9krapalm.com

“คันทาร์ แบรนด์ซี” เผยผลจัดอันดับแบรนด์ที่มีมูลค่ามากที่สุด 30 อันดับแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชี้มีมูลค่ารวมกันถึง 1.196 แสนล้านดอลลาร์

• แบงก์ เซ็นทรัล เอเชีย ( BCA) ขึ้นแท่นแบรนด์ที่มีมูลค่ามากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
• ผู้ให้บริการทางการเงินและโทรคมนาคมครองกระดานในการจัดอันดับครั้งแรกของคันทาร์ แบรนด์ซี
• แบรนด์ในภูมิภาคนี้ยังเป็นแบรนด์ที่ได้รับความไว้วางใจเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตของผู้บริโภคด้วย

คันทาร์ แบรนด์ซี (Kantar BrandZ) เปิดตัวรายงานการจัดอันดับแบรนด์ที่มีมูลค่าสูงสุด 30 อันดับแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นครั้งแรก ผลปรากฏว่า แบงก์ เซ็นทรัล เอเชีย (Bank Central Asia หรือ BCA) ของอินโดนีเซีย เป็นแบรนด์ที่มีมูลค่าสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีมูลค่า 2.35 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยแบรนด์ 30 อันดับแรกนั้นประกอบด้วยแบรนด์ในเวียดนาม ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ มีมูลค่าแบรนด์รวมกัน 1.196 แสนล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ แบงก์ เซ็นทรัล เอเชีย ก่อตั้งขึ้นในปี 2500 ซึ่งได้เข้ามาบุกเบิกการพลิกโฉมทางดิจิทัลในภาคบริการทางการเงินด้วยบริการโมบายแบงค์กิ้งยอดนิยม โดยมีเครือข่ายกว้างขวางทั่วประเทศอินโดนีเซีย ทั้งยังขยับขยายไปทำธุรกิจในระดับภูมิภาคด้วย

แบรนด์มูลค่าสูงสุด 10 อันดับแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการจัดอันดับประจำปี 2566 ของคันทาร์ แบรนด์ซี
อันดับในปี 2566 แบรนด์ หมวดธุรกิจ มูลค่าแบรนด์ปี 2566 (หลักล้านดอลลาร์สหรัฐ) ประเทศต้นกำเนิด
1 บีซีเอ ( BCA) บริการทางการเงิน 23,447 อินโดนีเซีย
2 ดีบีเอส ( DBS) บริการทางการเงิน 11,755 สิงคโปร์
3 บีอาร์ไอ ( BRI) บริการทางการเงิน 8,644 อินโดนีเซีย
4 ยูโอบี ( UOB) บริการทางการเงิน 7,180 สิงคโปร์
5
เอไอเอส บริการโทรคมนาคม 6,801 ไทย
6 มันดีรี ( Mandiri) บริการทางการเงิน 6,596 อินโดนีเซีย
7 เทลคอมเซล ( Telkomsel) บริการโทรคมนาคม 4,661 อินโดนีเซีย
8 ช้อปปี้ ( Shopee) ค้าปลีก 4,593 สิงคโปร์
9 มารินา เบย์ แซนด์ส
( Marina Bay Sands) บริการท่องเที่ยว 4,433 สิงคโปร์
10 ทรู บริการโทรคมนาคม 3,134 ไทย

เมื่อประเมินในภาพรวมแล้ว ผู้ให้บริการทางการเงินและผู้ให้บริการโทรคมนาคมครองพื้นที่ไปถึง 2 ใน 3 ของแบรนด์ในการจัดอันดับทั้งหมด และมีมูลค่าคิดเป็น 79% ของทั้งหมด โดยแบงก์ เซ็นทรัล เอเชีย เป็น 1 ในธนาคาร 11 แห่งที่ติด 30 อันดับแรก และติด 1 ใน 5 ที่อยู่ใน 10 อันดับแรกด้วย ซึ่งอิทธิพลของแบรนด์นี้สะท้อนให้เห็นได้ว่า แบรนด์ที่รวมทุกอย่างที่ลูกค้าต้องการไว้ในหนึ่งเดียวนี้ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคว่ามีความโดดเด่นและตอบโจทย์ได้เป็นพิเศษ ส่วนหมวดธุรกิจที่กวาดอันดับไปได้มากที่สุดรองลงมานั้นได้แก่หมวดผู้ให้บริการโทรคมนาคม โดยมี 9 แบรนด์ หรือประมาณ 1 ใน 5 ที่มีมูลค่าติด 30 อันดับแรก รองลงมาคือธุรกิจค้าปลีกซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 8% ของทั้งหมด ตามมาด้วยบริการท่องเที่ยวที่ 6%

