ประธาน COP28 เรียกร้องให้รัฐบาล ‘คิดให้ใหญ่ ทำให้ถึง’ ในแผนส่งเสริมสภาพภูมิอากาศระดับชาติที่สอดรับกับฉันทมติของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ณ การประชุมปีเตอร์สเบิร์ก ไคลเมต ไดอะล็อก

เบอร์ลิน, 26 เมษายน 2567 /PRNewswire/ — ดร.สุลต่าน อัล จาเบอร์ ประธาน COP28 ได้เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ‘คิดให้ใหญ่ ทำให้ถึง’ ในแผนส่งเสริมสภาพภูมิอากาศระดับชาติ โดยได้มีถ้อยแถลงดังกล่าวในการประชุมระดับสูง ณ การประชุมปีเตอร์สเบิร์ก ไคลเมต ไดอะล็อก (Petersberg Climate Dialogue) ประจำปี ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ (Olaf Scholz) ของเยอรมนี ประธานาธิบดีอิลฮัม อาลีเยฟ (Ilham Aliyev) ของอาเซอร์ไบจาน และรัฐมนตรีกระทรวงสภาพภูมิอากาศและการต่างประเทศเข้าร่วมมากมาย

ประธาน COP28 ได้เน้นย้ำว่า ฉันทมติของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้กลายเป็นแบบอย่างที่ทั่วโลกใช้อ้างอิงเพื่อดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน นับตั้งแต่ที่ก่อตั้งขึ้นในดูไบเมื่อปีที่แล้ว

“ฉันทมติของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นับเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ในการทูตด้านสภาพภูมิอากาศ เพราะเกิดความคืบหน้าครอบคลุมหลายภาคส่วนในเรื่องสภาพภูมิอากาศ” ดร.อัล จาเบอร์ ประกาศ “เมื่อรวมพลังกันแล้ว เราก็ได้เข้ามาวางแนวทางที่ชัดเจนในการผลักดันการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานโดยมีวิทยาศาสตร์รองรับ และตามรอยทางแสงสว่างแห่งดาวเหนือเพื่อรักษาระดับอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศา”

ดร.อัล จาเบอร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เราได้ร่วมกันตั้งเป้าหมายในเรื่องพลังงานหมุนเวียนระดับโลกเป็นครั้งแรก เราได้เข้ามากำหนดเป้าหมายด้านธรรมชาติเป็นครั้งแรกมากมาย โดยได้กำหนดเป้าหมายในการยุติการตัดไม้ทำลายป่าให้ได้ภายในปี 2573 เราได้เกิดความก้าวหน้าในด้านการเงิน แก้ไขปัญหาด้านความสูญเสียและเสียหายที่ติดขัดมานานถึง 30 ปีเป็นผลสำเร็จ และเริ่มเติมเงินทุนที่มีบทบาทสำคัญต่อความยุติธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ เรายังได้นำภาคส่วนที่อาจไม่ได้รับความสนใจมากพอ เช่น อาหารและสุขภาพ มารวมไว้ในวาระของ COP เป็นครั้งแรกด้วย และเราทำทั้งหมดนี้ได้แม้ต้องเผชิญกับความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าการทำงานร่วมกันหลายฝ่ายยังคงได้ผล และความสามัคคีเป็นสิ่งที่เอาชนะการแบ่งขั้วได้ สรุปได้ว่า เราได้ส่งข้อความแห่งความหวัง การมองโลกในแง่ดี และการไม่แบ่งแยก ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ในโลกทุกวันนี้”

คอป เพรซิเดนซีส์ ทรอยกา (COP Presidencies Troika) เป็นโครงการริเริ่มที่มีเป้าหมายเพื่อผลักดันความต่อเนื่องระหว่าง COP28, COP29 และ COP30 และขับเคลื่อนการดำเนินการตามฉันทมติของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โครงการดังกล่าวกำลังผลักดันให้รัฐบาลต่าง ๆ “มีความทะเยอทะยานมากขึ้น” เมื่อวางแผนการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ครั้งต่อไป ดร.อัล จาเบอร์ กล่าวว่า รัฐบาลควรกำหนดแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกครอบคลุมทั้งระบบเศรษฐกิจ และจัดทำแผนสนับสนุนการปรับตัวระดับชาติที่ “ได้รับทุนสนับสนุนอย่างดี” เพื่อปกป้องธรรมชาติและพลิกโฉมระบบอาหาร

