9krapalm.com

[PR] ดีแทคร่วมกับจ.สุพรรณบุรี การท่องเที่ยวสุพรรณบุรี

ดีแทคร่วมกับจังหวัดสุพรรณบุรี การท่องเที่ยว จ.สุพรรณบุรี  และแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์  ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง แม่เพลงพื้นบ้าน เพลงฉ่อย เพลงอีแซว ที่มีชื่อเสียงในภาคกลาง จัดโครงการเด็กสุพรรณรักเพลงพื้นบ้าน คัดเลือกตัวแทนเยาวชนจากโรงเรียนระดับประถมในจังหวัด 5 โรงเรียนร่วมโครงการ เรียนรู้การร้องรำจากแม่ขวัญจิต สืบสานมรดกเพลงไทยพื้นบ้านสู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ช่วยกันอนุรักษ์วัฒนธรรมบ้านเกิด

นายอำนาจ โกศลรอด ผู้อำนวยการอาวุโสธุรกิจภูมิภาค ภาคกลางและตะวันออก บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคได้ให้บริการโครงข่ายการใช้งานโทรศัพท์มือถือ 3G และ 4G และดูแลลูกค้าลงไปในรายภูมิภาค สำหรับในภาคกลางและตะวันออกนอก นอกเหนือจากการขยายและปรับปรุงคุณภาพการใช้งานดีแทคและการทำตลาดให้ตรงตามความต้องการของลูกค้าในพื้นที่แล้ว ตามกลยุทธ์การตลาดระดับภูมิภาค ที่ต้องการทำกิจกรรมที่ผสมผสานไปกับชีวิตประจำวันของคนในแต่ละท้องที่ โดยดีแทคยังเล็งเห็นถึงความสำคัญในการช่วยเหลือและพัฒนาสังคมและสืบสานวัฒนธรรมพื้นบ้านของภาคกลางซึ่งมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นจากการร้องเพลงที่ร้องเล่นกันมาแต่สมัยโบราณ  โดยเฉพาะในจังหวัดสุพรรณบุรีซึ่งเป็นเมืองเกษตรกรรม จึงมีประวัติ ความผูกพันธ์กับเพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงเกี่ยวข้าวที่ร้องกันเป็นหมู่คณะเวลาลงแขกเกี่ยวข้าว ซึ่งเป็นศิลปะที่ควรสืบสานและดำรงไว้เพื่อให้คนรุ่นหลัง  จึงได้ร่วมกับจังหวัดสุพรรณบุรี การท่องเที่ยว และแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ ศิลปินแห่งชาติ มาสอนการร้องเล่นเพลงฉ่อย เพลงอีแซวให้เยาวชนใน จ.สุพรรณบุรีได้รักการร้องเพลงพื้นบ้านและสืบต่อเป็นมรดกให้คนรุ่นใหม่ ด้วยการผสมผสานเทคโนโลยีการใช้งานอินเตอร์เน็ตเพื่อให้นักเรียนได้ใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ในการทบทวนคำร้องและทำนองของครูเพลงหลังจากจบการสอนในแต่ละครั้ง

โดยโครงการนี้ได้คัดเลือกเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาในจ.สุพรรณ 5 โรงเรียน คือ 1.โรงเรียนวัดวรจันทร์ 2.โรงเรียนอนุบาลศรีประจันต์ 3.โรงเรียนวัดวังกุ่ม 4.โรงเรียนวัดเสาธงทอง 5.โรงเรียนวัดหนองหลอด เด็กนักเรียนที่ร่วมโครงการจะได้เรียน ฝึกฝนการร้องเล่นในตำแหน่งหน้าที่ ของผู้แสดงเป็นพ่อเพลง  ผู้ร้องนำฝ่ายชาย แม่เพลง  ผู้ร้องนำฝ่ายหญิง  คอต้น ผู้ร้องเพลงโต้ตอบคนแรก  คอสอง  คอสาม  ผู้ร้องคนที่สองและ สาม  และ ลูกคู่ ที่ มีหน้าที่ร้องรับ ร้องซ้ำความ ร้องสอดแทรกขัดจังหวะ เพื่อความสนุกสนาน พร้อมทั้งเรียนในเนื้อหาการเรียงลำดับ เริ่มต้นด้วยบทไหว้ครู บทเกริ่น บทประ หมายถึงการร้องปะทะคารมกันของทั้งสอง  และจบท้ายด้วยบทจาก หรือบทลา ซึ่งแม่ขวัญจิตและคณะทีมคุณครูผู้สอนได้เริ่มจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ กลางเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งมีนักเรียนที่เรียนจบและรับประกาศนียบัตรจำนวน 50 คน

ด้านว่าที่ร้อยตรีสุพีร์พัฒน์ จองพานิช ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า สุพรรณบุรีเป็นจังหวัดที่มีความโดดเด่นทางด้านเอกลักษณ์และวัฒนธรรมไทย เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนจนเป็นที่ยอมรับของคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การร้องเพลงพื้นบ้าน และเรามีศิลปินแห่งชาติ ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของคนสุพรรณ อย่างแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ ซึ่งมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์มรดกเพลงฉ่อยและเพลงอีแซว และมีความตั้งใจจริงที่จะถ่ายทอดไปสู่คนรุ่นหลาน ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นมาได้จากการเห็นความสำคัญของเพลงพื้นบ้านอย่างองค์กรดีแทค ที่ได้เข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนทำให้โครงการนี้สำเร็จได้อย่างงดงาม และจังหวัดสุพรรณบุรียังได้ตัวแทนเยาวชนคนรุ่นใหม่ มาเป็นผู้ร่วมถ่ายทอดความงดงามของเพลงพื้นบ้านออกไปให้ประชาชนทุกคนได้รับรู้อย่างกว้างขวางอีกด้วย

Exit mobile version