ผลสำรวจเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปี 2558[1] ของวีซ่า (Visa Consumer Payment Attitudes Study 2015) แสดงให้เห็นว่าตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องเพราะผู้บริโภคนิยมใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตในการชำระเงินออนไลน์ โดยสองในสามของผู้บริโภคช้อปปิ้งออนไลน์อย่างน้อยเดือนละครั้ง และมากกว่าครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม (53 เปอร์เซ็นต์) ได้ใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตในการชำระเงินออนไลน์
ผลสำรวจฉบับนี้ได้ศีกษาเทรนด์และพฤติกรรมการชำระเงินของผู้บริโภคจากหกประเทศในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงประเทศไทย นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงหมวดหมู่สินค้าที่ผู้บริโภคสนใจในการซื้อสินค้าผ่านสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต รวมถึงสินค้าจากหมวดหมู่ใหม่ที่มีแนวโน้มว่าผู้บริโภคจะเริ่มช้อปปิ้งมากขึ้น
นายสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยยังอยู่ในระยะเริ่มต้นแต่ก็มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าแฟชั่นและเครื่องประดับ บัตรชมภาพยนตร์ และการชำระค่าสินค้า บริการ และสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการเติบโตของตลาดออนไลน์เพราะมีส่วนแบ่งการชำระเงินต่ำ แต่มียอดการใช้จ่ายที่ถี่ โดยสัดส่วนที่สูงขึ้นของการชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตทำให้เราเห็นโอกาสเติบโตอันดี ในอนาคต”
ประเทศไทยมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากถึง 29 เปอร์เซ็นต์[2] แต่ยังมีการเข้าถึงอีคอมเมิร์ซในอัตราที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศที่มีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตใกล้เคียงกัน แม้ว่าสัดส่วนของผู้ถือบัตรที่ใช้จ่ายผ่านร้านค้าออนไลน์ยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ยอดการทำธุรกรรมการเงินผ่านมือถือและแท็บเล็ตที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดนั้นได้ชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปและสมาร์ทโฟนกลายเป็นเครื่องมือสำหรับชำระเงินอันดับแรกของหลายคน (mobile first)[3]
อัตราของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยที่ระบุว่าตนซื้อสินค้าออนไลน์อย่างน้อยเดือนละครั้งเพิ่มขึ้นจาก 64 เปอร์เซ็นต์ ในการสำรวจของปี 2557[4] เป็น 66 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ โดยมีระยะเวลาในการช้อปปิ้งออนไลน์ต่อครั้งนานประมาณ 46 นาที ซึ่งเหตุผลหลักๆที่พวกเขาเลือกซื้อสินค้าออนไลน์เป็นเพราะว่า มีการจัดส่งสินค้าถึงลูกค้าโดยตรง (40 เปอร์เซ็นต์) ความสะดวกสบาย (37 เปอร์เซ็นต์) ราคาที่ดีกว่า (15 เปอร์เซ็นต์) และมีสินค้าให้เลือกหลากหลาย (8 เปอร์เซ็นต์)
ประเภทสินค้าและบริการที่เป็นที่นิยมในการช้อปปิ้งออนไลน์ได้แก่ ซอฟแวร์ แอพพลิเคชันและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับ แอพฯ (53 เปอร์เซ็นต์) อีเวนท์และคอนเสิร์ต (53 เปอร์เซ็นต์) บริการด้านการท่องเที่ยว (47 เปอร์เซ็นต์) เนื้อหาดิจิตอลต่างๆ อาทิ เกมส์ เพลง และวิดีโอ (40 เปอร์เซ็นต์)
นอกจากนี้ผลสำรวจได้แสดงให้เห็นว่าร้านค้าออนไลน์เสียรายได้จากการยกเลิกการซื้อระหว่างขั้นตอนการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ (57 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งสาเหตุหลักของการยกเลิกการสั่งซื้อเป็นเพราะ หน้าเพจโหลดช้า (35 เปอร์เซ็นต์) หน้าตาเว็บไซต์ยากต่อการใช้งาน (24 เปอร์เซ็นต์) กระบวนการซื้อที่ไม่ชัดเจนหรือยาวนานเกินไป (19 เปอร์เซ็นต์) และกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย (16 เปอร์เซ็นต์)
กระแส เอ็มคอมเมิร์ซ มาแรง แซงทุกโค้ง
ที่ผ่านมาเทรนด์การใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตในตลาดอีคอมเมิร์ซมีมากขึ้น โดยมากกว่าครึ่งของผู้ทำแบบสอบถามใช้อุปกรณ์มือถือเหล่านี้ในการซื้อสินค้าออนไลน์ และ 32 เปอร์เซ็นต์ของคนกลุ่มนี้ระบุว่าเป็นวิธีชำระเงินที่เขาชื่นชอบที่สุด ซึ่งกระแสความนิยมมีท่าทีที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะ 42 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามยังคงเลือกใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเป็นช่องทางการช้อปปิ้งออนไลน์ในปีหน้า โดยเฉพาะในผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มผู้ชาย
