สำนักงานข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์แห่งซาอุดีอาระเบีย (Saudi Data and Artificial Intelligence Authority หรือ SDAIA) ร่วมกับเมืองนีอุม (NEOM) เปิดตัว นีอุม AI ชาเลนจ์ (NEOM AI Challenge) ครั้งที่ 2 พร้อมต้อนรับผู้ที่ต้องการท้าทายชาเลนจ์นี้จนถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน โดยนีอุม ชาเลนจ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนเหล่านักนวัตกรรมและผู้ประกอบการต่าง ๆ และพัฒนาขีดความสามารถทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาติในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทั่วโลก เพื่อผลักดันพวกเขาเหล่านี้ให้ก้าวไปอีกขั้นในด้านนวัตกรรม
ชาเลนจ์นี้อยู่ภายใต้กรอบการทำงานของ SDAIA ในความพยายามที่จะปลดล็อกคุณค่าของข้อมูลในฐานะทรัพย์สินของชาติ และทำให้เป้าหมายวิชั่น 2573 (Vision 2030) กลายเป็นจริง SDAIA มุ่งมั่นที่จะวางตำแหน่งซาอุดีอาระเบียให้เป็นผู้บุกเบิกระดับโลกในด้านข้อมูลและ AI ผ่านชาเลนจ์นี้ นอกจากนี้ SDAIA ยังมีบทบาทสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ AI ส่งเสริมและสนับสนุนนวัตกรรม AI อย่างต่อเนื่อง และสร้างขีดความสามารถอันเป็นเลิศในด้านนวัตกรรมระดับประเทศ
นีอุม ชาเลนจ์ เป็นหนึ่งในโรงการริเริ่มจากการประชุมสุดยอดเอไอโลก (Global AI Summit) ซึ่งจัดขึ้นล่าสุดเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา มุ่งเน้นที่การใช้เทคโนโลยี AI ในการก้าวข้ามอุปสรรคต่าง ๆ ที่เมืองนีอุมต้องเผชิญใน 3 ด้าน ได้แก่ การใช้ AI ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลสำหรับการคาดการณ์และข้อมูลเชิงลึกในการตัดสินใจ, การตรวจสอบด้วย AI ที่ปรับตัวได้ และกฎหมายที่คอมพิวเตอร์และ AI สามารถอ่านและบังคับใช้ให้เกิดผลได้
ในการแข่งขันครั้งนี้ เหล่าผู้ประกอบการสามารถลงทะเบียนในรูปแบบทีมโดยมีสมาชิกตั้งแต่ 2-5 คน โดยองค์กรขนาดเล็กต้องมีพนักงาน 6 – 49 คนและมีรายได้ตั้งแต่ 3 ล้าน – 40 ล้านริยัลต่อปี จึงจะสามารถเข้าร่วมชาเลนจ์นี้ได้ ในขณะที่องค์กรขนาดกลางต้องมีพนักงานประจำ 50 – 249 คนและมีรายได้ตั้งแต่ 40 ล้าน – 200 ล้านริยัลต่อปี
ผู้ชนะในแต่ละด้านจะได้เซ็นสัญญาระดับผู้บริหารกับเมืองนีอุมมูลค่า 500,000 ริยัล เพื่อนำไปพัฒนานวัตกรรมและแนวคิดของตนให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้ ตลอดจนกระตุ้นให้องค์กรต่าง ๆ นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้ในขั้นต่ำ
คุณสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมชาเลนจ์นี้และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางลิงก์: https://neom.globalaisummit.org/en/index.aspx
ทั้งนี้ นีอุม ชาเลนจ์ ครั้งที่ 1 จัดขึ้นในการประชุมสุดยอดเอไอโลกครั้งแรกในปี 2563 เพื่อเฟ้นหาโซลูชันบุกเบิกและนวัตกรรมเพื่อตอบสนองความท้าทายระดับโลกในอนาคต โดยในการแข่งขันครั้งแรกได้มุ่งเป้าไปที่นวัตกรรม AI ที่ได้รับการพัฒนาโดยนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย โดยมีนักศึกษาจำนวน 400 คนจากมหาวิทยาลัย 39 แห่งทั่วซาอุฯ เข้าร่วมในการแข่งขันครั้งนี้ ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ได้นำเสนอโครงการนวัตกรรมเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืนใน 3 ด้านสำคัญ ซึ่งเป็นตัวแทนของความท้าทายในด้านต่าง ๆ ได้แก่ พลังงาน, ความบันเทิง และการคมนาคมขนส่ง