9krapalm.com

เริ่มแล้ว!!! งาน “Culture Learning – Living Together เรียนรู้ อยู่ร่วม ครั้งที่ 2” เรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม กับกิจกรรมที่น่าสนใจจากนับ 10 ชุมชนท้องถิ่น

เริ่มแล้วสำหรับงาน “Culture Learning – Living Together เรียนรู้ อยู่ร่วม ครั้งที่ 2” จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยา
สิรินธร (องค์การมหาชน) ภายใต้แนวคิด “สร้างสรรค์นวัตกรรม สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้อยู่ร่วม” พบกับเสน่ห์ของชุมชนท้องถิ่นนับ 10 แห่ง พร้อมสนุกไปกับกิจกรรมเวิร์คช็อปสร้างสรรค์งานคราฟท์จากปราชญ์ชุมชน เลือกซื้อสินค้าทางวัฒนธรรมที่หาได้ยาก พร้อมเพลิดเพลินกับการแสดงทางวัฒนธรรมที่รวมไว้ในงานเดียว พบกันตั้งแต่วันนี้ จนถึง 18 มิถุนายน 2566 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) หรือ ศมส. จัดงาน “Culture Learning – Living Together เรียนรู้ อยู่ร่วม ครั้งที่ 2” ภายใต้แนวคิด “สร้างสรรค์นวัตกรรม สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้อยู่ร่วม” เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ร่วมสัมผัสประสบการณ์และเรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของชุมชน ผ่านนวัตกรรมการเรียนรู้ทางสังคมที่ทันสมัย พร้อมการนำเสนอให้เห็นศักยภาพของชุมชนบนฐานทุนทางวัฒนธรรม รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ที่จะนำไปสู่การเข้าใจ ยอมรับและเห็นคุณค่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคม รวมทั้งยังเป็นการเสริมสร้างทัศนคติที่ดีซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดการอยู่อาศัยร่วมกันในสังคมไทยอย่างยั่งยืน

สำหรับงาน “Culture Learning – Living Together เรียนรู้ อยู่ร่วม ครั้งที่ 2” ประกอบด้วยไฮไลท์สำคัญ ได้แก่ การจัดแสดงนิทรรศการความรู้เกี่ยวกับ 10 ชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นเครือข่ายทำงานร่วมกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรมากว่า 10 ปี, กิจกรรมตลาดนัดวัฒนธรรม ที่จัดแสดงและจำหน่ายสินค้าจากชุมชนท้องถิ่น และได้รับการส่งเสริมศักยภาพการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนบนฐานทุนทางวัฒนธรรมจากการจัดการข้อมูลชุมชน ภายใต้แนวคิด เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (Creative economy) เช่น ผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลผลิตจากไร่หมุนเวียน, ผ้าทอจากภูมิปัญญา, อาหารทะเลแห้งจากทะเลหมุนเวียน, น้ำผึ้ง กาแฟ และโกโก้จากยอดดอย, เครื่องประดับจากชุมชนชาติพันธุ์ และผ้าทอมือชาวไทภูจากอีสาน ฯลฯ
กิจกรรมเวิร์คช็อป สร้างสรรค์งานคราฟท์จากปราชญ์ชุมชน เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ ผ่านการสัมผัสและลงมือทำจริง เปิดพื้นที่และโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้ออกแบบ และสร้างสรรค์ผลงานทางวัฒนธรรมที่ไม่ซ้ำใคร โดยภายในงานจะจัดให้มีกิจกรรมเรียนรู้การทำเครื่องแต่งกายตุ๊กตาชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่แสดงให้เห็นอัตลักษณ์ที่
โดดเด่น, กิจกรรมลิ้มรสชิมน้ำผึ้งจากดอยสูง ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้ทดลองชิมน้ำผึ้งหลากรส ซึ่งเป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นจากป่าที่ชาวบ้านช่วยกันดูแลให้มีความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณ ดอกไม้นานาชนิด, กิจกรรมทำเครื่องประดับสร้อยลูกปัดหลากสีของกะเหรี่ยงโพล่ง ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้ลงมือทำสร้อยลูกปัด ซึ่งเป็นเครื่องประดับของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นและสวยงาม และยังมีกิจกรรม workshop คุกกี้หลากวัฒนธรรม, การระบายสียักษ์ ลิง เป็นต้น

การแสดงทางวัฒนธรรมของเครือข่ายชุมชน อาทิ การแสดงดนตรีชาติพันธุ์, ดนตรีวัฒนธรรมร่วมสมัยจากศิลปินคีตาญชลี ชิ สุวิชาน และคณะโรงวัฒนธรรมเทพากรในช่วงเย็นของทุกวัน

นอกจากนี้ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์การเรียนรู้ขึ้น 3 ผลิตภัณฑ์ ที่จะช่วยสร้างประสบการณ์การเรียนรู้สำหรับคนรุ่นใหม่ และคนทำงานวัฒนธรรมได้สะดวกยิ่งขึ้น จึงเชิญภาคีเครือข่ายวัฒนธรรมจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงสถาบันการศึกษามาทดลองใช้ Application 7tools เครื่องมือเรียนรู้ชุมชนที่ทันสมัย สะดวก รวดเร็ว ทำให้การศึกษาชุมชนเป็นเรื่องง่าย สามารถบันทึกข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลา หรือจะเป็นวิกิชุมชน ฐานข้อมูลชุมชนขนาดใหญ่ที่เป็นทั้งแหล่งจัดเก็บ จัดการ และนำข้อมูลไปต่อยอดการทำงานด้านสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ได้ ตลอดจน Culturio แพลตฟอร์มการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่ปรับตัวให้เข้ากับโลกแห่งอนาคต ที่การเรียนรู้ไม่ได้อยู่แค่เพียงในห้องเรียนอีกต่อไป เพราะ Culturio จะเป็นพื้นที่ออนไลน์เชื่อมโยงการเรียนรู้ Online – Onsite ส่งเสริมการเรียนรู้แบบ Flipped Classroom โดย ศมส.ยังได้รวบรวมข้อมูลและชุดความรู้ด้านมานุษยวิทยา และวัฒนธรรมไว้ในที่เดียว เพื่อเปิดพื้นที่สำหรับการค้นคว้า สร้างสรรค์ แบ่งปัน และเรียนรู้ ผ่านทรัพยากรและกิจกรรมการเรียนรู้ที่เราได้สร้างสรรค์
และรวบรวมกว่า 250,000 รายการบนแพลตฟอร์มนี้

ทั้งนี้งาน “Culture Learning – Living Together เรียนรู้ อยู่ร่วม ครั้งที่ 2” จัดขึ้นตั้งแต่วันนี้ จนถึง 18 มิถุนายน 2566 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 18.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) โทร 02 880 9429 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.sac.or.th หรือ www.facebook.com/sac.anthropology

Exit mobile version