จีนเปิดพาวิลเลียนที่งานเวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60 โดดเด่นในธีม “Atlas: Harmony in Diversity”

หางโจว จีน, 24 เมษายน 2567 /พีอาร์นิวส์ไวร์/ — กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เปิดพาวิลเลียนประจำชาติ (China Pavilion) ณ นิทรรศการศิลปะนานาชาติ ครั้งที่ 60 (La Biennale di Venezia) ในธีม “Atlas: Harmony in Diversity” ดูแลจัดการโดยหวัง เซียวซง (Wang Xiaosong) และเจียง จุน (Jiang Jun) พาวิลเลียนนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ “集 (สะสม)” เพื่อจัดแสดงคลังภาพจาก “คอลเลกชันภาพวาดจีนโบราณ” และ “传 (ถ่ายทอด)” ที่ขับเน้นผลงานโดยศิลปินร่วมสมัยชาวจีน 7 คน ได้แก่ เช่อ เจียนฉวน (Che Jianquan), เจียว ซิงเทา (Jiao Xingtao), ชิว เจินจง (Qiu Zhenzhong), สือ หุย (Shi Hui), หวัง เช่าเฉียง (Wang Shaoqiang), หวัง เจิ้งหง (Wang Zhenghong) และจู จินซือ (Zhu Jinshi)

ธีมประจำพาวิลเลียนจีน “Atlas: Harmony in Diversity”

จีนได้รังสรรค์พาวิลเลียนประจำชาติขึ้นมาในธีม “Atlas: Harmony In Diversity” โดยเน้นไปที่แนวคิดในการรวบรวม แลกเปลี่ยน และผสานรวม เพื่อถ่ายทอดคุณค่าของการโอบรับการไม่แบ่งแยก การอยู่ร่วมกันอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว และความงามอันหลากหลายไปด้วยวัฒนธรรมจีนดั้งเดิม โดยมี “สมุดภาพ” (atlas) เป็นสัญลักษณ์สะท้อนการบรรจบกันของอัตลักษณ์ เชื้อชาติ ความเชื่อ ความคิด จุดมุ่งหมาย ภูมิหลัง และวัฒนธรรมที่หลากหลายทั่วโลก ส่งเสริมโอกาสในการพูดคุย การสื่อสาร และทำความเข้าใจร่วมกัน

ในพาวิลเลียนส่วน “สะสม” นั้น จิตรกรรมจีนในคลังภาพดิจิทัล 100 ภาพที่กระจัดกระจายไปในต่างแดน จะนำขึ้นจัดแสดงในตู้เก็บเอกสารและบนหน้าจอ LED ผลงานเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งใน “คอลเลกชันภาพวาดจีนโบราณ” ซึ่งเป็นโครงการที่มีมายาวนานถึง 19 ปี และประกอบด้วยจิตรกรรมจีนโบราณอันล้ำค่าจำนวน 12,405 ชิ้น/ชุด โดยกว่า 3,000 ชิ้นในจำนวนนี้ถูกเก็บไว้ในสถาบันต่าง ๆ นอกประเทศจีน คิดเป็นสัดส่วนหนึ่งในสี่ของผลงานทั้งหมดที่บันทึกไว้

ในขณะเดียวกัน พาวิลเลียนส่วน “ถ่ายทอด” นำเสนอศิลปินร่วมสมัยชาวจีน 7 คนที่มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ โดยได้รับแรงบันดาลใจจาก “คอลเลกชันภาพวาดจีนโบราณ” เพื่อสำรวจองค์ประกอบต่าง ๆ ในจิตรกรรมจีนโบราณ ทั้งสถาปัตยกรรม ทิวทัศน์ รูปร่าง ตลอดจนพืชพรรณและสัตว์นานาชนิด ซึ่งนอกจากจะสะท้อนให้เห็นการผสมผสานทางวัฒนธรรมของชาวจีนผู้มีปัญญาแล้ว ก็ยังเป็นการขับเน้นมรดกที่เชื่อมโยงประเพณีเข้ากับศิลปะร่วมสมัยด้วย

นิทรรศการในส่วน “สะสม” และ “ถ่ายทอด” ได้รับแรงบันดาลใจมาจากนีโมไซน์ แอตลาส (Mnemosyne Atlas) ผลงานของนักประวัติศาสตร์ศิลป์ชาวเยอรมันยุคศตวรรษที่ 20 อย่างอบี วอร์เบิร์ก (Aby Warburg) โดยใช้เอกสารภาพเรียบเรียงเป็นแผ่นตามธีมงานศิลป์แต่ละชิ้น เพื่อสร้างการเชื่อมโยงระหว่างภาพวาดจีนแบบดั้งเดิมกับศิลปะร่วมสมัยผ่านการจัดเรียงภาพที่หลากหลาย ขณะเดียวกันก็สะท้อนประวัติศาสตร์ภาพในระดับโลก สร้างความเชื่อมโยงแบบคู่ขนานระหว่างอดีตและปัจจุบันของจีนกับต่างประเทศ

นิทรรศการนี้มีขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน ไปจนถึง 24 พฤศจิกายน 2567 (โดยเปิดพรีวิวตั้งแต่วันที่ 17 ถึง 19 เมษายน) ณ ศูนย์อาร์เซนาเล่ (Arsenale) ในเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี


 

View original content to download multimedia: Read More