ดีแทค กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือด้านการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีการสื่อสารเพื่อการพัฒนาการเกษตร หวังใช้ความเชี่ยวชาญด้านโมบายเทคโนโลยี และเครือข่ายบริการที่เข้าถึงทุกพื้นที่ประเทศไทยของดีแทค ส่งต่อองค์ความรู้ด้านต่างๆ อาทิ การผลิต การบรรจุภัณฑ์ โลจิสติกส์ และการตลาดออนไลน์ ภายใต้โครงการ ‘ศูนย์เรียนรู้เคลื่อนที่ (Mobile Learning Center)’ร่วมสร้างให้เกษตรกรไทยเป็น Smart Farmer พร้อมประกาศผลรางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี 2558 มุ่งเน้นการนำนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์
นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า “ตามนโยบาย 5 Smart ได้แก่ Smart Officer, Smart Office, Smart Farmer, SmartGroup และ Smart Product การพัฒนาการเกษตรในองค์รวมนั้น ในส่วนของ Smart Farmer ได้เน้นการนำเทคโนโลยีมาช่วยเหลือ สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร และองค์กรด้านการเกษตรโดยมุ่งหวังให้การพัฒนาเกษตรกรเกิดผลเป็นรูปธรรม และให้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันของส่วนราชการในสังกัดทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งภาคีเครือข่ายจากภายนอก ในปี 2557 ทางกรมฯ ได้มีโอกาสร่วมกับดีแทคและมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ทำงานแบบบูรณาการ ทำแผนเชิงรุก ลงพื้นที่ไปพบเกษตรกร แนะนำให้ใช้เทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อวางแผนก่อนเริ่มดำเนินการ และบริหารจัดการผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มเป้าหมาย คือ เกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) และเกษตรกรที่ต้องการพัฒนาศักยภาพให้มีทักษะการใช้ Smart Device โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจะสนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อ ที่ตั้งและผู้ประสานงานของเกษตรกรและกลุ่ม/องค์กรเกษตรกร เพื่อดำเนินการฝึกอบรมให้ความรู้กับเกษตรกร และสนับสนุนในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และร่วมจัดทำหลักสูตรเพื่อพัฒนาเกษตรกรสู่ความเป็น SMART FARMER ที่มีศักยภาพการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยและก้าวไกลยิ่งขึ้น”
นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค กล่าวว่า “การนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาให้เกษตรกรไทยก้าวไปสู่ความเป็นSmart Farmer เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของดีแทค สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ ดีแทคจะนำโมบายเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างความได้เปรียบ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับเกษตรกรภายใต้โครงการศูนย์เรียนรู้เคลื่อนที่ทั่วประเทศ โดยจะเริ่มเฟสแรกในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 วางแผนลงพื้นที่จำนวน 20 จังหวัด เชิญเกษตรกรเข้าร่วมแห่งละ 50 คน หนุนให้เป็น Local Hero เพื่อขยายฐานความรู้ส่งต่อให้ชุมชน เน้นการอบรมเรื่องอีคอมเมิร์ซ บริการธุรกรรมด้านการเงินผ่านมือถือ และการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ตั้งเป้าที่จะเพิ่ม Smart Farmer ให้ได้จำนวน 20,000 คน ภายในสิ้นปี 2559”
“เราเชื่อมั่นว่า อินเทอร์เน็ตคือกลไกหลักของความสำเร็จในทุกอุตสาหกรรม และดีแทคคือฟันเฟืองที่สำคัญซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนให้สิ่งนี้เกิดขึ้น นอกเหนือจากที่กล่าวไปแล้ว ดีแทคยังจะเข้ามาช่วยพัฒนาช่องทางการสื่อสารระหว่างเกษตรกรและผู้ซื้อ และประชาสัมพันธ์ข้อมูลสินค้า/ผลิตภัณฑ์ผ่านโซเชียลมีเดีย รวมถึงการพัฒนาแอพพลิเคชั่น FARMER INFO ที่ดีแทคกับ บจก.รักบ้านเกิด ร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้นอีกด้วย”