อินโดนีเซียกวาด 30 อันดับแรกไปได้ 8 แบรนด์ และมีมูลค่าแบรนด์รวมกันมากสุดที่ 43% ของทั้งหมด ส่วนสิงคโปร์กวาดไปได้ 10 แบรนด์ มากสุดในบรรดาตลาดทั้ง 6 แห่ง ซึ่งคิดเป็น 35% ของมูลค่าทั้งหมด แบรนด์ที่มีมูลค่ามากที่สุดของสิงคโปร์คือธนาคารดีบีเอส (อันดับ 2 มูลค่า 1.18 หมื่นล้านดอลลาร์) ซึ่งเป็นแบรนด์ที่มุ่งให้บริการธนาคารอย่างมีความรับผิดชอบและสร้างผลลัพธ์อันดีต่อสังคม มอบประสบการณ์การใช้งานที่อุ่นใจได้ ช่วยให้ลูกค้า ‘ใช้ชีวิตมากขึ้น ไปธนาคารน้อยลง’

มาเลเซียมี 7 แบรนด์ใน 30 อันดับแรก คิดเป็น 10% ของมูลค่าแบรนด์ทั้งหมด แบรนด์อันดับสูงสุดของมาเลเซียคือผู้ให้บริการโทรคมนาคมอย่างแม็กซิส (Maxis) (อันดับที่ 13 มูลค่า 2.6 พันล้านดอลลาร์) ซึ่งวางตัวเองเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรม และขยายความครอบคลุมของเครือข่าย 5G พร้อมขยายโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ส่วนไทยมีแบรนด์ติด 30 อันดับแรกอยู่ 3 แบรนด์ คิดเป็น 10% ของมูลค่าทั้งหมดเช่นกัน แบรนด์อันดับหนึ่งของไทยอย่างเอไอเอส (อันดับ 5 มูลค่า 6.8 พันล้านดอลลาร์) เป็นแบรนด์อันดับสูงสุดในกลุ่มโทรคมนาคม และเป็นเครือข่ายโทรศัพท์มือถือระบบจีเอสเอ็มที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งวางตัวเป็นเครือข่ายระดับพรีเมียมด้วยบริการคุณภาพสูงและคุ้มค่า

เวียดนามและฟิลิปปินส์ติดอันดับในการจัดอันดับนี้ไปประเทศละ 1 แบรนด์ โดยเวียดคอมแบงก์ (Vietcombank) (อันดับที่ 21 มูลค่า 1.8 พันล้านดอลลาร์) ได้ลงทุนอย่างมากในการพัฒนาบริการดิจิทัลเพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้า ขณะที่เรด ฮอร์ส เบียร์ (Red Horse Beer) ของฟิลิปปินส์ (อันดับที่ 28 มูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์) มีสินค้าจำหน่ายทั้งในฟิลิปปินส์และตลาดอีก 71 แห่ง แบรนด์นี้สื่อสารกับผู้บริโภคโดยอาศัยความเป็นชายที่ดุดัน ไม่เกรงใจใคร สะท้อนให้เห็นในคำว่า “astig” ซึ่งแปลว่า “เท่” ในภาษาตากาล็อก

มุ่งทำธุรกิจในท้องถิ่น สำรวจโอกาสในเวทีโลก เมื่อเทียบกับแบรนด์ที่แข็งแกร่งที่สุดในตลาดอื่น ๆ ในการสำรวจของคันทาร์ แบรนด์ซี แล้ว แบรนด์ชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างสร้างธุรกิจ “ที่บ้าน” เกือบทั้งหมด โดยมีเพียง 20% เท่านั้นที่สร้างไว้ในตลาดต่างประเทศ ซึ่งชูให้เห็นโอกาสให้แบรนด์เหล่านี้ขยับขยายไปสู่ดินแดนใหม่ ๆ เพื่อสร้างมูลค่า

พลังความต้องการสูง แบรนด์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สร้างการเชื่อมต่ออันทรงพลังกับผู้บริโภคในท้องถิ่น ส่งผลให้เกิดพลังความต้องการสูงสุดเมื่อเทียบกับตลาดอื่น ๆ ในการจัดอันดับของคันทาร์ แบรนด์ซี พลังความต้องการที่ว่านี้เป็นเกณฑ์ที่คันทาร์ แบรนด์ซี ใช้วัดความสามารถของแบรนด์ในการกระตุ้นให้ผู้บริโภคต้องการซื้อ โดยแบรนด์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีพลังความต้องการสูงสุดนั้นมีมูลค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึงเท่าตัว เมื่อเทียบกับแบรนด์อื่น ๆ ที่มีพลังความต้องการน้อยกว่า

