ORS ย่อมาจาก Oral Rehydration Salts คือ ผงน้ำตาลเกลือแร่สูตรมาตรฐาน มีกระบวนการผลิตไม่ซับซ้อน เป็นยาพื้นฐานที่มีความปลอดภัยสูงซึ่งเด็กเล็กสามารถดื่มเพื่อรักษาอาการท้องเสียได้ โดยองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ได้ประมาณว่าก่อนที่จะมีการใช้ผงน้ำตาลเกลือแร่ในการรักษา เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีทั่วโลกป่วยเป็นโรคอุจจาระร่วงและเสียชีวิตราว 5 ล้านคนต่อปี แต่ภายหลังจากการใช้ผงน้ำตาลเกลือแร่รักษา สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ปีละมากกว่า 3 ล้านคน ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากในการช่วยชีวิตผู้ป่วยจากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่1 ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของ ORS และเพื่อป้องกันการเสียชีวิตจากโรคท้องร่วงเฉียบพลันและการสูญเสียน้ำ จึงมีการสถาปนาวัน ORS โลก หรือ World ORS Day ขึ้น ในวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี2
โรคท้องร่วงเฉียบพลัน เป็นโรคที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ จากข้อมูลสถิติโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในปี พ.ศ. 2564 ยังมีผู้ป่วยโรคท้องร่วงเฉียบพลันโดยประมาณ 500,000 ราย จากประชากร 66 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป รองลงมา คือ กลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 4 ปี และผู้ที่มีอายุ 25-34 ปี3 ซึ่งการเจ็บป่วยย่อมทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจไม่น้อย โดยเฉพาะรายที่มีภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แม้ว่าโรคท้องร่วงเฉียบพลันจะเป็นโรคที่ไม่รุนแรง แต่หากรักษาไม่ทันท่วงทีย่อมทำให้เกิดภาวะขาดน้ำและสูญเสียสมดุลแร่ธาตุ ที่เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต ดังนั้น “การป้องกันและรักษาภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ที่ถือเป็นมาตรฐานของการรักษาโรคท้องร่วงเฉียบพลัน จึงเป็นการใช้สารละลายของผงน้ำตาลเกลือแร่สูตรมาตรฐาน หรือ ORS ได้รับการรับรองและแนะนำโดยองค์การอนามัยโลกและองค์การยูนิเซฟ”
ทำไมต้องระวังและเลือกใช้เกลือแร่รักษาอาการท้องเสียให้ถูกต้อง?
หลายคนมักเข้าใจผิดว่าหากท้องเสียแต่ไม่มี ORS สามารถใช้น้ำอัดลมเติมเกลือ หรือ เกลือแร่สำหรับออกกำลังกาย (sport drinks) หรือน้ำผลไม้ แทนได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด!!! เนื่องจากเครื่องดื่มประเภทนี้ไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในผู้ป่วยท้องเสีย เพราะมีค่าความเข้มข้นของสารละลายสูง (ค่า osmolarity) และมีเกลือแร่ต่ำ ไม่เพียงพอต่อการทดแทนการสูญเสียเกลือแร่ทางลำไส้ได้ อีกทั้งมีน้ำตาลในปริมาณสูงจึงส่งผลให้สูญเสียน้ำทางลำไส้ได้มากขึ้นและทำให้อาการท้องเสียแย่ลงได้ ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงแนะนำให้ “จิบเกลือแร่ ORS ห้ามใช้เกลือแร่สำหรับออกกำลังกาย ในการรักษาอาการท้องเสีย”4
ORS ที่ใช้ในปัจจุบันมี 2 ชนิด คือ WHO-ORS และ RO-ORS อย่างไรก็ตาม WHO-ORS จะมีความเข้มข้นของโซเดียม และกลูโคสค่อนข้างสูง ทำให้มีความเข้มข้นของสารละลาย 311 mOsm/L (ค่า osmolarity) ซึ่งอาจสูงเกินไปสำหรับผู้ป่วยบางราย เมื่อรับประทานเข้าไปจะยิ่งดูดซึมน้ำ ทำให้ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำมากขึ้นได้ จึงได้มีการพัฒนาสูตรตำรับผงน้ำตาลเกลือแร่ให้มีประโยชน์และความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นเป็นสูตร RO-ORS หรือ Reduced Osmolarity ORS Solution ซึ่งมีการปรับความเข้มข้นของโซเดียม กลูโคส และคลอไรด์ให้ต่ำลง ทำให้ได้ความเข้มข้นเท่ากับ 245 mOsm/L ซึ่งจากรายงานการวิจัยพบว่า RO-ORS ช่วยลดปริมาณอุจจาระลง 20% ลดการอาเจียนลง 30% ลดการรักษาด้วยสารน้ำทางหลอดเลือดลง 40% และช่วยลดโอกาสที่ผู้ป่วยต้องเข้ารักษาตัวในสถานพยาบาล รวมทั้งลดอัตราการตายได้ เมื่อเทียบกับ WHO-ORS อย่างมีนัยสำคัญ จึงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกตั้งแต่ปี ค.