“ผมขอแสดงความยินดีกับผู้ชนะเลิศ รางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ปี 2558 ที่มีกระบวนการทางความคิด ทัศนคติที่มุ่งพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็น Smart Farmer และได้ลงมือปฏิบัติจริงจนประสบผลสำเร็จในวันนี้ ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ว่า การเริ่มลงมือก่อนจะทำให้ก้าวสู่ความสำเร็จได้เร็วกว่า” นายลาร์สกล่าวเพิ่มเติม
นายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด กล่าวว่า “มูลนิธิฯ และดีแทคได้ร่วมกันจัดการประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 แนวคิดหลักในการดำเนินโครงการประกวดปีนี้ เน้นการสรรหาเกษตรกรต้นแบบ (Smart Farmer) ที่มีศักยภาพในการเป็นผู้นำเกษตรกรยุคใหม่ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเกษตร เพื่อให้เกิดประโยชน์หรือผลเชิงบวกแก่การทำเกษตรกรรม สามารถวิเคราะห์และแก้ปัญหาได้ครบทุกมิติ ซึ่งจะมีคุณประโยชน์ต่อการพัฒนางานด้านการเกษตรของประเทศไทยให้มีความเจริญก้าวหน้า สามารถแข่งขันทางการค้าในตลาดออนไลน์หรือตลาดเกษตรระดับโลกได้ โดยเริ่มจากการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก เพิ่มจำนวนและคุณภาพของผลผลิต ลดต้นทุน ลดเวลา ลดการสูญเสียทรัพยากร สามารถเพิ่มรายได้ เพิ่มความสุข อันเป็นวิถีเกษตรแบบพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อไป”
ผู้ที่ได้รับรางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี 2558 คือ นายอธิศพัฒน์ วรรณสุทธิ์ อายุ 56 ปี จากจังหวัดเลย ปราชญ์ชาวบ้าน และอาสาสมัครของมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งประสบปัญหาจากการไม่มีน้ำและไฟฟ้าใช้ จึงได้คิดค้นประยุกต์ใช้จุลินทรีย์หน่อกล้วยผลิตก๊าซชีวภาพแล้วต่อยอดมาเป็น NGV นำไปใช้เป็นพลังงานทดแทนในการปั่นไฟฟ้าแล้วสูบน้ำขึ้นไปไว้ใช้ เกษตรกรสามารถพึ่งพาตัวเองได้ มีความมั่นคงทางด้านพลังงาน ไม่ต้องนำปัจจัยภายนอกเข้ามา และสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ตามทฤษฎีการพึ่งพาตัวเอง นอกจากนี้ จุลินทรีย์ยังช่วยทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ช่วยพัฒนาป่าเสื่อมโทรมให้สามารถปลูกพืชผสมผสานและมีรายได้ตลอดทั้งปี
รายชื่อเกษตรกรที่เข้ารอบสุดท้าย 10 ท่าน
ลำดับ |
ชื่อ – สกุล |
จังหวัด |
เทคโนโลยีที่ส่งประกวด |
1 |
นายธำรงศักดิ์ ชุมนุมมณี |
ยะลา |
การเพิ่มมูลค่าผลผลิตกับชีวิตออนไลน์ ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ผ่าน Facebook และตรวจสอบความพึงพอใจของผู้บริโภค |
2 |
ว่าที่ร้อยโทบัญชา หนูเล็ก |
ราชบุรี |
ชิ้นส่วนขุดดินของเครื่องจักรกลเพื่อการเกษตร ประยุกต์บุ้งกี๋รถแบ็คโฮ และดัดแปลงระบบไฮโดรลิกส์ของรถ ต่อพ่วงกับปั๊มฉีดยา |
3 |
นายเกรียงไกร การุณ |
แพร่ |
เครื่องให้น้ำเห็ดระบบอัตโนมัติ ใช้ระบบหยดน้ำ โดยดัดแปลงจากวัสดุหาง่ายในท้องถิ่น ปั่นน้ำจนมีความละเอียดสูง |
4 |
นายสมเกียรติ กันธิพันธ์ |
เชียงราย |
อุปกรณ์เกี่ยวข้าวด้วยเครื่องตัดหญ้า โดยดัดแปลงจากวัสดุหาง่ายในท้องถิ่น |
5 |
นายศิริ คำอ้าย |
เชียงใหม่ |
นวัตกรรมการจัดการแปลงแตงกวาญี่ปุ่น ใช้ Timer ควบคุมระบบน้ำ ประดิษฐ์รถพ่นน้ำเอง ดัดแปลงเบาะนั่งรถยนต์สำหรับนั่งแต่งกิ่ง |
6 |
นายสุวิชัย วงค์ษา |
ศรีสะเกษ |
เครื่องผลิตก้อนเชื้อเห็ด SUPER TEC ผลิตได้ 900 ก้อนเชื้อใน 1 ชั่วโมง รายเดียวในประเทศ |
7 |
นายรณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล |
ร้อยเอ็ด |
เครื่องสกัดน้ำมันรำข้าวบริสุทธิ์ แบบสกัดเย็น นำน้ำมันรำข้าวมาบรรจุในแคปซูล โดยเครื่องมืออแบบ Semi Auto |
8 |
นายอธิศพัฒน์ วรรณสุทธิ์ |
เลย |
การผลิตก๊าซ NGV โดยใช้จุลินทรีย์หน่อกล้วย ผลิตก๊าซชีวภาพและต่อยอดเป็นเป็นแก๊ส NGV นำมาใช้เป็นพลังงานทดแทน |
9 |
นายศักดิ์ดา ขันติพะโล |
ฉะเชิงเทรา |
QR CODE ระบบตรวจสอบย้อนกลับผลไม้ ผลิต QR Code ที่ run ต่อเนื่อง ไม่ได้ผลิตล่วงหน้า |
10 |
นายปฏิวัติ อินทร์แปลง |
ชุมพร |
เทคโนโลยี CLOUD COMPUTING กับฟาร์มโคนม สามารถตรวจสอบย้อนกลับวิธีการเลี้ยงวัว |