ไมโครซอฟท์ ร่วมกับ Mojang AB ผู้พัฒนาเกม Minecraft ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก และ Code.org องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรระดับโลก ที่สนับสนุนการเรียนเขียนโค้ด ได้จัดกิจกรรม ‘Hour of Code’ โดยในปีนี้ได้ใช้สื่อการเรียนเขียนโค้ดพื้นฐานผ่านเกม Minecraft ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ เพื่อเป็นสื่อกลางการเรียนรู้สำหรับนักเรียนและนักศึกษา กิจกรรม Hour of Code จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านสะเต็มศึกษา (Science Technology Engineering and Mathematics – STEM) ให้กับเยาวชนทั่วโลก โดยกิจกรรมได้ถูกจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 7-13 ธันวาคม 2558 ในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ซึ่งตรงกับสัปดาห์แห่งการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ปัจจุบันมีคุณครูกว่า 7,000 คน ในกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ได้นำเกม Minecraft มาสอนในชั้นเรียน
สำหรับในประเทศไทย ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ได้จัด กิจกรรม Hour of Code – Thailand ขึ้นในวันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม โดยมีเยาวชนที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป กว่า 300 คน ได้ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ภายในงานได้รับเกียรติจาก ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมเปิดงาน นอกจากนี้ ยังมีนักพากย์เกมชื่อดังขวัญใจเด็กๆ อย่าง ลุงพี-ภควัต ลือพัฒนสุข และ พี่แท็ค-อภิเดช เตี่ยไพบูลย์ มาร่วมสร้างสีสันด้วยการพากย์เกมสด Minecraft ในงานด้วย โดยจัดขึ้น ณ สำนักงาน ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย
ก่อนหน้านี้ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ได้มีการจัดเวิร์คชอปสอนการเรียนเขียนโค้ด มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมีนักเรียนและเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมแล้วกว่า 30,000 คน ในกว่า 100 โรงเรียนทั่วประเทศ
จากรายงานของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ เกี่ยวกับความคืบหน้าของประเทศไทยตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals: MDG) พบว่าประชาชนในประเทศไทยในทุกวัยยังขาดทักษะที่เป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการเรียนรู้ อาทิ ทักษะด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษ รวมไปถึงทักษะด้านการคิดอย่างมีระบบ (Critical thinking)[1] ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการจ้างงานเยาวชนต่ำที่สุดในภูมิภาค แต่การเปิดเสรีของอาเซียนทำให้เยาวชนในปัจจุบันต้องพัฒนาตนเองให้พร้อมสำหรับการทำงานในระดับภูมิภาคเช่นกัน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีเพื่อให้เท่าทันการแข่งขัน โดยจากรายงานความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ทั่วโลกจำนวน 144 ประเทศ (World Economic Forum Global competitiveness Index ปี 2014-2015) ระบุว่าประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันอยู่ในอันดับที่ 31 จาก 144 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับ 10 ในกลุ่มประเทศในเอเชีย รองจากประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรทส์ ไต้หวัน กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย มาเลเซีย เกาหลีใต้และจีน ตามลำดับ[2]
“วัตถุประสงค์หลักของกิจกรรมในวันนี้ ก็เพื่อกระตุ้นความสนใจในวิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ในกลุ่มเยาวชนไทยให้มากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งของกลุ่มสะเต็มศึกษา ที่จะช่วยพัฒนาทักษะพื้นฐานให้เยาวชนได้ใช้วิเคราะห์ แก้ปัญหา และใช้ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในทุกอาชีพ และเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตและการทำงาน โดยเฉพาะเมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล” นายอรพงศ์ เทียนเงิน กรรมการผู้จัดการ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าว “เรายินดีเป็นอย่างมาก ที่มีเด็กๆและผู้ปกครองสนใจในการเรียนเขียนโค้ด และนับเป็นครั้งแรกที่มีการนำเกม Minecraft ที่มีแฟนอยู่กว่า 100 ล้านคนทั่วโลก มาพัฒนาเป็นเครื่องมือในการสอนการเขียนโค้ดขั้นพื้นฐาน ภายใต้บรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ สร้างสรรค์และสนุกสนาน เราหวังว่ากิจกรรมนี้จะช่วยจุดประกายความคิดให้กับเยาวชนไทย ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นนักพัฒนานวัตกรรมรุ่นต่อไป”
“สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือสวทช. ได้มีการร่วมมือกับส่วนราชการ เอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเกิดการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศบนเวทีการค้าโลกได้ ในวันนี้ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ ไมโครซอฟท์ ได้จัดกิจกรรม Hour of Code – Thailand ให้กับเยาวชน ผ่านการเรียนเขียนโค้ด ที่สนุกสนาน อย่างเกม Minecraft ที่จะช่วยกระตุ้นความสนใจในวิชาด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างนวัตกรรมให้กับประเทศไทย” ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าว
การเรียนเขียนโค้ดผ่านเกม Minecraft ได้รับการออกแบบและพัฒนามาเพื่อเยาวชนอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป มุ่งให้เยาวชนได้เรียนรู้ทักษะการเขียนโค้ดเบื้องต้น และสัมผัสประสบการณ์เกม Minecraft ในโลก 2 มิติ โดยผู้เล่นจะได้เรียนการเขียนโค้ดผ่านการเก็บบล็อคเพื่อสร้างโค้ดคอมพิวเตอร์ ใน 14 ด่าน แบบไม่จำกัดเวลา เพื่อค้นหาและเรียนรู้คอนเซ็ปต์การเขียนโค้ดตลอดการเล่นเกม
เพื่อเป็นการส่งเสริมการเรียนเขียนโค้ดในวงกว้าง ตลอดปี 2559 ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ได้ร่วมมือกับ สวทช. พร้อมสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น (Change Fusion) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และ กู๊ดแฟคทอรี่ (Good Factory) Social Enterprise ด้านการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคม นำทักษะการเขียนโค้ดไปฝึกอบรมให้กับเยาวชนในจังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน ด้วยการจัดกิจกรรม Train the Trainers ให้แก่นักเรียนที่เป็นหัวหน้าและทีมชมรมวิทยาศาสตร์และคอมพิวเตอร์ของโรงเรียน คุณครูและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านการศึกษา ในการเรียนรู้ตรรกะการทำงานของคอมพิวเตอร์และการเขียนโค้ดขั้นพื้นฐานผ่านรูปแบบของเกม ด้วยสื่อการสอนของ Hour of Code เพื่อนำไปสอนเยาวชนระหว่างอายุ 14 – 18 ปีต่อไป และยังขยายเป้าหมายไปยังสถานศึกษาหรือชุมชนในพื้นที่ของตนเองอีกด้วย
“เป้าหมายของสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น คือ การสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อสังคมให้เติบโต อันนำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงที่สร้างสรรค์และยั่งยืน กิจการเพื่อสังคมที่เราสนับสนุนนั้นมีหลากหลายซึ่งรวมไปถึงด้านเทคโนโลยีเช่นกัน ในครั้งนี้ เชนจ์ฟิวชั่น มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับไมโครซอฟท์ในการเป็นสื่อกลางร่วมมือกับ กู๊ดแฟคทอรี่เพื่อสอนเขียนโค้ดให้แก่เยาวชนในพื้นที่ทางภาคเหนือ ทั้งนี้เพื่อจุดประกายให้เกิดการเรียนรู้พร้อมนำไปสู่การสร้างบุคลากรให้กับอุตสาหกรรมและประเทศได้ในระยะยาว” นายไกลก้อง ไวทยาการ รองผู้อำนวยการสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น กล่าว
กิจกรรม Hour of Code เป็นส่วนหนึ่งของโครงการไมโครซอฟท์ ยูธสปาร์ค (Microsoft YouthSpark) ซึ่งเป็นโครงการระดับโลกของไมโครซอฟท์ ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้ทำสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้นและมีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตได้มากขึ้น ผ่านการเข้าถึงทักษะด้านไอทีและการศึกษาที่ดีขึ้น สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนทั่วโลกได้ใช้จินตนาการ ตระหนักถึงอนาคตที่สดใส และช่วยให้พวกเขาสามารถหางานหรือสร้างงานของตนเองได้
[1] http://www.th.undp.org/content/thailand/en/home/post-2015/mdgoverview/overview/mdg2/
[2] http://reports.weforum.org/global-competitiveness-report-2015-2016/competitiveness-rankings/