ขับเคลื่อนด้วยคุณค่า แบรนด์ต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความเป็นเลิศในการให้เหตุผลแสดงความชอบธรรมของราคาที่คิดกับลูกค้า โดยแสดงให้เห็นว่าแบรนด์ของตน ‘ควรค่าแล้ว’ ซึ่งแม้จะมีข้อจำกัดด้านงบประมาณอยู่บ้าง แต่ผู้บริโภคก็ยินดีจ่ายมากขึ้นให้กับแบรนด์ที่ตอบสนองความต้องการได้และโดดเด่นกว่าคู่แข่ง ซึ่งความมุ่งมั่นในความเป็นเลิศ ความใส่ใจในรายละเอียด และบริการลูกค้าที่ยอดเยี่ยมของสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส (Singapore Airlines) (อันดับ 11 มูลค่า 2.9 พันล้านดอลลาร์) ได้เข้ามามีส่วนช่วยให้ทางสายการบินคิดราคาได้แพงขึ้น

เคธี แม็คคลินท็อค ( Katie McClintock) กรรมการผู้จัดการประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของคันทาร์ กล่าวว่า “แบรนด์ชั้นนำในภูมิภาคของเรามีเหตุให้ได้เฉลิมฉลองแล้ว แบรนด์เหล่านี้สร้างคุณค่าสำคัญให้บริษัทที่อยู่เบื้องหลัง โดยเชื่อมต่อกับผู้บริโภคและปรับตัวให้สอดรับกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป ในภูมิภาคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หลากหลาย และเติบโตมากเช่นนี้ แบรนด์ต่าง ๆ จำเป็นต้องมีความคล่องตัว และผู้ที่ติด 30 อันดับแรกล้วนมีความเป็นเลิศในการทำให้ตัวเองมีบทบาทสำคัญอยู่เสมอ แบรนด์เหล่านี้มีศักยภาพมหาศาลเพื่อให้เติบโตต่อไปได้ หากนำจุดแข็งของตนในท้องถิ่นไปใช้กับตลาดอื่น ๆ ในเอเชียและแม้แต่ตลาดโลกได้”

อัดจิ สาปุตโร ( Adji Saputro) หัวหน้าฝ่ายโซลูชันสนับสนุนแบรนด์ประจำเอเชียแปซิฟิกของคันทาร์ แสดงความเห็นว่า “แบรนด์ทั้งหลายล้วนมีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่วุ่นวาย แบรนด์ที่มีมูลค่าสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างกำลังเติบโต โดยวางตัวเป็นแบรนด์ที่แตกต่างอย่างมีความหมายสำหรับผู้บริโภค และนี่จะเป็นกุญแจสำคัญในการเติบโตเมื่องบประมาณมีความตึงตัวมากขึ้น เราจึงควรคิดใหม่ในการหาวิธีสร้างความไว้วางใจจากผู้บริโภคในยามที่ค่านิยมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ในขณะเดียวกันก็ทำให้ข้อเสนอของแบรนด์นำเสนอเอกลักษณ์ที่แท้จริงออกมาได้ ซึ่งเป็นความสมดุลที่ละเอียดอ่อนที่แบรนด์ต้องพยายามทำให้สำเร็จ แบรนด์ยังต้องสื่อสารอย่างต่อเนื่อง ยั้งใจในเรื่องการลดการใช้จ่าย และบอกเล่าเรื่องราวที่สอดรับกับวัฒนธรรมของแต่ละที่ เพื่อแสดงให้เห็นบทบาทของตนในการเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้บริโภค”

