโลกของเรา”
ความเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างอิทธิพลของพาสปอร์ตกับอำนาจทางเศรษฐกิจ
ในเศรษฐกิจระดับมหภาค ผลการศึกษาใหม่ล่าสุดจากเฮนลี่ย์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส เผยให้เห็นว่า มีพาสปอร์ตเพียง 6% ทั่วโลกที่ทำให้ผู้ถือเข้าถึง 70% ของเศรษฐกิจโลกโดยไม่ต้องขอวีซ่า และมีพาสปอร์ตเพียง 17% ที่ทำให้ผู้ถือเดินทางสู่จุดหมายเกิน 4 ใน 5 ของจุดหมาย 227 แห่งทั่วโลกได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า
พาสปอร์ตของญี่ปุ่นมอบสิทธิ์ในการเข้าถึงจุดหมายได้ 85% ของทั่วโลกโดยไม่ต้องขอวีซ่า และประเทศเหล่านี้มีสัดส่วนคิดเป็น 98% ของเศรษฐกิจโลก (สัดส่วนจีดีพีของญี่ปุ่นอยู่ที่ราว 5% ในจำนวนดังกล่าว) ในทางกลับกัน พาสปอร์ตของไนจีเรียซึ่งอยู่ในอันดับล่างของดัชนี ทำให้ผู้ถือเข้าถึงจุดหมายโดยไม่ต้องขอวีซ่าได้เพียง 46 แห่ง (20% ของโลก) ซึ่งคิดเป็นเพียง 1.5% ของจีดีพีโลก ขณะที่พาสปอร์ตของอัฟกานิสถานซึ่งอยู่อันดับรั้งท้าย ทำให้พลเมืองเข้าถึงจุดหมายโดยไม่ต้องขอวีซ่าได้เพียง 12% ของโลก ซึ่งน้อยกว่า 1% ของจีดีพีโลก
ดร. อารีฟ สุเลมาน (Dr. Areef Suleman) ผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยเศรษฐกิจและสถิติ สถาบันธนาคารเพื่อการพัฒนาอิสลาม (Islamic Development Bank Institute) กล่าวว่า การเดินทางข้ามประเทศโดยไม่ต้องขอวีซ่าเพื่อเข้าถึงเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงเฉพาะของประเทศหรือเขตอำนาจศาลสำหรับบรรดานักลงทุน “โดยทั่วไปแล้ว การเข้าถึงผลผลิตทางเศรษฐกิจทั่วโลกได้มากขึ้นนับเป็นข้อได้เปรียบ เนื่องจากเป็นการช่วยขยายตะกร้าสินค้าที่แต่ละบุคคลสามารถเข้าถึงได้ แม้ว่าสิ่งนี้จะสามารถทำได้ด้วยการค้าระหว่างประเทศ แต่การเข้าถึงทางกายภาพนั้นดีกว่ามาก เพราะครอบคลุมถึงการใช้บริการที่ไม่สามารถส่งออกได้ เช่น การศึกษาและการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพดีกว่า”
ในแง่สัดส่วนเปอร์เซ็นต์ของจีดีพีโลก สหรัฐอเมริกาและจีนมีส่วนแบ่งมากที่สุดที่ 25% และ 19% ตามลำดับ แต่ผู้ถือพาสปอร์ตของอเมริกาเข้าถึงได้อีก 43% ของผลผลิตทางเศรษฐกิจทั่วโลกโดยไม่ต้องขอวีซ่า ทำให้มีสัดส่วนโดยรวมคิดเป็น 68% ขณะที่ผู้ถือพาสปอร์ตจีนเข้าถึงได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าเพิ่มอีกเพียง 7% ทำให้มีสัดส่วนโดยรวมคิดเป็นเพียง 26% ของจีดีพีโลก
อีกหนึ่งตัวอย่างการเปรียบเทียบคือ เกาหลีใต้และรัสเซียซึ่งมีจีดีพีใกล้เคียงกันที่ราว 1.9% ของผลผลิตทางเศรษฐกิจทั่วโลก แต่เกาหลีใต้เดินทางสู่จุดหมายได้ถึง 192 แห่งโดยไม่ต้องขอวีซ่า ช่วยให้ผู้ถือพาสปอร์ตเข้าถึง 81% ของจีดีพีโลก ขณะที่รัสเซียเดินทางสู่จุดหมายได้ 118 แห่งโดยไม่ต้องขอวีซ่า ซึ่งเข้าถึงได้เพียง 19% ของเศรษฐกิจโลก ส่วนอินเดียยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ แม้จะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก แต่ผู้ถือพาสปอร์ตอินเดียเข้าถึงจุดหมายโดยไม่ต้องขอวีซ่าได้เพียง 59 แห่ง และเพียง 6.8% ของจีดีพีโลก ซึ่งจีดีพีของอินเดียเองมีสัดส่วนราวครึ่งหนึ่งในจำนวนดังกล่าว
ศาสตราจารย์ เทรเวอร์ วิลเลียมส์ (Prof. Trevor Williams) อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของลอยด์ส แบงก์ คอมเมอร์เชียล แบงกิ้ง (Lloyd’s Bank Commercial Banking) ระบุว่า งานวิจัยฉบับนี้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่เป็นเหตุเป็นผลระหว่างความสามารถในการเดินทาง การลงทุนจากต่างประเทศในประเทศใดประเทศหนึ่ง การค้าที่เพิ่มขึ้น และการเติบโตทางเศรษฐกิจ “ความเชื่อมโยงเหล่านี้ช่วยหนุนและเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ผู้ที่มีทักษะและความสามารถจะไปในที่ที่สามารถทำงาน ลงทุน และท่องเที่ยวได้ ซึ่งดึงดูดให้ผู้อื่นต้องการทำเช่นเดียวกันและสร้างวงจรบวก”