ศ.2006 โดยแนะนำให้ใช้สูตร RO-ORS เป็นสูตรผงน้ำตาลเกลือแร่มาตรฐาน สำหรับการรักษาท้องร่วงเฉียบพลันในผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุและทุกสาเหตุของการท้องเสีย5
เนื่องจากความเข้มข้นของ RO-ORS เป็นสิ่งสำคัญต่อประสิทธิภาพการรักษา วิธีการผสมที่ถูกต้อง คือ เทผง RO-ORS ลงในน้ำดื่มสะอาดตามปริมาตรที่ระบุบนซอง เพื่อให้ได้ความเข้มข้นที่เหมาะสม คนจนละลายหมด และต้องค่อยๆ จิบจนไม่รู้สึกกระหายน้ำ ไม่แนะนำให้ดื่มหมดในคราวเดียว และหยุดดื่มเมื่อหายจากอาการท้องเสีย โดยไม่ควรเก็บสารละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ที่ดื่มไม่หมดเกิน 24 ชั่วโมง และควรเก็บสารละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ที่ผสมแล้วในภาชนะที่ปิดสนิทเพื่อลดโอกาสการปนเปื้อน6
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าการรักษาผู้ป่วยโรคท้องร่วงเฉียบพลันโดยการใช้ผงน้ำตาลเกลือแร่ ถือเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงและมีราคาถูก สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยที่ขาดเกลือแร่และน้ำจากโรคท้องร่วงเฉียบพลันหรืออาการท้องเสียได้เป็นอย่างดี และลดโอกาสที่ต้องนอนให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดที่โรงพยาบาล เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการรักษา โดยผู้ป่วยและครอบครัวสามารถดูแลรักษาอาการได้ด้วยตนเอง รวมถึงมีความปลอดภัยในการนำไปใช้รักษาในเด็กเล็กอีกด้วย ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ว่า “RO-ORS เป็นยาช่วยชีวิต (Life Saving Drug) แม้จะเป็นผงน้ำตาลเกลือแร่ซองเล็กๆ แต่ก็มีคุณประโยชน์ใหญ่หลวงต่อมวลมนุษยชาติ”
______________________________________________________________________________ข้อมูลอ้างอิง
1. มหาวิทยาลัยมหิดล. ประกาศผล การตัดสินรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2549 [online]. 2006. Available from : https://old.mahidol.ac.th/th/reward/15.htm
2. Jayashree. World ORS Day 2021: “Oral Rehydration, No More Dehydration” [online]. 2021. Available from : https://www.medindia.net/news/healthwatch/world-ors-day-2021-oral-rehydration-no-more-dehydration-202496-1.htm
3. สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. รายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง 506 : Diarrhoea [online]. 2021. Available from : http://192.168.100.12/boedb/d506_1/ds_wk2pdf.php?ds=02&yr=64
4. FDA Thai. ท้องเสีย จิบเกลือแร่สำหรับคนท้องเสีย อย่า… จิบเกลือแร่สำหรับนักกีฬา [online]. 2016. Available from : https://www.facebook.com/FDAThai/posts/1010316532368842:0
5. วรนุช จงศรีสวัสดิ์. ประโยชน์ของสารละลายเกลือแร่ (โออาร์เอส) ในการรักษาโรคท้องร่วงเฉียบพลัน. วารสารสมาคมเภสัชกรรมชุมชน 2564;117: 43-8
6. ธีรัตถ์ เหลืองมั่นคง. น้ำเกลือแร่สำหรับท้องเสีย: เลือกที่ใช่ ใช้ถูกต้อง [online]. 2020. Available from : https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/529/น้ำเกลือแร่-ท้องเสีย