กัมพูชาเริ่มต้นปีใหม่ในฐานะประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประกาศแผนการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 โดยโรดแมปที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน” หรือ Long-term Strategy for Carbon Neutrality (LTS4CN) ได้รับการนำเสนอต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2564 นับว่านายกรัฐมนตรีฮุนเซนได้ทำตามคำมั่นสัญญาในการนำเสนอแผนการดังกล่าวภายในสิ้นปี 2564 หลังจากที่รัฐบาลกัมพูชาได้ให้คำมั่นในการประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วว่า กัมพูชาจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 40% จากค่ากลางภายในปี พ.ศ. 2573
“การใช้ยุทธศาสตร์เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในกัมพูชา คาดว่าจะช่วยเพิ่ม GDP ของประเทศได้เกือบ 3% และสร้างงานราว 449,000 ตำแหน่งภายในปี 2593” นายไสย สมาล รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของกัมพูชา กล่าว “การปฏิรูปอุตสาหกรรมป่าไม้ การลดคาร์บอนจากระบบขนส่ง การส่งเสริมเกษตรกรรมคาร์บอนต่ำ และการสนับสนุนกระบวนการผลิตสินค้าคาร์บอนต่ำ จะนำไปสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและความมั่งคั่งที่ยั่งยืนมากขึ้นสำหรับทุกคน”
นายไสย สมาล ได้กล่าวยกย่องความพยายามของรัฐบาลกัมพูชา กระทรวงสิ่งแวดล้อม และสภาแห่งชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของกัมพูชา ที่มุ่งมั่นลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าการจรดปากกาเซ็นเอกสาร “ทั้งในช่วงเวลาที่ดีและไม่ดี ท่านนายกรัฐมนตรีฮุนเซนได้พิสูจน์ให้เห็นว่าท่านเป็นคนรักษาคำพูด และผมรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำตามแบบอย่างของท่าน” นายไสย สมาล กล่าว “กัมพูชามีพันธะผูกพันในการทำหน้าที่ของตนเอง ซึ่งสอดประสานกับประเทศที่พัฒนามากกว่า เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593”
“ยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน” ของกัมพูชา ได้รับการออกแบบมาให้เป็นแนวทางการทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเป็นธรรมทางสังคม กับการลดก๊าซเรือนกระจกและความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ พันธมิตรด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งกัมพูชา หรือ Cambodia Climate Change Alliance (ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป ประเทศสวีเดน และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ), สหราชอาณาจักร, ธนาคารโลก, องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ, สถาบันเพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโลก หรือ Global Green Growth Institute และสำนักงานเพื่อการพัฒนาแห่งฝรั่งเศส หรือ Agence Francaise de Developpement ได้ระดมความเชี่ยวชาญอันครอบคลุมเพื่อจัดเตรียมยุทธศาสตร์ดังกล่าว เรารู้สึกซาบซึ้งอย่างยิ่งสำหรับการสนับสนุนของทุกฝ่าย และเรายินดีรับความช่วยเหลือในปีต่อ ๆ ไป
กัมพูชามีโครงการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 400 เมกะวัตต์ และกำลังหันหลังให้กับการผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหิน รวมถึงระงับแผนการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบริเวณแม่น้ำโขง “เราให้ความสำคัญกับ “REDD” เมื่อพูดถึงทรัพยากรป่าไม้” นายไสย สมาล กล่าว “REDD ย่อมาจาก Reducing Emissions from Deforestation and Forest Degradation in Developing Countries หมายถึงนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ โดยกัมพูชามุ่งมั่นลดการทำลายป่าลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในอุตสาหกรรมป่าไม้ภายในปี 2583”
เราได้เห็นประชาคมโลกผนึกกำลังกันรับมือกับภัยคุกคามทางชีวภาพที่คนส่วนใหญ่นึกไม่ถึงเมื่อสองปีที่แล้ว แม้ว่าเราจะได้รับคำเตือนอย่างต่อเนื่องก็ตาม ดังนั้น เราต้องหันมาใส่ใจคำเตือนเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน และเราต้องมีความแน่วแน่ในการแก้ปัญหาร่วมกัน ด้วยการเพิ่มเงินทุนระหว่างประเทศในการทำกิจกรรมบรรเทาปัญหาโลกร้อน และกัมพูชาก็พร้อมแล้ว
สามารถอ่านเอกสารอย่างเป็นทางการของยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งจัดเตรียมโดยรัฐบาลกัมพูชาได้ที่ https://bit.ly/3t1BfIL
สื่อมวลชนกรุณาติดต่อ: นายเนตร พักตรา โฆษกกระทรวงสิ่งแวดล้อมกัมพูชา โทร: (855) 12 483 283 อีเมล: pheaktra.neth@moe.gov.kh