โดย ทวิพงศ์ อโนทัยสินทวี ผู้จัดการประจำประเทศไทย นูทานิคซ์
สมาร์ทซิตี้ หรือเมืองอัจฉริยะ คือ วิสัยทัศน์ที่เน้นประสิทธิภาพและการติดต่อเชื่อมโยงถึงกันมากขึ้นในอนาคต ผ่านการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และข้อมูลไปในทิศทางที่ช่วยให้เมืองนั้น ๆ มีความยั่งยืนมากขึ้น ลดผลกระทบต่อคนและสิ่งแวดล้อม และสามารถให้บริการอัตโนมัติด้านต่าง ๆ ให้กับประชาชนได้มากขึ้น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการติดตามตรวจสอบสภาพแวดล้อม ไปจนถึงการบริหารจัดการการจราจรอัจฉริยะ และขีดความสามารถด้านการชำระเงินแบบดิจิทัล ช่วยให้เมืองต่าง ๆ พัฒนาศักยภาพที่จะเป็นตัวกำหนดอนาคตของเมืองที่เป็นศูนย์กลางได้อย่างไร้ขีดจำกัด
รัฐบาลทั่วโลกต่างเร่งพัฒนาสมาร์ทซิตี้ และการเร่งสร้างเมืองที่ชาญฉลาดทำให้การวางผังเมืองเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าตลาดสมาร์ทซิตี้ทั่วโลกกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และเป็นที่คาดการณ์ว่าจะเกินระดับ 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในต้นปี 2568 ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ไว้ที่ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อปี 2563 ถึงสองเท่า แม้ความกดดันทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 จะทำให้การพัฒนาสมาร์ทซิตี้ชะลอตัวลงชั่วคราว แต่บริษัทด้านเทคโนโลยีใหญ่ ๆ ของโลกบางแห่งต่างยังคงลงทุนในโครงการด้านสมาร์ทซิตี้อย่างหนักและต่อเนื่อง
เมื่อปี 2560 รัฐบาลไทยได้จัดตั้ง สำนักงานเมืองอัจฉริยะ โดยเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีเป้าหมายในการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศมาโดยตลอด และในปี 2565 มีเป้าหมายพัฒนาสมาร์ทซิตี้ 100 เมืองใน 76 จังหวัด และกรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายในการให้บริการ City Data Platform ครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศ ทั้งนี้การพัฒนาสมาร์ทซิตี้ของไทยมีมิติที่สำคัญ 7 ด้านคือ 1) สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ 2) การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ 3) การดำรงชีวิตอัจฉริยะ 4) พลเมืองอัจฉริยะ 5) พลังงานอัจฉริยะ 6) เศรษฐกิจอัจฉริยะ 7) การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ
การเป็นสมาร์ทซิตี้ที่ประสบความสำเร็จได้นั้นจะเน้นเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่จำเป็นต้องออกแบบโครงการต่าง ๆ โดยยึดความต้องการของประชาชนเป็นหลัก จะต้องใช้แนวทางที่ไตร่ตรองอย่างดีและวัดผลได้ ที่สามารถปรับให้เข้ากับความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของเมืองแต่ละแห่งและผู้ที่อยู่อาศัยในเมืองนั้น ๆ และนวัตกรรมทางดิจิทัลสามารถเพิ่มประสบการณ์ที่ดีให้กับประชาชนอย่างแท้จริง
แนวคิดทางเทคโนโลยีที่เหมาะกับความต้องการ ช่วยเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต
การปรับเปลี่ยนเมืองต่าง ๆ ให้เป็นจุดศูนย์กลางของการเชื่อมต่อทางดิจิทัลที่ชาญฉลาดได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย สมาร์ทซิตี้มีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกันไปมาอย่างเหลือเชื่อ จึงต้องวางแผนอย่างรัดกุมก่อนเริ่มดำเนินการ ยิ่งไปกว่านั้น การวางผังสมาร์ทซิตี้ต้องใช้แนวทางหลากหลายและไม่เหมือนกัน เพราะเมืองแต่ละเมืองแตกต่างกันมากทั้งในแง่ของความต้องการของประชาชน โครงสร้างพื้นฐานของเมือง และระดับความสามารถทางเทคโนโลยี เมืองต่าง ๆ ที่ยังคงใช้ระบบแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่ใช้บริหารจัดการระบบสัญญาณไฟจราจรหรือการตรวจติดตามอาคารต่าง ๆ แบบเดิมที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของสมาร์ทซิตี้ ยังต้องพัฒนาอีกมากเพื่อรองรับการเชื่อมต่อที่จำเป็นที่ต้องมีในเมืองอัจฉริยะ
