9krapalm.com

เทมาเส็กตั้ง Asia Sustainable Foods Platform

Asia Sustainable Foods Platform ตั้งเป้าที่จะลด “อุปสรรคในการปรับใช้” ด้วยการให้โซลูชันและการสนับสนุนบริษัทเทคโนโลยีอาหารในทุกขั้นของวงจรการเติบโต

เทมาเส็ก (Temasek) ประกาศเปิดตัว Asia Sustainable Foods Platform เพื่อให้ความสำคัญกับการรับมือความท้าทายด้านการเพิ่มขนาดการผลิตโปรตีนทางเลือก พร้อมเร่งการเติบโตของอาหารที่ยั่งยืนในเอเชีย

Asia Sustainable Foods Platform มีเป้าหมายที่จะมอบโซลูชันและการสนับสนุนในฐานะผู้เปิดโอกาส ผู้ประกอบการ และนักลงทุน แก่บริษัทเทคโนโลยีอาหาร เมื่อบริษัทเหล่านี้ดำเนินการผ่านวงจรตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์จนถึงการขยายขนาดเชิงพาณิชย์

ในฐานะผู้เปิดโอกาส แพลตฟอร์มนี้จะให้คำปรึกษาด้านการวิจัยและพัฒนาและอำนวยความสะดวกให้การผลิตนำร่อง เพื่อสนันสนุนให้ธุรกิจเทคโนโลยีอาหารเร่งการทำผลิตภัณฑ์ตนเองออกจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในฐานะผู้ประกอบการ แพลตฟอร์มนี้จะให้ความสามารถด้านการผลิต ควบคู่ไปกับข้อมูลตลาดเชิงลึกในด้านโอกาสทางการค้า เพื่อสนับสนุนการขยายธุรกิจทั่วเอเชีย และในฐานะนักลงทุน แพลตฟอร์มนี้จะช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ มีเครือข่ายการเชื่อมโยงเชิงกลยุทธ์และจัดสรรเงินทุนแก่บริษัทสตาร์ทอัพเทคโนโลยีอาหารที่มีแววสดใส

คุณ Yeoh Keat Chuan รองหัวหน้ากลุ่มพัฒนาองค์กรของเทมาเส็ก กล่าวว่า “เอเชียน่าจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 1.55 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 10 ปีข้างหน้า เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หันมาต้องการตัวเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้นและยั่งยืนกว่าเดิม เราจำเป็นต้องพัฒนาความสามารถปัจจุบันของเรา เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและยกระดับซัพพลายเชน”

คุณ Yeoh Keat Chuan กล่าวเสริมว่า “เทมาเส็กได้ลงทุนเป็นเงินกว่า 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในห่วงโซ่มูลค่าจากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (farm-to-fork) ทั่วโลกนับตั้งแต่ปี 2556 และจะยังคงเพิ่มการลงทุนของเราในด้านนี้ต่อไป สิงคโปร์มีบทบาทสำคัญในการพลิกโฉมภาคการเกษตรที่ครอบคลุมถึงอาหาร Asia Sustainable Foods Platform มีเป้าหมายที่จะสนับสนุนธุรกิจในท้องถิ่นและภูมิภาค ส่งเสริมนวัตกรรม การยกระดับ และการค้า”

Asia Sustainable Foods Platform จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอาหารเข้ามาเป็นทีมหลัก นำโดยคุณ Mathys Boeren ซึ่งเป็นซีอีโอที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ โดยก่อนมาดำรงตำแหน่งกับทาง Platform นี้ คุณ Boeren เคยทำงานในอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมส่วนประกอบอาหารมากว่า 25 ปี ในระหว่างนั้นได้ทำงานร่วมกับยูนิลีเวอร์ (Unilever), จีวอฎัน (Givaudan), ซิมไรส์ (Symrise) และเคอรี่ (Kerry) ซึ่งในช่วงหลัง ๆ นี้ เขาได้ให้คำแนะนำแก่บรรดาสตาร์ทอัพในแวดวงอาหารที่ยั่งยืน เกี่ยวกับการจัดการคุณลักษณะผลิตภัณฑ์และความถึงพอใจของผู้บริโภคให้สอดคล้องกัน

