ด้วยการเพิ่มการเข้าถึงปัญญาประดิษฐ์รู้สร้าง ตลาดชิปเซ็ตเอไอหุ่นยนต์ระดับโลกคาดว่าจะแตะ 866 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2571 ออมเดียชี้

ลอนดอน, 5 มีนาคม 2567 /PRNewswire/ — ตั้งแต่ที่มีการเพิ่มการเข้าถึงการเรียนรู้ของเครื่องจักร (ML) ในวิทยาการหุ่นยนต์ ภาระงานที่ขับเคลื่อนด้วยการเรียนรู้ของเครื่องจักรได้มีความหลากหลายอย่างมาก ขณะที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์รู้สร้าง (GenAI) ยังคงแพร่หลายอย่างต่อเนื่อง โมเดลพื้นฐานพร้อมที่จะแทนที่หรือยกระดับโมเดลการเรียนรู้ของเครื่องจักรและการเรียนรู้เชิงลึกที่มีอยู่เดิม เพื่อสร้างหุ่นยนต์ที่มีสมรรถภาพและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ ออมเดีย (Omdia) ประมาณการณ์ว่า ตลาดชิปเซ็ตปัญญาประดิษฐ์หุ่นยนต์ระดับโลกจะแตะ 866 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะสนับสนุนการเพิ่มขึ้นของปัญญาประดิษฐ์รู้สร้างในด้านวิทยาการหุ่นยนต์

นับตั้งแต่ที่กูเกิล (Google) ได้สาธิต RT-1 ซึ่งเป็นทรานส์ฟอร์เมอร์สำหรับการประยุกต์ใช้งานด้านวิทยาการหุ่นยนต์เมื่อปี 2565 ผู้เล่นหลายรายได้แสดงความพยายามอย่างมากมายที่จะเพิ่มการเข้าถึงการใช้งานปัญญาประดิษฐ์รู้สร้างในหุ่นยนต์ นอกจากกูเกิล บริษัทอย่างเช่น เมตา (Meta), โอเพนเอไอ (OpenAI) และโตโยต้า (Toyota) ต่างกำลังทดลองหรือทดสอบหลากหลายโมเดลพื้นฐานในการประยุกต์ใช้งานด้านวิทยาการหุ่นยนต์ของตน ขณะที่ผู้จำหน่ายหุ่นยนต์บริการในจีน อย่างคลาวด์ไมนด์ (CloudMinds) และโอริออนสตาร์ (OrionStar) ได้พัฒนาโมเดลพื้นฐานของตนเอง โดยมีแผนที่จะบูรณาการเข้ากับระบบซอฟต์แวร์ของลูกค้า

อย่างไรก็ตาม ปัญญาประดิษฐ์รู้สร้างเป็นสิ่งที่ต้องใช้ทรัพยากรเข้มข้น ในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ การใช้งานเอไอรู้สร้างเกิดขึ้นในคลาวด์ เนื่องจากโมเดลต้องการกลุ่มหน่วยประมวลผลภาพ (GPU) ขนาดใหญ่สำหรับการฝึกและการอนุมาน ในทางกลับกัน หุ่นยนต์ต้องการการประมวลผล ณ ที่ตั้ง เนื่องจากมักมีส่วนร่วมในภารกิจและการประยุกต์ใช้งานที่มีความสำคัญต่อธุรกิจ ซึ่งให้ความสำคัญสูงสุดกับการควบคุมแบบเรียลไทม์และการตอบสนองความหน่วงต่ำพิเศษ “ขณะที่ GPU จากอินวิเดีย (NVIDIA) ยังคงเป็นสถาปัตยกรรมชิปเซ็ตเอไอที่เป็นที่นิยมสำหรับโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์และหุ่นยนต์ ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่ GPU อย่างควอลคอมม์ (Qualcomm), อินเทล (Intel) และเอเอ็มดี (AMD) ได้ออกระบบบนชิป (SoC) เอไอหรือชิปเซ็ตเอไอที่มุ่งเป้าการใช้งานด้านวิทยาการหุ่นยนต์บนอุปกรณ์โดยเฉพาะ อย่างเช่น การมองเห็นของเครื่องจักร การนำทางและการสร้างแผนที่ และความปลอดภัยในการทำงาน” คุณเหลียน เจี๋ย ซู (Lian Jye Su) หัวหน้านักวิเคราะห์ ฝ่ายความอัจฉริยะประยุกต์ของออมเดีย กล่าวแสดงความเห็น