The World Economic Forum ให้ความเห็นว่า การสร้างสมาร์ทซิตี้นั้น ต้องสร้างในแนวทางที่เข้าใจและรับรู้ว่าความล้าสมัยของเทคโนโลยีในปัจจุบันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นจะต้องพัฒนาและสร้างสิ่งใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง และเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ผลกระทบและความยุ่งยากจากสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ตลอดเวลา
สิงค์โปร์และอาบูดาบี ได้รับการจัดว่าเป็นสองสมาร์ทซิตี้ที่สุดของโลก เป็นตัวอย่างที่พิสูจน์แนวคิดนี้ซึ่งแม้จะอยู่ในตำแหน่งนี้แล้ว แต่เมืองทั้งสองแห่งยังเดินหน้าทำงานร่วมกันเพื่อหาแนวทางใหม่ ๆ ในการปรับปรุง และนำร่องนำโซลูชันทางเทคโนโลยี ไปใช้แก้ความท้าทายที่หลากหลายแง่มุมของเมือง เช่น ความยั่งยืนในการใช้พลังงานและน้ำ ประสิทธิภาพด้านการขนส่ง และความหนาแน่นของชุมชนต่าง ๆ
ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน
รัฐบาลของแต่ละประเทศมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ แต่ความสำเร็จขึ้นอยู่กับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงในองค์กรธุรกิจที่ต้องอาศัยทุกคนในองค์กรทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุจุดหมายเดียวกัน เมืองต่าง ๆ จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้หากไม่มีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐบาลและเอกชน ทั้งนี้ PWC ได้ให้ความเห็นไว้ว่าหากไม่มีระบบนิเวศของภาครัฐและเอกชนที่แข็งแกร่งแล้ว ประชาชนจะได้ประโยชน์เพียงเล็กน้อย และกระบวนการต่าง ๆจะมีความก้าวหน้าช้ามาก
ในกรุงเทพฯ ที่มีผู้คนหนาแน่นและต้องอาศัยการเดินทางด้วยรถสาธารณะ สำนักการจราจรและขนส่ง ได้ร่วมมือกับบริษัทเอกชนพัฒนาป้ายรถเมล์มิติใหม่หรือที่พักผู้โดยสารรถประจำทางอัจฉริยะ (Smart Bus Shelter) ให้บริการ 350 แห่งทั่วกรุงเทพฯ โดยมีหน้าจอแสดงผลแบบเรียลไทม์ของข้อมูลรถเมล์ เช่น ชื่อป้ายรถเมล์ สายรถเมล์ที่ผ่านป้ายนั้น จุดหมายปลายทาง และเวลาที่รถเมล์จะมาถึงป้าย มีกล้อง CCTV ที่เชื่อมต่อระบบไปยังศูนย์บริหารจัดการกล้องโทรทัศน์วงจรปิดของกรุงเทพมหานครและสถานีตำรวจ ช่องชาร์จแบตเตอรี่ สัญญาณ Wi-Fi ฟรี เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่ต้องเดินทางโดยรถสาธารณะ ให้สามารถวางแผนเวลาในการเดินทางได้ และมีความปลอดภัย
นอกจากนี้ยังมีแอปฯ ติดตามการขนส่งสาธารณะ ViaBus (เวียบัส) ซึ่งเป็น tech startup ที่ได้พัฒนาและเปิดใช้งานในปี 2561 นักพัฒนาไทยสร้างเวียบัสเป็นแอปพลิเคชันติดตามการขนส่งสาธารณะแบบเรียลไทม์รายแรกของไทยที่เชื่อมโยงทุกระบบคมนาคมไม่ว่าจะเป็นรถโดยสารประจำทาง มินิบัส รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟ เรือด่วน เรือข้ามฟาก และรถตู้ระหว่างจังหวัด ด้วยบริการที่ครอบคลุมกว่า 70 จังหวัด สามารถช่วยนำทางคนไทยและคนต่างชาติที่ต้องเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพบนอุปกรณ์โมบาย
“Traffy Fondue” เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มสำคัญที่ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ และมีส่วนช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ของเมือง ซึ่ง สวทช. โดยเนคเทค ได้ต่อยอดพัฒนามาจากแอปพลิเคชัน Traffy เพื่อนำไปประยุกต์ใช้งานด้านสมาร์ทซิตี้ โดยอาศัยเทคโนโลยีเซนเซอร์และปัญญาประดิษฐ์ เพื่อ “เปลี่ยนปัญหาของประชาชนให้เป็นข้อมูล” และ “เปลี่ยนข้อมูลให้เป็นความเข้าใจ” เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ตรงจุด นับเป็นแพลตฟอร์มการสื่อสารปัญหาของเมืองระหว่างประชาชนและหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยประชาชนสามารถแจ้งปัญหาที่พบตรงไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนั้น ๆ ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ เช่น ปัญหาไฟส่องสว่าง ทางเท้า/ถนนชำรุด พร้อมส่งภาพถ่ายและตำแหน่งไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในขณะเดียวกันหน่วยงานนั้นก็สามารถอัปเดทสถานการณ์และความคืบหน้าในการแก้ไขกลับมาให้แก่ประชาชนได้