คุณ Boeren เน้นว่า “ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราแตกต่างคือความสามารถที่เรามีอย่างครบเครื่อง ในการเป็นผู้เปิดโอกาส ผู้ประกอบการ และนักลงทุน ที่นำเสนอโซลูชันตามความต้องการและการสนับสนุนบริษัทเทคโนโลยีอาหารที่ทะเยอทะยานในทุกขั้นของวงจรการเติบโต การสนับสนุนของเราในการขจัดอุปสรรคในการปรับใช้ ทำให้บริษัทต่าง ๆ เร่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการเปิดตัวนำร่องได้ พร้อมเร่งการขยายขนาดเชิงพาณิชย์และการออกสู่ตลาด ในท้ายสุด เป้าหมายของเราคือการทำให้ผู้บริโภคทั่วเอเชียพึงพอใจกับรสชาติ ความสด ช่องทางติดตามแหล่งที่มา และอาหารที่ยั่งยืน”

เร่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการ ด้วยศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีอาหาร ( FTIC)

Asia Sustainable Foods Platform และสถาบันอาหารและนวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพสิงคโปร์ (SIFBI) ในสังกัด A*STAR ประกาศลงทุนกว่า 30 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีอาหาร (FTIC) ในช่วง 3 ปีข้างหน้า เพื่อนำเสนอโครงสร้างพื้นฐานและบริการที่ออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับบริษัทสตาร์ทอัพเทคโนโลยีอาหารที่มีแววดี

FTIC จะเป็นศูนย์แบบเบ็ดเสร็จ เพื่อเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพเทคโนโลยีอาหารที่มีไฟแรง เข้าถึงโรงงานนำร่องระดับฟู้ดเกรดได้ เพียบพร้อมด้วยอุปกรณ์การอัดขึ้นรูปและการหมัก ห้องปฏิบัติการร่วม ครัวทดลอง พื้นที่ทำงานร่วม รวมถึงความรู้ในด้านการวิจัยและพัฒนาอันล้ำลึกของ A*STAR

ดร. Hazel Khoo ผู้อำนวยการบริหารของ SIFBI กล่าวว่า “SIFBI รู้สึกตื่นเต้นที่ได้เป็นพันธมิตรกับ Asia Sustainable Foods Platform ที่ก่อตั้งใหม่ของเทมาเส็กบน FTIC ซึ่งจะให้ความสามารถในระดับนำร่องที่จำเป็นอย่างมากสำหรับบริษัทโปรตีนทางเลือก (AP) เพื่อลดเวลาการออกสู่ตลาด เราคาดหวังว่าความร่วมมือนี้จะทำหน้าที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวบริษัทในแวดวง AP และมีบทบาทต่อภูมิทัศน์เทคโนโลยีอาหารที่รุ่งเรืองและสดใสในสิงคโปร์”

สิ่งนี้จะแก้ไขปัญหาสำคัญ 2 จุดที่ธุรกิจเทคโนโลยีอาหารต้องเผชิญในการนำนวัตกรรมออกสู่ตลาด เช่น เวลารอคอยที่ยาวนานสำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์นำร่อง การขาดความสามารถในการพัฒนากระบวนการและผลิตภัณฑ์เชิงลึก และความยากลำบากในการทำตามกระบวนการกำกับดูแลและทำความเข้าใจในตลาดที่ไม่คุ้นเคยในพื้นที่อื่น ๆ ของเอเชีย

นอกจากนี้ FTIC ยังมีความยินดีที่จะประกาศว่า Next Gen Foods ซึ่งเป็นคู่ค้ารายแรก จะจัดตั้งศูนย์ R&D และนวัตกรรมระดับโลกขึ้นภายใน FTIC ทั้งนี้ Next Gen Foods คือบริษัทสตาร์ทอัพด้านอาหารที่สร้างกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืชที่ทั้งอร่อย มีคุณค่าทางโภชนาการ และมีความยั่งยืน โดยเริ่มด้วยเมนูไก่ที่ทำจากพืชยอดฮิตอย่าง TiNDLE วางจำหน่ายแล้วในร้านอาหารกว่า 150 แห่งทั่วทั้ง 7 ตลาดในเอเชีย ยุโรป และตะวันออกกลาง

