9krapalm.com

สสส. เผยหนังสั้น “บ้านปอด” เป็นสุดยอดผลงาน “ดีไซน์ฮีโร่” รับถ้วยพระราชทานฯ ไปครอง โดย Art4D ชี้ชัด ผลงานโดดเด่น สามารถต่อยอดเป็นงานโฆษณาระดับมืออาชีพได้

จากสถานการณ์สิ่งแวดล้อมเมื่อต้นปี พ.ศ.2563 ที่ผ่านมาพบว่ามีมลพิษทางอากาศเกิดขึ้นและสะสมมาเป็นระยะเวลานาน และเริ่มส่งผลกระทบที่รุนแรงขึ้น คุณภาพของอากาศที่มีค่าฝุ่นละออง PM. 2.5 และ PM. 10 อยู่ในระดับที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มเข้ามามีผลกระทบกับร่างกายขั้นรุนแรง รวมไปถึงการเกิดขึ้นของโรคระบาดอุบัติใหม่ ที่เรียกว่า โควิด-19 เกิดการระบาดในวงกว้าง ทำให้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกแล้วกว่า 240 ล้านคน และกว่า 1.8 ล้านคนในประเทศไทย โครงการDESIGN HERO : THE NEW NORMAL จึงเกิดขึ้นด้วยการเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาอายุระหว่าง 15-25 ปี จำนวน 11 ทีม (คัดเลือกจากผู้ส่งใบสมัครเข้ามากว่า 70 ทีม) มาใช้ความคิดสร้างสรรค์และความรู้ความสามารถของตนเองสร้างสรรค์ผลงานทั้งในด้านการออกแบบแขนงต่างๆ, การสื่อสาร, การออกแบบชุดกิจกรรมหรือกระบวนการที่เป็นประโยชน์ หรือการสร้างนวัตกรรมเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในภาวะวิกฤต ก่อให้เกิดการสร้างความรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เกิดการพึ่งพาตนเองด้วยผลงานที่ไม่จำกัดรูปแบบ ด้วยการสนับสนุนจากโครงการปิ๊งส์ โดยแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับนิตยสาร อาร์ตโฟร์ดี (art4d) ขึ้น
โดยนายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า เยาวชนทั้ง 11 ทีม มาจากทั่วทุกภาคของประเทศ ได้แก่ ทีม withFriend จากโรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี จ.พิษณุโลก ทีมหิ่งห้อยน้อย จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ทีม Maskmask จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ทีม B-Hero จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทีม BEST FRIEND จาก โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ทีม Green Lover จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิยาลัยตรัง จ.ตรัง ทีมศิลแปะ Sticky Art จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ทีม THE 19 Divoc จากวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ สะพานใหม่ ทีม MALOMTOM จากวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ สะพานใหม่ ทีม อยากชงกาแฟ จากวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ สะพานใหม่ และทีม STYLE KAMPONG จากมหาวิทยาลัยสงขลานคริทร์วิทยาเขตปัตตานี, วิทยาลัยอาชีวศึกษาผดุงประชายะลา, มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา
เมื่อน้องๆ ส่งผลงานมา พบว่าเหนือความคาดหมายมาก เยาวชนคนรุ่นใหม่สมัยนี้มีความสามารถที่ไม่ธรรมดา บางผลงานสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นงานโฆษณาดีๆ ได้ ส่วนบางผลงานมีความเป็นสากลสามารถนำไปต่อยอดและโปรโมทไปในระดับนานาชาติได้เลย โดยสามารถติดตามชมผลงานทั้งหมดนี้ได้บนแพลตฟอร์มออนไลน์ใน 5 ช่องทางคือ Youtube, Facebook, Instagram, Twitter และ TikTok หรือที่แฮชแท็ก #DesignHero #TheNewNormal #pings #PM2.5 #COVID19 และนอกจากการเผยแพร่บนแพลตฟอร์มออนไลน์แล้ว ยังได้นำไปจัดแสดงในงาน BANGKOK DESIGN WEEK 2021 ที่ผ่านมาด้วย เพื่อนำคะแนนจากการจัดแสดงและเผยแพร่มารวมกับคะแนนของคณะกรรมการโครงการฯ คัดเลือกหาผลงานที่ดีที่สุด รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี
จากการพิจราณาตัดสินนั้น ผลงานประเภทหนังสั้น เรื่องบ้านปอด ของทีม MALOMTOM จากวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ SBAC สะพานใหม่ เป็นผลงานที่ดีที่สุดได้รับรางวัลชนะเลิศ รับถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนสนับสนุนการศึกษาและต่อยอดกิจกรรม 30,000 บาท และประกาศนียบัตรไปครอง , รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ผลงานบอร์ดเกม ประเภท Bluffing games (เกมบลัฟ) หรือเกมล่ามนุษย์หมาป่า ของทีม THE 19 Divoc จากวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ SBAC สะพานใหม่ รับทุนสนับสนุนการศึกษาและต่อยอดกิจกรรม 20,000 บาท โล่เกียรติคุณและประกาศนียบัตร , รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ผลงานประเภทการ์ตูน แอนิเมชั่น เรื่องหิ่งห้อยน้อยตะลุยนิวนอร์มอล ของทีมหิ่งห้อยน้อย จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี รับทุนสนับสนุนการศึกษาและต่อยอดกิจกรรม 10,000 บาท โล่เกียรติคุณและประกาศนียบัตร สำหรับรางวัลชมเชยมี 2 รางวัล ได้แก่ ผลงานประเภทการ์ตูน แอนิเมชั่น เรื่องBEST FRIEND ของทีม BEST FRIEND จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ และ ผลงานประเภทแอพพลิเคชั่น ของทีม B-Hero จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยแต่ละรางวัลได้รับทุนสนับสนุนการศึกษาและต่อยอดกิจกรรม 5,000 บาทและประกาศนียบัตร
ทั้งนี้ นายดนัย หวังบุญชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับก้าวต่อไป สสส. โดยแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ อยากจะเห็นการมีส่วนร่วมของสถาบันการศึกษา ครู พี่เลี้ยง รวมทั้งอาจารย์ที่ปรึกษา กับการทำงานเป็นกลุ่มของนักศึกษามาออกแบบเพื่อสังคม, สิ่งแวดล้อม, สุขภาพ ที่เป็นโปรเจกต์การทำงานด้านการออกแบบในเชิงกึ่งวิทยานิพนธ์ และสามารถนำมาใช้จริงกับสังคมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือขยับขับเคลื่อนสังคม หรือสามารถก้าวไปเป็นผู้ประกอบการเองได้อย่างยั่งยืน แต่จะออกมาเป็นโครงการในรูปแบบไหน? อย่างไร? สามารถติดตามรายละเอียดได้อย่างต่อเนื่องที่เว็บไซต์ www.artculture4health.com, www.pings.artculture4health.com และที่แฟนเพจ www.facebook.com/artculture4h, www.facebook.com/pingsproject ซึ่ง สสส. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าธุรกิจที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นต่อไป

Exit mobile version