แนวโน้มอื่น ๆ ในการจัดอันดับแบรนด์ที่มีมูลค่าสูงสุด 30 อันดับแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของคันทาร์ แบรนด์ซี
• แบรนด์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับความไว้วางใจมากเป็นอันดับสองของโลก แบรนด์ที่ได้รับความไว้วางใจอย่างลึกซึ้งที่สุดเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอน อินโดมี่ (Indomie) (อันดับที่ 15 มูลค่า 2.4 พันล้านดอลลาร์) เป็นผู้นำใน 30 อันดับแรกในด้านนี้ ซึ่งสร้างความไว้วางใจมาได้จากการนำเสนอรสชาติที่คุ้นเคยอย่างที่เป็นที่ชื่นชอบมาหลายชั่วอายุคน
• ความตอบโจทย์ทำให้เกิดความต้องการ แบรนด์ที่ผู้บริโภคมองว่า ‘ตอบโจทย์ชีวิตประจำวันได้ดี’ มีพลังความต้องการมากกว่าเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับแบรนด์ที่ตอบโจทย์ได้น้อยที่สุด โดยแพลตฟอร์มแกร็บ (Grab) ของมาเลเซีย (อันดับ 19 มูลค่า 2.0 พันล้านดอลลาร์) ถูกมองว่าตอบโจทย์มากที่สุด เพราะแบรนด์นี้นำเสนอบริการได้อย่างครอบคลุม ทำให้เป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์ความต้องการในชีวิตประจำวันได้ ไม่ว่าจะเป็นแกร็บคาร์ (GrabCar) แกร็บฟู้ด (GrabFood) และบริการจัดส่งของอย่างแกร็บเอ็กซ์เพรส (GrabExpress)
• ความยั่งยืนเป็นปัจจัยขับเคลื่อนคุณค่า ผู้บริโภคคาดหวังให้ธุรกิจต่าง ๆ มีบทบาทเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคม และช่วยให้พวกเขาตัดสินใจเลือกได้อย่างยั่งยืน โดยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีไม่กี่แบรนด์ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นแบรนด์ที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืนจริง ๆ นับเป็นการเปิดโอกาสสำคัญให้สร้างชื่อเป็นผู้บุกเบิกได้
ดูผลการจัดอันดับแบรนด์ที่มีมูลค่าสูงสุด 30 อันดับแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งแรกของคันทาร์ แบรนด์ซี รวมถึงรายงานและผลวิเคราะห์โดยละเอียดได้ที่ http://www.kantar.com/campaigns/brandz/southeast-asia

หมายเหตุถึงบรรณาธิการ
เกี่ยวกับคันทาร์ แบรนด์ซี : คันทาร์ แบรนด์ซี (Kantar BrandZ) เป็นมาตรฐานสากลที่ใช้ประเมินมูลค่าแบรนด์ โดยวัดการมีส่วนร่วมของแบรนด์ที่มีต่อผลประกอบการทางการเงินของธุรกิจ โดยการจัดอันดับการประเมินมูลค่าแบรนด์ระดับโลกและระดับท้องถิ่นประจำปีของคันทาร์นั้น รวมข้อมูลทางการเงินที่ได้รับการวิเคราะห์อย่างเข้มงวด เข้ากับการศึกษาตัวแบรนด์อย่างครอบคลุม แบรนด์ซีได้แบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการสร้างแบรนด์กับผู้นำธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2541 จากการสัมภาษณ์ผู้บริโภค 4.2 ล้านคน ให้แบรนด์ต่าง ๆ ราว 21,000 แบรนด์ในตลาด 54 แห่ง ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคันทาร์ แบรนด์ซี ได้ที่นี่

การจัดอันดับแบรนด์ที่มีมูลค่าสูงสุด 30 อันดับแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของคันทาร์ แบรนด์ซี คือการจัดอันดับแบรนด์ในภูมิภาคที่มีความน่าเชื่อถือและเข้มแข็งมากที่สุด โดยการจัดอันดับในปี 2566 นั้น รวบรวมความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 98,048 ราย โดยถามเกี่ยวกับแบรนด์ต่าง ๆ รวมกันราว 1,744 แบรนด์ ใน 78 หมวดธุรกิจ และ 6 ตลาด ซึ่งแบรนด์จะมีสิทธิได้รับการจัดอันดับเมื่อมีคุณสมบัติอย่างน้อยหนึ่งข้อตามเกณฑ์เหล่านี้

• แบรนด์ต้องมีต้นกำเนิดในอินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม หรือมาเลเซีย
• แบรนด์ต้องเป็นของบริษัทจดทะเบียน และบริษัทต้องเผยแพร่งบการเงินเป็นสาธารณะ
• บริษัทระดับยูนิคอร์นต้องมีข้อมูลประเมินมูลค่าล่าสุดเผยแพร่เป็นสาธารณะ
• ในกรณีของธนาคาร รายได้จากการดำเนินงานอย่างน้อย 30% ต้องมาจากธุรกิจรายย่อย
• แบรนด์ที่จัดอันดับเป็นแบรนด์ที่ให้บริการลูกค้าเอง

เกี่ยวกับคันทาร์ – คันทาร์ (Kantar) เป็นธุรกิจข้อมูลการตลาดและการวิเคราะห์ชั้นนำของโลก และเป็นพันธมิตรด้านแบรนด์ที่บริษัทชั้นนำของโลกขาดไม่ได้ เรารวมข้อมูลด้านทัศนคติและพฤติกรรมที่มีความหมายมากที่สุดเข้ากับความเชี่ยวชาญและการวิเคราะห์อย่างล้ำลึก เพื่อเผยให้เห็นวิธีคิดและการกระทำของผู้คน เราช่วยให้ลูกค้าเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นและสาเหตุเบื้องหลัง พร้อมเผยแนวทางวางกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อกำหนดทิศทางอนาคตของลูกค้า ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.kantar.com

Exit mobile version