“แก่นแท้ของ Next Gen Foods คือการอุทิศตนเพื่อสร้างสรรค์อาหารโปรตีนจากพืชที่ไม่เพียงมีความยั่งยืนเท่านั้น แต่ยังอร่อย มีคุณค่าทางโภชนาการ และขยายตลาดได้อีกด้วย” คุณ Timo Recker ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร Next Gen Foods กล่าว “เราทำสิ่งนี้ได้โดยผ่านความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการเติบโตของผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง และเราตื่นเต้นมากที่จะได้เป็นบริษัทแรกที่หยั่งรากลงใน FTIC ใหม่ล่าสุด นับเป็นหมุดหมายสำคัญที่ตอกย้ำความมุ่งมั่นของเราในการสร้างผู้เล่นที่มีอิทธิพลระดับโลกในสิงคโปร์ และเรารู้สึกขอบคุณพันธมิตรที่ A*STAR และ Asia Sustainable Foods Platform ของเทมาเส็ก ที่ได้ร่วมภารกิจกับเราในการสร้างระบบอาหารที่ดีขึ้นเพื่อคนรุ่นต่อไปในอนาคต”

ขีดความสามารถที่แข็งแกร่งในการผลิตร่วมกับผู้เล่นชั้นนำในอุตสาหกรรม

Asia Sustainable Foods Platform กำลังศึกษาการร่วมทุนกับ 2 บริษัท ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมระดับโลกในด้านโปรตีนจากพืชและโปรตีนจากจุลินทรีย์

ความร่วมมือในรูปแบบของการร่วมทุนกับ CREMER ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติจากเยอรมนีด้านการเกษตร-อาหารที่เชี่ยวชาญด้านโปรตีนจากพืชนั้น จะเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตของ Platform สำหรับผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช โดยหัวใจสำคัญของกระบวนการนี้คือการอัดรีดความชื้นสูง (HME) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่สำหรับการผลิตโปรตีนที่มีเนื้อสัมผัสที่ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์มากกว่าเทคนิคการผลิตโปรตีนจากพืชแบบอื่น ๆ ทั้งนี้ การลงทุนของ Platform และการดำเนินงานของบริษัทร่วมทุนนี้ ต้องได้รับการอนุมัติและการยินยอมตามกฎระเบียบที่จำเป็นทั้งหมด

ด้วยเทคโนโลยีอุบัติใหม่นี้เอง ทำให้ความเชี่ยวชาญของ CREMER ในการผลิตตามสัญญาและการดำเนินงานโรงงาน HME อื่น ๆ ทั่วโลก จะเป็นตัวสนับสนุนที่ขาดไม่ได้สำหรับธุรกิจในด้านนี้ ที่มีบริษัทเพียงไม่กี่แห่งที่มีศักยภาพและขีดความสามารถด้าน HME ที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย

คุณ Damian Krueger ผู้จัดการทั่วไปด้านโภชนาการที่ยั่งยืนของ CREMER กล่าวว่า “สำหรับ CREMER แล้ว ลูกค้าเป็นจุดเริ่มต้นในการตัดสินใจของเราเสมอมา เราปรับปรุงและพัฒนาบริการและผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่องเพื่อลูกค้าของเราในโลกอนาคต เราตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืน สุขภาพ และอาหารโปรตีนจากพืชในการสนับสนุนอีโคซิสเต็มด้านอาหารทั่วโลก CREMER จึงต้องการมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเทรนด์เหล่านี้ โดยให้ความรู้ด้านการผลิตที่เราสั่งสมมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ CREMER นำความสามารถด้าน HME มาเผยแพร่ในเอเชีย โดยมีเป้าหมายที่จะให้การสนับสนุนด้านการผลิตแก่ชุมชนโปรตีนจากพืชที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่นี่”

Asia Sustainable Foods Platform ยังได้ลงนามในข้อตกลงกับ ADM อีกด้วย โดย ADM เป็นผู้นำระดับโลกด้านโภชนาการที่จะปูทางไปสู่การร่วมทุน เพื่อช่วยเปิดทางสู่บริการผลิตและพัฒนาตามสัญญาสำหรับโปรตีนจากจุลินทรีย์ที่ผลิตผ่านการหมักแบบแม่นยำ ความสามารถระดับโลกและความเชี่ยวชาญด้านการหมักที่เป็นนวัตกรรมของ ADM จะช่วยให้บริษัทเทคโนโลยีอาหารขนาดเล็กที่มีอยู่ ขยายนวัตกรรมการหมักของตนจนถึงระดับนำร่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์ (EDB)

