นักวิจัยเผยโสมและโสมแดงช่วยยับยั้งการสูญเสียมวลกระดูกและกล้ามเนื้อ ในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติว่าด้วยโสม ครั้งที่ 13

สมาคมโสมแห่งเกาหลี (The Korean Society of Ginseng) จัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติว่าด้วยโสม ครั้งที่ 13 (13th International Symposium on Ginseng) เมื่อวันที่ 25-28 ตุลาคม ณ โรงแรมลอตเต้ โฮเทล ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

โสมเกาหลี (ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Panax Ginseng) ใช้ในการรักษาโรคต่าง ๆ มานานราว 2,000 ปีแล้ว และเป็นพืชสมุนไพรที่ถูกใช้มากที่สุดในตำราแพทย์แผนโบราณของเกาหลี “ทงอึยโพกัม” (Dongui Bogam) ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากผลการวิจัยมากมายเกี่ยวกับโสมและโสมแดง กระทรวงความปลอดภัยอาหารและยาของเกาหลีได้ให้การรับรองสรรพคุณ 6 ประการอย่างเป็นทางการ เช่น การเสริมภูมิคุ้มกัน การบรรเทาความเหนื่อยล้า การเสริมความจำ และการเพิ่มการไหลเวียนเลือด เป็นต้น

ในระหว่างการประชุมได้มีการเผยแพร่ผลการวิจัยมากมายเกี่ยวกับโสม เช่น สรรพคุณของโสมในการเสริมภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านการติดเชื้อโควิด-19 โดยทีมงานของศาสตราจารย์ซอซังฮี (Seo Sang-hee) จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติชุงนัม ประเทศเกาหลีใต้ และสรรพคุณของโสมแดงในการยับยั้งความเสียหายของตับเมื่อได้รับสารหนู โดยทีมงานของศาสตราจารย์เอส.เอ็ม. คามรุซซามาน (S.M. Kamruzzaman) จากบังกลาเทศ

ทีมงานของศาสตราจารย์ฮยอกยอง ควอน จากมหาวิทยาลัยซุนชอนฮยาง พิสูจน์ว่าโสม (จินเซนโนไซด์ อาร์ดี) ช่วยยับยั้งการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ

ทีมงานของศาสตราจารย์ฮยอกยอง ควอน (Hyuk-Young Kwon) จากมหาวิทยาลัยซุนชอนฮยาง ประกาศว่าสารจินเซนโนไซด์ อาร์ดี (Ginsenoside Rd) มีฤทธิ์ยับยั้งการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ โดยจากการศึกษาพบว่า หนูทดลองอายุมากที่ได้รับจินเซนโนไซด์ อาร์ดี มีกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้นจนอยู่ในระดับเดียวกับหนูโตเต็มวัยที่มีสุขภาพปกติ นอกจากนี้ ขนาดของเซลล์กล้ามเนื้อยังเพิ่มขึ้นในกลุ่มที่ได้รับจินเซนโนไซด์ อาร์ดี เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ส่วนจำนวนนิวเคลียสต่อเซลล์นั้น พบว่าจำนวนนิวเคลียสของหนูอย่างน้อย 6 ตัวเพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 37%

ทีมงานของศาสตราจารย์นารายานัน จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน พิสูจน์ว่าโสมแดงช่วยป้องกันการสูญเสียมวลกระดูกด้วยการรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้

ทีมงานของศาสตราจารย์นารายานัน (Narayanan) จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนในสหรัฐอเมริกา แบ่งหนูตัวผู้โตเต็มวัย 21 ตัว ออกเป็น 4 กลุ่ม และฉีดยาปฎิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อกว้างเป็นเวลา 2 สัปดาห์ จากนั้นฉีดน้ำให้หนูกลุ่มหนึ่ง และฉีดสารสกัดโสมแดง 500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน ให้หนูอีกกลุ่มหนึ่งนาน 4 สัปดาห์ ผลปรากฏว่า ความหลากหลายของจุลินทรีย์ในลำไส้ของหนูลดลงอย่างมากเมื่อให้ยาปฏิชีวนะ แต่อัตราการลดลงดังกล่าวถูกยับยั้งในกลุ่มที่ได้รับโสมแดง นอกจากนั้นยังพบการสูญเสียมวลกระดูกอย่างมากในบริเวณกระดูกต้นขาและกระดูกสันหลังของหนูหลังได้รับยาปฏิชีวนะ แต่การสูญเสียมวลกระดูกถูกยับยั้งในกลุ่มที่ได้รับโสมแดง

รูปภาพ – https://mma.prnewswire.com/media/1941690/Professor_Narayanan.jpg
คำบรรยายภาพ – ศาสตราจารย์นารายานัน