บทความโดย นายฟาบิโอ ทิวิติ รองประธาน บริษัท อินฟอร์ อาเชียน
ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ อย่างมหาศาล ทั้งในบริบทของความต้องการที่เพิ่มขึ้น มาตรการด้านความปลอดภัยที่เข้มงวด และความเสี่ยงที่ต้องปิดกิจการเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งความท้าทายดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจนี้
ธุรกิจบางภาคส่วนถูกบังคับให้เพิ่มขนาดการดำเนินงานขึ้นถึง 30% และระบบซัพพลายเชนต้องแบกรับสถานการณ์ที่หนักหน่วงนี้หลายต่อหลายครั้ง การระบาดของโรคที่ขยายวงกว้างออกไปทำให้เกิดภาวะยากลำบากและเกิดความเสี่ยงสูงมากโดยมีความสำเร็จและชื่อเสียงของธุรกิจเป็นตัวประกัน
ความท้าทายดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่ผู้บริโภคต้องการให้บริษัทด้านอาหารชี้แจงระเบียบขั้นตอนด้านความปลอดภัยที่เข้มงวดมากขึ้น รวมถึงการรับรองด้านสิ่งแวดล้อมที่แน่นอนจริงจังมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา การระบาดใหญ่ครั้งนี้ทำให้บริษัทด้านอาหารจะต้องให้บริการกับตลาดที่กำลังต้องการความมั่นใจและความเชื่อถือได้ในสภาพแวดล้อมที่มีความไม่แน่นอนอื่น ๆ ดังนั้นการค่อย ๆ สร้างความมั่นใจโดยการดำเนินงานที่ทำให้ผู้บริโภคพึงพอใจอย่างคงเส้นคงวา และแสดงให้เห็นถึงแนวทางปฏิบัติและมาตรการด้านความปลอดภัยที่ดีที่สุดจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
วัดกันที่ความสามารถด้านดิจิทัล
ความสำเร็จในการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของแต่ละบริษัทเป็นไปในแนวทางที่แตกต่างกันและหลากหลายรูปแบบ แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือบริษัทที่นำระบบดิจิทัลมาใช้เป็นหลักคือผู้ที่มักจะประสบความสำเร็จ ส่วนบริษัทที่ยังคงใช้ระบบดั้งเดิมหรือระบบที่พึ่งพาการใช้กระดาษมักอยู่ในสถานะไล่ตามหลังบริษัทอื่น
เหตุผลที่เด่นชัดคือบริษัทที่ใช้ระบบใช้กระดาษเผชิญกับความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ข้อมูลขาดความแม่นยำ ความล่าช้า และความซ้ำซ้อน แต่แพลตฟอร์มดิจิทัลสามารถผสานรวมและกำหนดบริบทของข้อมูลเชิงลึกจากวงจรการทำงานทั้งหมดได้อย่างราบรื่น เพื่อช่วยให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จ
องค์กรหลายแห่งตระหนักว่า แนวทางการทำงานแบบดิจิทัลที่ทันสมัยนำพาประโยชน์ด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบและการแข่งขันมาให้ จึงได้ลงทุนในแพลตฟอร์มและฟังก์ชั่นใหม่ ๆ เพื่อใช้ประโยชน์จากความสามารถสำคัญนี้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็มีคำถามว่าความสามารถเหล่านี้เพียงพอหรือยัง
ความโปร่งใสคือความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับแบบใหม่
ความสามารถในการเรียกคืนสินค้าได้อย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยให้ตรวจสอบย้อนกลับได้อย่างครอบคลุม รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เป็นแง่มุมที่สำคัญที่สนับสนุนการที่บริษัทสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนด ชื่อเสียงของบริษัท และการบริการลูกค้า อย่างไม่มีข้อสงสัยใด ๆ
อย่างไรก็ตาม ระบบดั้งเดิมที่บริษัทผู้ผลิตอาหารจำนวนมากใช้อยู่มักมีข้อจำกัดในการตรวจสอบย้อนกลับที่ครบวงจร เพราะระบบดั้งเดิมไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของซัพพลายเออร์หลักได้ มีบริษัทด้านอาหารเพียงไม่กี่แห่งที่มีแพลตฟอร์มที่สามารถทำเช่นนี้ได้ และบริษัทเหล่านี้สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้อย่างมาก เนื่องจากผู้บริโภคต่างต้องการความโปร่งใสมากขึ้นในเวลาที่พวกเขาเลือกซื้ออาหาร
บริษัทด้านอาหารที่มีแนวคิดก้าวไกลมีการระบุคิวอาร์โค้ดไว้บนผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของตน ซึ่งผู้บริโภคสามารถสแกนเพื่อดูแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์นั้น ตั้งแต่แหล่งกำเนิดของส่วนผสมต่าง ๆ การผลิต การจัดส่งผ่านระบบซัพพลายเชน และความเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นความโปร่งใสอย่างครบถ้วนจากแหล่งผลิตจนถึงจานอาหารของผู้บริโภค