“ผมเพียงต้องการส่งข้อความถึงรัฐบาลประเทศต่าง ๆ เพื่อคิดให้ใหญ่ ทำให้ถึง” ดร.อัล จาเบอร์ กล่าวต่อผู้แทนในการประชุม “ส่งข้อความให้ชัดเจนตั้งแต่เนิ่น ๆ ด้วย NDC ครั้งถัดไป โดยยกให้โครงสร้างพื้นฐานสีเขียวเป็นหัวใจสำคัญในแผนการพัฒนา”

ประธาน COP28 ยังสนับสนุน “นโยบายอันชาญฉลาดที่ผลักดันอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้ก้าวไปอีกขั้น และจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุน” และเสริมว่า “เรากำลังพูดถึงการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบที่สะท้อนโอกาสที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมนับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรก พูดง่าย ๆ ก็คือ โลกของเราจะดีขึ้นหลังการพลิกโฉมครั้งนี้ แต่สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นหากไม่มีการลงทุนจำนวนมากและไม่มีการยกระดับการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศ”

ดร.อัล จาเบอร์ ได้เน้นย้ำประเด็นสำคัญในการลงทุน 4 ประการ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี ผู้คน และประเทศโลกใต้ โดยในด้านโครงสร้างพื้นฐานนั้น ทั่วโลกจำเป็นต้องลงทุนอย่างน้อย 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายปี 2573 ในการพัฒนากำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 11 เทราวัตต์ ด้วย “การลงทุนในระดับที่ใกล้เคียงกัน” ในโครงข่ายพลังงานที่ล้าสมัยหรือไม่มีอยู่ตั้งแต่แรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา

ปัญญาประดิษฐ์ “เป็นตัวเปลี่ยนเกมได้” โดยเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและแก้ปัญหาท้าทายในเรื่องความแปรปรวนของพลังงานหมุนเวียน ทั้งยังลดการใช้น้ำได้อีกด้วย “ยิ่งเรานำเอไอมาใช้ในภาคส่วนที่ใช้พลังงานและน้ำจำนวนมากได้เร็วเท่าไร ก็จะได้ประโยชน์จากเอไอได้เร็วขึ้นเท่านั้น”

ทุกประเทศควรลงทุนในบุคลากรของตนด้วย เพื่อพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ในการสร้างเศรษฐกิจสีเขียวรูปแบบใหม่ ในขณะที่ดร.อัล จาเบอร์ ย้ำถึงความจำเป็นในการเพิ่มการลงทุนในประเทศโลกใต้ว่า “ขณะนี้ ประเทศกำลังพัฒนากว่า 120 ประเทศดึงดูดการลงทุนด้านเทคโนโลยีสะอาดได้ไม่ถึง 15% ของทั้งโลก” และเสริมว่า “ธนาคารเพื่อการพัฒนาในระดับพหุภาคีจำเป็นต้องทำให้การเงินมีพร้อมมากขึ้น เข้าถึงได้ และราคาไม่แพง”

ดร.อัล จาเบอร์ เปิดเผยว่า การเปลี่ยนผ่านทางพลังงานเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและ “จะเกิดขึ้นในจังหวะที่ต่างกันในสถานที่ต่าง ๆ และเราจะถอดปลั๊กระบบพลังงานในปัจจุบันไม่ได้จนกว่าจะมีการสร้างระบบใหม่” นอกจากนี้ยังจะต้องยุติธรรม เสมอภาค และมีความรับผิดชอบ สอดรับกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ในฉันทมติของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ในระหว่างการประชุมไคลเมต ไดอะล็อก ทางคอป เพรซิเดนซีส์ ทรอยกา ยังได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมมัจลิส (Majlis) ที่มีรากฐานมาจากประเพณีที่มีมายาวนานของชาวเอมิเรตส์ เพื่อหารือเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานด้วย

 

 

View original content to download multimedia: Read More