นอกจากนี้ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 52 เปอร์เซ็นต์ใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตในการชำระค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งอาจมาจากการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วของกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ (electronic wallet) และแอพพลิเคชันในการชำระเงินอื่นๆ
สำหรับผู้บริโภคหลายคนที่เคยนิยมซื้อสินค้า ณ ห้างร้าน ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนมาการซื้อผ่านช่องทาง เอ็มคอมเมิร์ซมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นผู้ตอบแบบสอบถามที่เพิ่งเริ่มชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเมื่อปีที่ผ่านมานิยมซื้อสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กถึง 78 เปอร์เซ็นต์ และซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าอีก 75 เปอร์เซ็นต์ผ่านทางมือถือ
เทรนด์ดังกล่าวถือเป็นข่าวดีสำหรับห้างร้านเพราะผลวิจัยได้เผยให้เห็นว่ามากกว่าสามในสี่ (76 เปอร์เซ็นต์) ของผู้บริโภคสนใจที่จะเลือกซื้อผ่านแอพฯของห้างร้านที่ตนชื่นชอบถ้าห้างร้านเหล่านั่นมีแอพพลิเคชั่นของตังเองโดยเฉพาะ และเจ็ดในสิบของผู้ตอบแบบสอบถามสนใจที่จะช้อปฯผ่านเว็บไซต์บนสมาร์ทโฟน (68 เปอร์เซ็นต์)
การซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านสมาร์โฟนและแท็บเล็ตไม่ได้เติบโตอย่างเร็วเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น การศึกษาอีกฉบับหนึ่งของวีซ่า[5] ในปี 2558 ได้แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคจาก 13[6] ประเทศไทยเอเชียแปซิฟิคมีการซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านอุปกรณ์พกพาอย่างสมาร์ทโฟนและแทบเล็ตมากกว่าคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเพิ่มขึ้นจากปี 2557 เฉลี่ย 22 เปอร์เซ็นต์
“ตลาดอีคอมเมิร์ซในอนาคตยังคงมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเพราะมีคนไทยจำนวนมากที่เลือกใช้เทคโนโลยีนี้ในการซื้อสินค้าและบริการ เพราะมีผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตจำนวนมากขึ้น วีซ่าในฐานะผู้ให้บริการเครือข่ายชำระเงินที่ครอบคลุมทั่วโลกจึงไม่หยุดที่จะพัฒนาเทคโนโลยีการให้บริการการชำระเงินให้ทันสมัยเพื่อตอบสนองลูกค้าที่ต้องการประสบการณ์การช้อปปิ้งที่สะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้นไม่ว่าจะผ่านเว็ปไทยหรือต่างประเทศ” นายสุริพงษ์ กล่าวปิดท้าย
[1] การศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคของวีซ่า จัดทำโดยบริษัทเอคอร์น (Acorn) ในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกรกฏาคม 2558 ในรูปแบบออนไลน์ โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 3,000 ราย จากประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ประเทศไทย และเวียดนาม
[2] ข้อมูลมาจาก เว็บไซต์ Internet Live Stats (www.InternetLiveStats.com) ในช่วงระหว่างวันที่ 1 กรกฏาคม 2557
[3] สัดส่วนของผู้บริโภคในซื้อสินค้าออนไลน์ จะขึ้นอยู่กับการใช้งานของผู้ถือบัตรที่ใช้งานอีคอมเมิร์ซ / ผู้ถือบัตรที่ใช้งาน – ข้อมูลได้มาจาก วีซ่าเน็ท (VisaNet) ในไตรมาสที่หนึ่งและไตรมาสที่สองของปี 2558
[4] ผลสำรวจเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปี 2557[4] ของวีซ่า (Visa Consumer Payment Attitudes Study 2014) จัดทำโดยบริษํท BlackBox Research ในเดือนกรกฏาคม 2557 ในนามของวีซ่า โดยมีจำนวนผู้ทำแบบสอบถามในหกประเทศจากทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เท่ากับการสำรวจในปีนี้
[5] การศึกษาเรื่องการสำรวจตลาดอีคอมเมิร์ซในระดับภูมิภาคประจำปี 2558 ของวีซ่าจัดทำโดย บริษัท ORC International Singapore ในเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2558 โดยมีผู้บริโภคอายุ 15-55 ปี ที่ร่วมทำแบบสอบถามทั้งหมด 11,760 รายจาก 13 ประเทศ
[6] ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ประเทศไทย และ เวียดนาม