ผู้เชี่ยวชาญในภูมิภาคเอเชียผนึกกำลังรณรงค์ผู้ป่วยมะเร็งเข้ารับการรักษาโดยไม่รอช้า

ผู้เชี่ยวชาญในภูมิภาคเอเชียผนึกกำลังรณรงค์ผู้ป่วยมะเร็งเข้ารับการรักษาโดยไม่รอช้าเพื่อลดผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งในภูมิภาคเอเชีย ร่วมกับ แอสตร้าเซนเนก้า เปิดตัวแคมเปญ New Normal, Same Cancerในภูมิภาคเอเชียรณรงค์ให้ความรู้ สร้างความตระหนักแก่ผู้ป่วยให้เห็นถึงความสำคัญของการเข้าถึงบริการการรักษาและการบำบัดที่เหมาะสม แม้ยังไม่อาจระบุชัดถึงผลกระทบต่อผู้ป่วยในระยะยาว แต่ผลวิจัยล่าสุดชี้ให้เห็นว่าหากผู้ป่วยเข้ารับการรักษามะเร็งล่าช้าไป 1 เดือนสามารถมีผลต่อความเสี่ยงในการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง6% จึงร่วมกันรณรงค์ให้เห็นถึงความสำคัญของการเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมอย่างเร่งด่วน

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19ในปัจจุบัน สร้างผลกระทบเป็นอย่างมากต่อประชากรทั่วโลก รวมถึงยังส่งผลกระทบในวงกว้างกับทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ การดำเนินงานของธุรกิจเกือบทุกประเภทต้องชะงักลง รวมถึงสถานพยาบาลต่าง ๆ ทำให้กลไกการทำงานของระบบสาธารณสุข การบริการด้านการแพทย์บุคลากรทางการแพทย์และทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่อย่างจำกัด กระทบต่อการบริหารจัดการโดยรวม เนื่องมาจากการลดลงอย่างรวดเร็วของเวชภัณฑ์ และปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ จำนวนเตียงผู้ป่วยลดลง ซึ่งในธุรกิจอุตสาหกรรมการแพทย์ทั่วโลกก็ได้มีการปรับตัวทางด้านวิทยาการแพทย์เพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 อาทิ บริการ drive-through test ตรวจเชื้อโควิด-19หรือแม้แต่การเลือกใช้แอปพลิเคชั่นต่าง ๆ เพื่อการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

ถึงแม้ว่าโควิด-19 ส่วนใหญ่จะมีอาการที่ไม่รุนแรงและไม่ส่งผลถึงชีวิต แต่การติดเชื้อสำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสามารถลุกลามอย่างรุนแรง และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ในที่สุด ซึ่งหนึ่งในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงคือผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษาและให้ยาอย่างต่อเนื่อง หรือพบแพทย์ตามรอบที่แพทย์กำหนดภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลโดยตรงถึงบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียในบางประเทศมีจำนวนผู้เข้ารับบริการการรักษา รวมถึงการคัดกรองมะเร็งลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากการเก็บข้อมูลของสถาบันมะเร็งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NCIS) ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม 2563พบว่าการเข้าพบเพื่อปรึกษาเป็นครั้งแรกของผู้ป่วย (First Consultation) ลดลง 9% และการเข้าพบแพทย์เพื่อติดตามผล (Follow-up Consultation) ลดลง 30% แม้ว่าตัวเลขเหล่านี้จะฟื้นตัวแล้วก็ตาม จากการสำรวจศัลยแพทย์มะเร็ง 480 คนทั่วประเทศอินเดีย ประเมินว่ามีความเป็นไปได้ที่ผู้ป่วย 192,000รายจะเลื่อนการเข้ารับการวินิจฉัยโรคมะเร็งอย่างทันท่วงทีรวมถึงการตรวจแปปสเมียร์(Pap Smear) เพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูกฟรีทุกปีก็ลดลงถึง 75%

ศาสตราจารย์ ชึง วี จู (Chng Wee Joo) ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NCIS) กล่าวในระหว่างการเสวนาออนไลน์ New Normal, Same Cancer ว่า “การให้บริการดูแลสุขภาพทั่วภูมิภาคเอเชียได้ถูกปรับให้เข้ากับวิกฤตโควิด-19 โดยรูปแบบและนวัตกรรมใหม่ๆ ในการดูแลสุขภาพมาประยุกต์เพื่อรักษาประสิทธิภาพของการให้บริการ ขั้นตอนต่าง ๆ ได้ถูกนำมาใช้ในคลินิกโรคมะเร็ง เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งการแนะนำให้คนไข้เข้ามาพบแพทย์ด้วยตัวเองเมื่อจำเป็น การทำให้ประชาชนทั่วไปและผู้ป่วยรวมถึงผู้ที่หายจากโรคมะเร็งเกิดความมั่นใจถือเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นที่จะกลับมารับการตรวจคัดกรองและรับการรักษาอย่างเหมาะสม”

