9krapalm.com

Top 10 ปัญหากทม. คนกรุงอยากได้ผู้ว่าฯ “แก้ปัญหาทางเท้า” เร่งด่วนที่สุด

Real Smart เปิดผลสำรวจ Social Listening พบ Top 10 ปัญหากทม. คนกรุงอยากได้ผู้ว่าฯ คนใหม่ “แก้ปัญหาทางเท้า” เร่งด่วนที่สุด

โลกโซเชียลสะท้อน 10 ปัญหาของ กทม.ที่คนกรุงเทพฯ อยากให้ผู้ว่าฯ คนใหม่ลงมือแก้ไขเร่งด่วน นำโด่งอันดับหนึ่ง 52.80% คือ ปัญหาถนนและทางเท้าชำรุด แม้จะเป็นปัญหาพื้นๆ ในโลกความเป็นจริง และไม่ปรากฏอยู่ในนโยบายหลักของบรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้ง แต่เสียงสะท้อนจากโซเชียลกลับมองปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่เพราะทำให้เกิดอุบัติเหตุรายวันและสร้างความยากลำบากให้ผู้ที่สัญจร ตามมาด้วยปัญหาน้ำท่วมขัง 10.94% ส่วนอันดับ 3 ถึง 10 มีเสียงสะท้อนต่ำกว่า 10% ทั้งหมด ได้แก่ ความปลอดภัยทางม้าลาย มลพิษฝุ่น PM2.5 พื้นที่สีเขียว กล้องวงจรปิดและไฟส่องสว่าง ปัญหาค่าครองชีพ การจราจร น้ำเน่าเสียในคลองและหาบเร่แผงลอย

บริษัท เรียล สมาร์ท จำกัด Digital Super Agency รายแรกในไทย เจ้าแห่งวงการ Social Listening ร่วมเกาะติดสถานการณ์การเลือกตั้งโดยรายงานข้อมูลผ่านโครงการ ชีพจรเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.’65 ทุกสัปดาห์ ล่าสุด ได้เปิดเผยผลสำรวจเสียงสะท้อนจากบทสนทนาในโลกออนไลน์ของชาวเน็ตระหว่างวันที่ 1 ก.พ. ถึง 7 เม.ย. 2565 พบ 10 อันดับปัญหาเรื้อรังที่คนกรุงเทพฯ ต้องการให้ผู้ว่าฯ คนใหม่เร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในโซเชียลมีเดียครั้งนี้ไม่ได้ระบุพื้นที่ผู้ใช้งาน และเก็บข้อมูลจากหลายแพลตฟอร์ม อาทิ twitter, facebook, website, youtube, Instagram ฯลฯ พบว่ามีการพูดถึงปัญหาที่อยากให้ผู้ว่าฯ กทม.แก้ไข จำนวน 185,398 ข้อความ โดย 10 อันดับแรกที่คนกรุงเทพฯ ต้องการให้ผู้ว่าฯ คนใหม่เข้ามาแก้ปัญหา ดังต่อไปนี้

อันดับที่ 1 ปัญหาถนนและทางเท้าชำรุด จำนวน 97,875 ข้อความ (เฉลี่ย 52.80%)
พบว่าส่วนใหญ่ถนนและทางเท้ามีสภาพเป็นหลุมเป็นบ่อ ไม่เรียบเนียน มีลักษณะเป็นลูกคลื่น และพบฝาท่อระบายน้ำแตก โดยไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาครบทุกจุด ส่งผลทำให้เกิดอุบัติเหตุ และสร้างความยากลำบากให้กับผู้ที่สัญจร

อันดับที่ 2 ปัญหาน้ำท่วมขัง จำนวน 20,286 ข้อความ (เฉลี่ย 10.94%)
ส่วนใหญ่เกิดจากการขาดแคลนระบบระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพ และปัญหาเศษขยะอุดตันช่องทางระบายน้ำต่างๆ

อันดับที่ 3 ปัญหาความปลอดภัยบนทางม้าลาย จำนวน 16,864 ข้อความ (เฉลี่ย 9.10%)
ส่วนใหญ่เกิดจากประชาชนไม่หยุดยานพาหนะเพื่อรอให้คนข้ามทางม้าลายอย่างปลอดภัย และทางม้าลายมีสภาพไม่ชัดเจน อาจทำให้ผู้ขับขี่พลาดมองไม่เห็นในบางครั้ง