สงครามในยูเครน: คลื่นกระแทกยังดำเนินต่อไป
สงครามยูเครนยังไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อคะแนนดัชนีพาสปอร์ตของเฮนลี่ย์ของรัสเซียและยูเครน โดยทั้งสองประเทศยังคงรักษาตำแหน่งเดิม “ในรายงาน” นับตั้งแต่เหตุการณ์อุบัติขึ้นเมื่อเกือบหนึ่งปีที่แล้ว ปัจจุบัน รัสเซียรั้งอันดับ 49 โดยผู้ถือพาสปอร์ตเข้าถึงจุดหมายโดยไม่ต้องขอวีซ่าได้ 118 แห่ง ขณะที่ยูเครนอยู่เหนือขึ้นมา 13 อันดับ ที่อันดับ 36 ด้วยจุดหมาย 144 แห่ง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการปิดน่านฟ้าและมาตรการคว่ำบาตร พลเมืองรัสเซียจึงถูกห้ามไม่ให้เดินทางไปยังประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และตุรกี ซึ่งกลายเป็นจุดที่ได้รับความสนใจ
ในทางกลับกัน ชาวยูเครนได้รับสิทธิในการพำนักและทำงานในสหภาพยุโรปได้นานสูงสุด 3 ปี ภายใต้แผนฉุกเฉินเพื่อตอบสนองต่อวิกฤตผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่ที่สุดของยุโรปในศตวรรษนี้ โดยยูเครนเป็นหนึ่งในประเทศที่ไต่อันดับมากที่สุดในดัชนีพาสปอร์ตของเฮนลี่ ด้วยการไต่ขึ้นมา 24 อันดับในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่ายูเครนอาจติด 10 อันดับพาสปอร์ตทรงอิทธิพลที่สุดในโลกหากได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป โดยการเจรจาเพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกจะเริ่มขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า หลังจากยูเครนได้รับสถานะผู้สมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว
มิชา เกลนนี (Misha Glenny) นักเขียนและนักข่าวด้านการเงินแถวหน้าของวงการ กล่าวว่า ยากที่จะประเมินว่าความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่จะครอบงำการเมืองและเศรษฐกิจโลกอย่างไรในปี 2566 “นี่คือสงครามภาคพื้นดินที่รุนแรง โดยประเทศหนึ่งครอบครองหัวรบนิวเคลียร์มากกว่าประเทศอื่นใดในโลก ขณะที่เศรษฐกิจรัสเซียและยูเครนมีอิทธิพลอย่างมากต่อสองภาคส่วนสำคัญของเศรษฐกิจโลก นั่นคือ พลังงานและเกษตรกรรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการพุ่งขึ้นของราคา จนทำภาวะเงินเฟ้อที่เคยควบคุมได้ตกอยู่ในอันตราย”
ในขณะที่ประเทศในเอเชียยังคงครองอันดับสูงในดัชนี แต่พาสปอร์ตของรัฐอ่าวอาหรับก็ทรงอิทธิพลมากขึ้นในปีนี้ โดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไต่อันดับขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ถึง 49 อันดับในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากอันดับ 64 ในปี 2556 ด้วยการเดินทางแบบไม่ต้องขอวีซ่าไปยังจุดหมาย 72 แห่ง สู่อันดับ 15 ในปัจจุบัน ด้วยจุดหมาย 178 แห่ง และเข้าถึงได้เกือบ 70% ของจีดีพีโลก ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าคูเวตและกาตาร์จะลงนามในข้อตกลงปลอดวีซ่ากับสหภาพยุโรปในปีนี้ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศเหล่านี้มีคะแนนดัชนีพาสปอร์ตของเฮนลี่ย์เพิ่มขึ้นอย่างมาก
ดาวน์โหลดข่าวประชาสัมพันธ์ฉบับเต็มได้ที่ https://www.henleyglobal.com/newsroom/press-releases/2023-passport-index-global-mobility-q1