ด้าน ผศ. นพ. ไนยรัฐ ประสงค์สุข อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยาโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าให้ความคิดเห็นว่า“สำหรับประเทศไทยนั้น ในช่วงที่ผ่านมานับได้ว่าสามารถรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบสาธารณสุข การบริการด้านการแพทย์บุคลากรทางการแพทย์ มีการจัดการที่ดี รวมถึงผู้ป่วยเองก็มีการปรับตัวโดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง อย่างโรคมะเร็ง และแม้ว่าโรคมะเร็งมิใช่โรคติดเชื้อ แต่หากขาดการรักษาอย่างถูกต้องและต่อเนื่องก็อาจนำไปสู่การลุกลามของโรค อาการรุนแรง หรือมีภาวะแทรกซ้อนร่วมจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ โดยมะเร็งแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน แต่ทุกมะเร็งต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง แพทย์ผู้รักษาจึงจำเป็นต้องพิจารณาผู้ป่วยและระยะการกระจายของโรคเป็นรายบุคคล ได้แก่ การจัดลำดับความเร่งด่วนของการรักษาหรือต้องมาพบแพทย์ เช่นในผู้ป่วยระยะแรก มีจุดมุ่งหมายคือการรักษาให้หายขาด จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เพื่อไม่ให้การรักษาเกิดความล่าช้า โดยส่วนมากในกรณีนี้จะสามารถผ่าตัดได้ การปรับวิธีการให้ยาให้สะดวกทั้งแพทย์และพยาบาล ส่วนมากจะเป็นผู้ป่วยที่ติดตามอาการ อย่างเช่น ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในระยะแรกที่ต้องรับยาต้านตัวรับฮอร์โมน ก็จะสามารถสั่งจ่ายยาทางไปรษณีย์ได้ เพื่อหลีกเลี่ยงการมาโรงพยาบาลและลดเวลาที่ต้องอยู่ในโรงพยาบาลให้น้อยที่สุดและ การให้คำปรึกษาสำหรับผู้ป่วยด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น การทำเทเลเมดิซีน(Telemedicine) หรือการปรึกษาแพทย์ผ่านระบบวิดีโอออนไลน์ที่หลายๆ โรงพยาบาลได้จัดทำขึ้น สำหรับในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการมาโรงพยาบาลได้ เช่น ในผู้ป่วยที่ต้องได้รับเคมีบำบัดและมีผลต่ออัตราการรอดชีวิต แต่เมื่อมาถึงโรงพยาบาลแล้วก็จะให้ทุกขั้นตอนเป็น One Stop Serviceเพื่อให้ใช้เวลาในการอยู่โรงพยาบาลน้อยที่สุด และลดการรอคอย”

“ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19ที่เกิดขึ้นทั่วโลกแพทย์จำเป็นต้องสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ป่วยให้มากเพื่อติดตามอาการและการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการลุกลามของโรค หรือภาวะแทรกซ้อนจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ สำหรับผู้ป่วยเองก็ต้องดูแลสุขภาพของตนเองอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติตามคำแนะนำของทีมรักษา และตรวจติดตามอาการของโรคเป็นระยะๆ ห้ามขาดการรักษา และการติดต่อกับทีมรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการรักษามากที่สุด” นายแพทย์ไนยรัฐกล่าวทิ้งท้าย

คุณหลี – สุภาวรรณ ก้องวัฒนาหนึ่งในผู้แบ่งปันประสบการณ์การป่วยเป็นโรค “มะเร็งปอด” ระยะสุดท้ายได้เล่าประสบการณ์ในการดูแลตัวเองในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ว่า “สำหรับในช่วงล็อคดาวน์ที่ผ่านมาแพทย์ผู้รักษาได้สั่งจ่ายยา และให้ที่บ้านเป็นผู้ไปรับยาโดยที่ไม่ต้องเดินทางไปที่โรงพยาบาล และทั้ง 45 วันก็ได้เก็บตัวอยู่ที่บ้านคนเดียว หลีกเลี่ยงการเดินทางและพบปะกับครอบครัวและบุคคลอื่น ๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 หลังจากสถานการณ์ดีขึ้นทางแพทย์จึงให้สามารถกลับไปที่โรงพยาบาลได้ แต่โรงพยาบาลที่ไปรักษาก็มีการแบ่งสัดส่วนพื้นที่ในการรักษาอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่การแยกลิฟท์ ปัจจุบันอยู่กับโรคมะเร็งด้วยกำลังใจที่ดี ควบคู่กับการดูแลตัวเองเป็นอย่างดี ทั้งด้านการติดตามและเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง การออกกำลังกาย การดูแลเรื่องอาหารการกิน และการดูแลสุขภาพใจ ซึ่งตัวเองเชื่อมั่นว่ายารักษาจะดีแค่ไหน ราคาแพงแค่ไหน ก็ไม่สู้การอยู่ด้วยกำลังใจที่ดี ทุกวันนี้อุทิศตนเป็นจิตอาสา ให้คำแนะนำสำหรับคนทั่วไปที่มีความกังวลรวมถึงผู้ป่วยมะเร็งและผู้ดูแล ต้องเชื่อมั่นในระบบการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบัน และเทคโนโลยีนวัตกรรมต่าง ๆ ที่มีอยู่รอบตัวเรา โอกาสที่เราจะหายจากโรคมะเร็งมีอยู่มากขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรคมะเร็ง หรือหากไม่หายขาด เราก็จะสามารถอยู่กับมะเร็งอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้”

อนึ่ง แคมเปญ New Normal, Same Cancer ได้จัดทำขึ้นโดยความร่วมมือของแอสตร้าเซนเนก้ากับผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง กลุ่มผู้กำหนดนโยบาย และกลุ่มผู้ป่วย เพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักถึงความสำคัญถึงการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยโรคมะเร็ง โดยเฉพาะ ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งซึ่งหยุดพักการรักษาชั่วคราวในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมาให้กลับมาเข้าการรักษาอย่างต่อเนื่อง และผู้ป่วยที่มีแนวโน้มหรือความเป็นไปได้ที่จะเป็นโรคมะเร็งให้เข้ารับการตรวจคัดกรองหรือตรวจเช็คตามระยะเพื่อการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพทันท่วงที