การกระทำดังกล่าวมีจุดประสงค์ชัดเจนในการสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าด้านอาหารให้กับผู้บริโภค การแสดงหลักฐานว่าอาหารนั้น ๆ ได้รับการผลิตด้วยวิธีการที่ปลอดภัยและยั่งยืนจะช่วยเสริมให้ความภักดีต่อแบรนด์แข็งแกร่งขึ้น การใช้ข้อมูลจากระบบซัพพลายเชนในแนวทางที่ชาญฉลาด ช่วยให้เกิดประโยชน์หลายประการต่อซัพพลายเชนด้านอาหาร เช่น คุณภาพเพิ่มขึ้น คาดการณ์วันที่ควรบริโภคก่อน (use before dates) ได้มากขึ้น และลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งหรือขยะอาหาร (food waste) ลงได้
ตัวอย่างเช่น ผักและผลไม้นำเข้าจำนวนมากที่วางขายในซุปเปอร์มาร์เก็ต จำเป็นต้องมีระบบที่สามารถมอนิเตอร์สถานะการจัดส่งที่เฉพาะเจาะจงต่าง ๆ ในระบบซัพพลายเชนที่ผู้ส่งออกหรือผู้นำเข้าใช้และตัวแปรต่าง ๆ เช่น อุณหภูมิของตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้ขนส่ง การขนส่งเกิดการล่าช้าหรือไม่ และการจัดเก็บในคลังสินค้าเป็นอย่างไร เพื่อเป็นข้อมูลในการประมาณการอายุการเก็บรักษาสินค้า
ความรับผิดชอบ
หน่วยงานที่ดูแลด้านอุตสาหกรรมการผลิตอาหารจำนวนมาก ให้ความสำคัญกับเป้าหมายด้านขยะอาหาร เช่น แผนขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน พ.ศ. 2560-2580 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1) โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้มีแผนการดำเนินงานด้านการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนไว้ 11 เป้าหมาย และมีเป้าหมายในการลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารรวมอยู่ด้วย เช่น
– โรงงานในอุตสาหกรรมอาหารอย่างน้อย ร้อยละ 100 ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดการสูญเสียอาหารในกระบวนการผลิต ภายในปี
พ.ศ. 2580
– สินค้าด้านเกษตรและอาหารในประเทศร้อยละ 80 มีข้อมูลปริมาณการสูญเสียอาหารในระบบซัพพลายเชนและขยะอาหาร ภายในปี พ.ศ. 2580
– ความสูญเสียตลอดซัพพลายเชนในการผลิตอาหารลดลงร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2563 – 2580
– ร้านค้าปลีก ร้านอาหาร และ โรงแรมมีขยะเศษอาหารลดลงร้อยละ 50 ในปี พ.ศ. 2580 เทียบกับปี พ.ศ. 2560
– ปริมาณขยะอาหารของประเทศลดลงอย่างน้อยร้อยละ 50 ในปี พ.ศ. 2580 เทียบกับปี พ.ศ. 2560
จะเห็นได้ว่าเป็นการกำหนดเป้าหมายด้านขยะอาหารไว้ค่อนข้างสูง และธุรกิจทุกแห่งได้ร่วมมือกันเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ ยกตัวอย่างเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กลุ่มเซ็นทรัลซึ่งเป็นแบรนด์ธุรกิจค้าปลีกและบริการของไทยได้ออกมาเปิดเผยถึงนโยบายการจัดการขยะอาหาร เพื่อลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร รวมถึงขยะอาหารที่เหลือจากการจำหน่ายโดยห้างร้าน ซุปเปอร์มาร์เก็ต และโรงแรมในเครือ โดยมีการนำอาหารส่วนเกินบริจาคให้ผู้เปราะบางทางสังคมจำนวน 203 ตันต่อปี คิดเป็นมื้ออาหาร 855,869 มื้อในปี 2563 คิดเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 380 ตันคาร์บอนเทียบเท่า เป็นต้น
การสร้างแบรนด์ที่โปร่งใส
นอกจากประสบความสำเร็จตามเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ แล้ว ความสดของอาหารเช่นผักผลไม้ แหล่งกำเนิด และสภาพของฟาร์มปศุสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อสัตว์และนม ที่เห็นได้อย่างชัดเจน เป็นเหตุผลสำคัญของความแตกต่างระหว่างซุปเปอร์มาร์เก็ตทั้งหลาย ระดับความโปร่งใสดังกล่าวนี้ สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างและเพิ่มความเชื่อถือจากผู้บริโภคได้มากขึ้น และช่วยให้แบรนด์มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงได้อีกด้วย
กระบวนการทำงานแบบแมนนวลและระบบแบบดั้งเดิมอาจเป็นวิธีที่ช่วยเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับได้ แต่อยู่ในระดับพื้นฐานเท่านั้น ธุรกิจมีความเสี่ยงสูงที่อาจต้องปิดโรงงานเต็มรูปแบบอันเนื่องมาจากไม่สามารถระบุที่มาของปัญหาได้อย่างถูกต้อง และตามมาด้วยความล้มเหลวในการดำเนินกิจการ เห็นได้ชัดว่าค่าใช้จ่ายและความเสียหายที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องนี้ไม่ควรเกิดขึ้นอย่างถาวร ดังนั้นธุรกิจด้านนี้จึงต้องลงทุนจัดหาและใช้ความสามารถทางดิจิทัลที่ทันสมัยต่าง ๆ เพื่อให้สามารถลดความสูญเปล่าให้เหลือน้อยที่สุด เพิ่มความโปร่งใสและความเชื่อถือจากผู้บริโภคให้มากที่สุด ซึ่งสิ่งเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่ภายในปี 2564 นี้บริษัทด้านอาหารต้องทำให้สำเร็จก่อนที่จะเข้าแข่งขันในตลาด