พัฒนาการที่น่าตื่นเต้นอีกประการซึ่งเกิดจากการเพิ่มการเข้าถึงปัญญาประดิษฐ์รู้สร้าง ได้แก่ความนิยมที่พุ่งสูงขึ้นของหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ประเภทที่มีรูปร่างเหมือนมนุษย์ที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจที่นักเทคโนโลยีหุ่นยนต์หลายรายเชื่อว่าการบูรณาการเอไอรู้สร้างที่เหมือนมนุษย์เข้ากับหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์เป็นสิ่งที่ไปด้วยกันได้ ระหว่างกระแสดังกล่าวนี้ บริษัทต่าง ๆ อย่างเช่น อะจิลิตี้ โรบอติกส์ (Agility Robotics), บอสตัน ไดนามิกส์ (Boston Dynamics), ฟิกเกอร์ (Figure), ฟูเรียร์ อินเทลลิเจนซ์ (Fourier Intelligence), เทสล่า (Tesla) และยูบีเทค (UBTech) ได้เปิดตัวหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์หลากหลายแบบสำหรับภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีดังกล่าวนี้ยังอยู่ในช่วงแรกเริ่ม และการออกผลิตภัณฑ์ในระดับใหญ่ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นภายในช่วงห้าปีข้างหน้านี้ ยานยนต์ขนส่งอัตโนมัติ (AGV) และหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ (AMR) ยังคงเป็นรูปแบบที่อยู่ตัวกว่าสำหรับการส่งเสริมเอไอรู้สร้าง

“แทนที่จะให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็นกระแสความตื่นเต้น อุตสาหกรรมควรหันมามุ่งเน้นการจัดการกับข้อมูลและพื้นฐานทางเทคโนโลยีให้เหมาะสม สำหรับผู้ผลิตด้านวิทยาการหุ่นยนต์ สิ่งสำคัญคือการขยายสมรรถนะเอไอรู้สร้างที่ใช้พลังงานต่ำในหุ่นยนต์โดยใช้หลากหลายเทคนิคในการปรับพัฒนาโมเดล ทั้งนี้โดยเน้นย้ำการควบคุมแบบเรียลไทม์และสมรรถนะการทำงาน ตลอดจนโอบรับการผนวกรวมกันระหว่างการประมวลผลคอมพิวเตอร์กับการเชื่อมต่อ สำหรับผู้ใช้งานด้านวิทยาการหุ่นยนต์ การพัฒนาโมเดลเอไอรู้สร้างเฉพาะด้าน ประกอบกับการตรวจสอบอย่างเข้มข้นในด้านจริยธรรม ความมั่นคง ความปลอดภัย และสมรรถนะการทำงาน จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงอย่างเสมอภาคสำหรับการใช้งานหุ่นยนต์ที่เกิดจากปัญญาประดิษฐ์รู้สร้างได้เป็นอย่างมาก” คุณซูกล่าวสรุป

เกี่ยวกับออมเดีย

ออมเดีย (Omdia) เป็นกลุ่มวิจัยและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีในเครือบริษัทอินฟอร์มา เทค (Informa Tech) ความรู้เชิงลึกของเราในด้านตลาดเทคโนโลยีประกอบกับข้อมูลเชิงลึกที่นำไปปฏิบัติได้จริงช่วยให้องค์กรต่าง ๆ สามารถตัดสินใจเรื่องการเติบโตทางธุรกิจได้อย่างชาญฉลาด

ฟาซิฮะห์ ข่าน (Fasiha Khan) อีเมล: Fasiha.khan@informa.com

 

View original content to download multimedia: Read More