ความสำเร็จของโครงการสมาร์ทซิตี้ต่าง ๆ จะช่วยให้องค์กรที่ทำธุรกิจอยู่ในเมืองซึ่งไม่ได้จำกัดเพียงองค์กรด้านเทคโนโลยีเท่านั้น ได้รับประโยชน์อย่างมาก โครงการที่รัฐบาลสร้างขึ้นมาเหล่านี้ มักช่วยกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือทางนวัตกรรม และสร้างข้อมูลที่ธุรกิจทั้งหลายสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น การที่ภาคเอกชนให้การสนับสนุนบริการและโครงการอัจฉริยะต่าง ๆ ด้วยแบนด์วิดท์และสมรรถนะด้านคอมพิวติ้ง จะนำไปสู่ความพยายามขยายและปรับปรุงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งนับเป็นประโยชน์ที่ได้จากการพัฒนาสมาร์ทซิติ้ที่ผู้บริหารสามารถนำไปต่อยอดได้
แนวทางที่เน้นข้อมูลเป็นศูนย์กลาง
เมื่อพิจารณาถึงความสำเร็จของสมาร์ทซิตี้แล้ว ข้อมูลถือเป็นเสมือนสกุลเงินหลัก เมื่อมีการใช้และบริหารจัดการข้อมูลอย่างถูกวิธีแล้ว เมืองต่าง ๆ จะสามารถดึงข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญ ๆ ออกมาจากข้อมูลเหล่านั้น เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจด้านต่าง ๆ ได้ ข้อมูลยังเป็นตัวเสริมประสิทธิภาพให้กับความสามารถด้านดิจิทัลต่าง ๆ ที่ทำให้เมืองเป็นเมืองที่ชาญฉลาด ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากเซ็นเซอร์ การขนส่งอัจฉริยะ และบริการอัตโนมัติอื่น ๆ อาจกล่าวได้ว่า จำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเทคโนโลยีและประชาชน เพื่อให้สมาร์ทซิติ้ทำงานและให้บริการได้อย่างถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม การละเมิดข้อมูลที่เกิดขึ้นในวงกว้าง เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผนวกกับการถูกโจมตีและการรั่วไหลของข้อมูลของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนเกิดความไม่ไว้วางใจในการเชื่อมต่อถึงกันมากขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว เพราะข้อมูลของประชาชนมีความอ่อนไหวสูงและหากตกอยู่ในมือของผู้ไม่ประสงค์ดีก็อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงได้ ดังนั้นเมืองทุกแห่งต้องระมัดระวังในการแชร์ข้อมูลอย่างจริงจัง จะต้องมั่นใจให้ได้ว่าข้อมูลไม่รั่วไหลและความไว้ใจจะยังคงอยู่ การพัฒนาสมาร์ทซิตี้ทุกแห่งต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ความเป็นส่วนตัว และการปกป้องข้อมูล นอกจากนี้การทำงานกับผู้ให้บริการที่เชื่อถือได้ จะช่วยให้ข้อมูลของรัฐบาลและหน่วยงานสาธารณะมีความปลอดภัยตามต้องการ
ประชาชนสำคัญที่สุด
สิ่งสำคัญในการที่เมืองต่าง ๆ ทั่วโลกที่กำลังมุ่งพัฒนาเมืองของตนให้เป็นสมาร์ทซิตี้ต้องมี คือต้องจัดทำเป้าหมายของการพัฒนาด้านต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับความคาดหวังของประชาชน นวัตกรรมทางดิจิทัลจะไม่เกิดประโยชน์เลย จนกว่าประชาชนจะได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้น เช่น ประสบการณ์ในการใช้การขนส่งสาธารณะที่ดีขึ้น สภาพแวดล้อมที่สะอาดและยั่งยืนมากขึ้น อากาศและน้ำสะอาดขึ้น ถนนหนทางที่ปลอดภัยมากขึ้น มีงานให้ทำมากขึ้น และธุรกิจในท้องถิ่นได้รับโอกาสใหม่ ๆ มากมาย การวางแผนที่เหมาะสม การเลือกโซลูชันที่ถูกต้อง ความสัมพันธ์ของภาครัฐและเอกชนที่เข้มแข็ง และแนวทางด้านความปลอดภัยของข้อมูลที่รัดกุม จะส่งผลให้ไม่เพียงทำให้เมืองมีความเป็นอัจฉริยะได้เร็วขึ้นเท่านั้น
แต่ยังสร้างสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่และเป็นที่พอใจให้กับประชาชนทุกคนได้มากขึ้น