เอไอเอสยกระดับความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพของโครงข่ายหลัก มุ่งบรรลุเป้าหมายให้บริการไร้การขัดข้อง

ดูไบ, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, 24 ต.ค. 2567 /PRNewswire/ — เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2567 ในงานประชุมสุดยอด 5G Core Network Summit ครั้งที่ 9 จัดโดย Informa Tech ที่นครดูไบนั้น บรรดาผู้นำในอุตสาหกรรมและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคจากทั่วโลกได้มารวมตัวกัน เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นล้ำสมัยต่าง ๆ อาทิ 5G SA, บริการเสียง, คลาวด์โทรคมนาคม, โครงข่ายอัตโนมัติ และโครงข่ายคอร์ 5.5G โดยคุณนพดล พวงศรี หัวหน้าฝ่ายวางแผนและปฏิบัติการโครงข่ายหลักของเอไอเอส ได้ขึ้นปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Building a High-Resilience, High-Efficiency Core Network” (สร้างโครงข่ายหลักที่มีความเสถียรและประสิทธิภาพสูง) พร้อมทั้งให้สัมภาษณ์กับ Informa เกี่ยวกับกลยุทธ์การพัฒนาความน่าเชื่อถือและประสิทธิภาพโครงข่ายหลักของเอไอเอส


เอไอเอสในฐานะผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ได้พัฒนาเครือข่าย 5G ที่ดีที่สุด พร้อมให้บริการครอบคลุมทั้งโมบายล์, บริการอินเทอร์เน็ตบ้านบรอดแบนด์ประจำที่, โซลูชันเครือข่ายสำหรับองค์กร และบริการดิจิทัล ด้วยเครือข่าย 5G ที่ครอบคลุมประชากรกว่า 95% ส่งผลให้มีผู้ใช้บริการ 5G เพิ่มขึ้นแตะ 10.6 ล้านราย

คุณนพดลเน้นย้ำว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีคลาวด์ได้เพิ่มความซับซ้อนให้กับโครงข่ายหลัก ส่งผลให้มีความเสี่ยงมากขึ้นในเรื่องความเสถียรและประสิทธิภาพ เอไอเอสจึงยังคงลงทุนพัฒนาความเสถียรของโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง พร้อมนำเสนอกลยุทธ์ส่งเสริมความยืดหยุ่นของเครือข่าย หรือ Network Resilience เพื่อบรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ในการให้บริการอย่างไร้การขัดข้อง (Zero Service Outage) ภายในเวลา 3 ปี ปัจจุบัน กลยุทธ์ด้านความเสถียรของโครงข่ายเอไอเอสมุ่งเน้น 3 ด้านหลักด้วยกัน ได้แก่ การป้องกันความเสี่ยง การแสดงผลโครงข่าย และการกู้คืนบริการ

  • ในเรื่องการป้องกันความเสี่ยงนั้น เอไอเอสได้นำโซลูชัน MDAF มาใช้ในการป้องกันและควบคุมสัญญาณที่หนาแน่น โซลูชันนี้ช่วยให้สามารถจำลองสถานะของโครงข่ายได้โดยอัตโนมัติเป็นประจำ เพื่อระบุความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นล่วงหน้า การเปลี่ยนจากการบำรุงรักษาเชิงรับมาเป็นกลยุทธ์เชิงป้องกันนั้น ช่วยให้เอไอเอสสามารถรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ก่อน และรักษาความต่อเนื่องทางธุรกิจได้
  • ส่วนในด้านการแสดงผลโครงข่าย เอไอเอสได้นำโซลูชันการแสดงผลโครงข่ายคลาวด์ที่ใช้ MDAF มาใช้งาน โซลูชันที่มีความก้าวล้ำนี้ช่วยให้สามารถแสดงผลและวิเคราะห์โครงข่ายคลาวด์ที่ซับซ้อนได้ถึง 5 ชั้น ทำให้เอไอเอสสามารถตรวจจับความผิดปกติของโครงข่ายได้อย่างรวดเร็ว
  • สำหรับการกู้คืนบริการภายใน 30 นาที เอไอเอสได้นำโซลูชัน Bypass และ Localization มาใช้ เพื่อรับประกันว่าผู้ใช้บริการ 70% จะยังคงใช้งานได้แม้เกิดการขัดข้องของโครงข่ายขนส่ง วิธีการนี้ช่วยให้ผู้ใช้บริการยังสามารถใช้บริการข้อมูลที่จำเป็นและบริการเสียง VoLTE ได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ คุณนพดลยังเน้นย้ำความสำคัญของประสิทธิภาพโครงข่าย โดยเอไอเอสได้พัฒนากลยุทธ์โครงข่ายอัตโนมัติ เพื่อยกระดับความชาญฉลาดและระบบอัตโนมัติของโครงข่าย โครงการนี้มีเป้าหมายผลักดันการเปลี่ยนผ่านของเอไอเอส จากผู้ให้บริการโทรคมนาคมแบบดั้งเดิม สู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วยความชาญฉลาด

ในอนาคตข้างหน้า เอไอเอสจะยังคงมุ่งพัฒนาความเสถียรและประสิทธิภาพของโครงข่ายหลัก พร้อมทั้งผสานเทคโนโลยีชั้นนำของอุตสาหกรรม เช่น AI เข้ามาใช้งานอย่างต่อเนื่อง โดยเอไอเอสมีแผนพัฒนาระบบดิจิทัลทวินข้ามโดเมน และนำ Telecom Foundation Model มาใช้ในการปรับเปลี่ยนกระบวนการปฏิบัติการและบำรุงรักษา เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการให้บริการไร้การขัดข้อง และก้าวไปสู่โครงข่ายอัตโนมัติระดับ 4 อย่างค่อยเป็นค่อยไป

 

 

View original content to download multimedia: Read More