“เราได้พูดคุยกับนักนวัตกรรม ตั้งแต่สตาร์ทอัพไปจนถึงผู้ให้บริการด้านอาหารที่อิ่มตัวแล้วในสิงคโปร์และทั่วทั้งเอเชียแปซิฟิก และพวกเขาบอกเราว่าตนตั้งตารอคอยคู่ค้าที่ให้การสนับสนุนเทคโนโลยีการหมักแบบแม่นยำสำหรับอาหารได้” คุณ Joe Taets ประธาน ADM ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าว “การร่วมทุนที่ไม่เคยมีมาก่อนนี้ในสิงคโปร์จะตอบสนองความต้องการดังกล่าวได้ และจะช่วยต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมโปรตีนทางเลือกในเอเชียแปซิฟิก”

คุณ Damian Chan รองประธานบริหารของคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์ กล่าวว่า “EDB มีความยินดีที่ได้สนับสนุน ADM และ Asia Sustainable Foods Platform ของเทมาเส็ก ในการสั่งสมความเชี่ยวชาญด้านการหมักแบบแม่นยำในสิงคโปร์ การร่วมทุนดังกล่าวตอบสนองความต้องการของนักนวัตกรรมในการพัฒนาและขยายตลาดโซลูชันการหมัก ที่ช่วยให้พวกเขาให้บริการลูกค้าทั่วโลกจากสิงคโปร์ได้ การร่วมทุนครั้งนี้จะเสริมความแข็งแกร่งให้กับอีโคซิสเต็มด้านเกษตรอาหารของเราผ่านการสร้างความมั่นใจว่า โครงสร้างพื้นฐานและความสามารถทางเทคโนโลยีที่เหมาะสมจะพร้อมกระตุ้นนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านเกษตรอาหาร”

โปรดสแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับความร่วมมือทางธุรกิจกับ Asia Sustainable Foods Platform:

เกี่ยวกับเทมาเส็ก

เทมาเส็ก (Temasek) เป็นบริษัทการลงทุนที่มีมูลค่าพอร์ตสุทธิ 3.81 แสนล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (2.83 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ, 2.41 แสนล้านยูโร, 2.06 แสนล้านปอนด์, 1.86 ล้านล้านหยวน) ณ วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2564 บริษัทมีสำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์ และมีสำนักงานย่อย 13 แห่งใน 9 ประเทศทั่วโลก

เทมาเส็ก ชาร์เตอร์ ได้กำหนดบทบาทของเทมาเส็กใน 3 ฐานะ อันได้แก่นักลงทุน สถาบัน และผู้ให้บริการ ซึ่งเป็นตัวกำหนดถึงหลักจริยธรรมในการทำให้ดี ทำในสิ่งที่ถูกต้อง และทำให้เหมาะสม ในฐานะผู้จัดหาเงินทุนเพื่อสร้างปฏิกิริยา (catalytic capital) บริษัทมุ่งมั่นที่จะค้นหาโซลูชันที่จะช่วยรับมือกับความท้าทายในระดับโลก

เทมาเส็กยึดมั่นในหลักความยั่งยืนตลอดการดำเนินธุรกิจ ด้วยเหตุนี้ ทางบริษัทจึงเดินหน้าแสวงหาโซลูชันที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่องเพื่อจัดการกับความท้าทายทั้งในปัจจุบันและอนาคต พร้อมคว้าโอกาสด้านการลงทุนอื่น ๆ ที่จะช่วยสร้างอนาคตที่มีความยั่งยืนให้กับทุกคน

ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทมาเส็กได้ที่ www.temasek.com.sg

เกี่ยวกับ Asia Sustainable Foods Platform

Asia Sustainable Foods Platform เป็นบริษัทลูกในเครือของเทมาเส็ก ซึ่งมีเป้าหมายที่จะสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าในเอเชีย ด้วยการมอบอาหารที่อร่อย สดสะอาด สอบทวนแหล่งที่มาได้ และผลิตตามหลักความยั่งยืน ผ่านการเร่งให้เกิดการจัดจำหน่ายอาหารที่ผลิตตามหลักความยั่งยืนในภูมิภาค บริษัทได้ช่วยแก้ไขปัญหาของบริษัทเทคโนโลยีอาหาร ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้เกิดการเติบโตในทุกย่างก้าวของวัฏจักร พร้อมบรรเทาอุปสรรคในการดำเนินงาน ในช่วงเวลาที่บริษัทต่าง ๆ เร่งยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และนำร่องการค้าเชิงพาณิชย์เพื่อขยายกลยุทธ์การเข้าสู่ตลาด

Exit mobile version