อันดับ 4 ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และมลพิษอื่นๆ จำนวน 15,933 ข้อความ (เฉลี่ย 8.59%)
ส่วนใหญ่เกิดจากควันและไอเสียจากยานพาหนะ ตลอดจนโรงงานอุตสาหกรรม อีกทั้งยังเกิดจากสภาพอากาศที่อาจพัดนำฝุ่นพิษมาจากประเทศข้างเคียง

อันดับที่ 5 ปัญหาพื้นที่สีเขียวน้อย จำนวน 10,399 ข้อความ (เฉลี่ย 5.61 %)
ส่วนใหญ่เกิดจากประชาชนมองเห็นความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น รวมถึงประชาชนต้องการบรรเทาปัญหามลพิษทางอากาศ อีกทั้งประชาชนได้หันมาออกกำลังกายกันมากขึ้น ประชาชนจึงมองว่าพื้นที่สีเขียว เช่น สวนสาธารณะและการปลูกต้นไม้ในกรุงเทพฯ มีจำนวนน้อย แต่กลับมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของประชาชนมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

อันดับที่ 6 ปัญหากล้องวงจรปิดและไฟส่องสว่างไม่ทั่วถึง จำนวน 8,928 ข้อความ(เฉลี่ย 4.82 %)
ประชาชนมองว่าการขาดแคลนกล้องวงจรปิดในบางพื้นที่และการขาดแคลนกล้องวงจรปิดที่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ความปลอดภัยของประชาชนลดลง โดยเฉพาะการเรียกร้องความเป็นธรรมในกรณีเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลร้ายแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน อีกทั้งการขาดแคลนไฟส่องสว่างในบางพื้นที่ได้เพิ่มโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีกด้วย

อันดับที่ 7 ปัญหาค่าครองชีพสูง จำนวน 8,146 ข้อความ (เฉลี่ย 4.39 %)
ส่วนใหญ่เกิดจากสภาพเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์โควิด 19 และปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับค่าแรงของประชาชนที่ยังคงที่ โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีราคาสูงขึ้นมาก

อันดับที่ 8 ปัญหาการจราจรติดขัด จำนวน 3,655 ข้อความ (เฉลี่ย 1.97 %)
ส่วนใหญ่เกิดจากประชาชนจอดรถอย่างไม่ถูกต้องบริเวณริมถนน ในช่วงเทศกาลพบปัญหาจราจรติดขัดเป็นอย่างหนัก อุบัติเหตุส่งผลทำให้การจราจรติดขัดเป็นระยะเวลาหนึ่ง การก่อสร้างรถไฟฟ้า และการซ่อมแซมถนนส่งผลทำให้การจราจรติดขัดในระยะยาว

อันดับที่ 9 ปัญหาน้ำเน่าเสียในคลอง จำนวน 2,155 ข้อความ (เฉลี่ย 1.16 %)
ส่วนใหญ่เกิดจากการทิ้งขยะลงคลอง โดยที่ทางกรุงเทพฯ ไม่มีมาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งคลองที่มีน้ำเน่าเสียในบางพื้นที่กลับถูกเพิกเฉย โดยไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาแก้ไขปัญหา

อันดับที่ 10 ปัญหาหาบเร่ แผงลอยกีดขวางทางสัญจร จำนวน 1,157 ข้อความ (เฉลี่ย 0.62 %)
ส่วนใหญ่เกิดจากพ่อค้าแม่ค้าตั้งร้านในสถานที่ๆ ไม่ได้รับอนุญาต หรือเกินขอบเขตที่กำหนดไว้ โดยไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาควบคุม ทำให้ทางเท้ามีพื้นที่สัญจรให้กับประชาชนน้อยลง อีกทั้งบางร้านค้าได้ทิ้งขยะอย่างไม่ถูกต้อง จนสร้างความสกปรกให้กับพื้นที่

สำหรับ Social Listening เป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่คนทำงานด้านการตลาดดิจิทัลนำมาใช้เพื่อบริหารจัดการข้อมูล และสามารถนำใช้เพื่อรับฟังเสียงของผู้คนในโซเชียลมีเดียที่อยู่ในหลากหลายแพลตฟอร์ม โดยการนำข้อมูลมาประยุกต์ใช้เกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ จะทำให้เห็นเสียงสะท้อนในโซเชียลมีเดีย ที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับตัวผู้สมัคร บุคลิก ความคิด นโยบาย รวมถึงการสะท้อนปัญหาที่ควรรีบแก้ไขได้อีกด้วย

ร่วมเกาะติดสถานการณ์การเลือกผู้ว่าฯกทม. แบบเรียลไทม์ไปกับเรียล สมาร์ท (Real Smart) ได้ที่ www.realsmart.co.th และ facebook.com/realsmart.co.th

Exit mobile version