9krapalm.com

CGTN: จีนเดินหน้าตามเป้าหมายปล่อยคาร์บอนถึงเพดานสูงสุด ก่อนบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน

จีนจะใช้นโยบายอย่างแข็งขันในการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายปล่อยคาร์บอนถึงเพดานสูงสุดภายในปี พ.ศ. 2573 ก่อนที่จะลดลงจนบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2603 นายไจ้ ชิง (Zhai Qing) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม กล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

จีนได้ให้คำมั่นสัญญาดังกล่าวในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อปี 2563

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความท้าทายที่เด่นชัดในระดับโลก และเป็นประเด็นที่ประชาคมโลกต่างให้ความสนใจ ท่านสี จิ้นผิง ได้เน้นย้ำอยู่ตลอดว่าการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นขอให้เราทำ แต่เป็นสิ่งที่เราต้องการทำเอง” นายไจ้กล่าวในงานแถลงข่าวนอกรอบการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20

“ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก จีนจะลดการปล่อยคาร์บอนมากที่สุดในโลก และเปลี่ยนจากการปล่อยคาร์บอนถึงเพดานสูงสุดไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในเวลาอันสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างเต็มที่ถึงความรับผิดชอบของจีนในฐานะประเทศใหญ่” เขากล่าว

นายไจ้กล่าวว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว จีนจะเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยคาร์บอนต่ำในพื้นที่สำคัญ ๆ ตลอดจนผลักดันการลดมลภาวะไปพร้อมกับการลดคาร์บอน

นอกจากนี้ จีนจะพัฒนาตลาดคาร์บอนของชาติอย่างมั่นคงและเป็นระเบียบ ตลอดจนเร่งทำการวิจัย สนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ ไปจนถึงส่งเสริมการผลิตคาร์บอนต่ำและวิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ความก้าวหน้าที่สำคัญในการเปลี่ยนผ่านสีเขียว

ประเทศจีนมีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

นายไจ้เปิดเผยว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนยังคงรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยที่ 6.6% แต่มีอัตราการเติบโตของการใช้พลังงานเฉลี่ยต่อปีเพียง 3%

ในปี 2563 ความเข้มข้นของการปล่อยคาร์บอนของจีนลดลง 48.4% เมื่อเทียบกับปี 2548 ซึ่งเกินเป้าหมายที่เคยให้คำมั่นไว้ต่อประชาคมโลก

ในปี 2564 การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยของจีดีพี ลดลง 34.4% เมื่อเทียบกับปี 2555

ในปีเดียวกัน สัดส่วนการใช้ถ่านหินต่อพลังงานหลักลดลงเหลือ 56% จากระดับ 68.5% ในปี 2555 และระดับ 72.4% ในปี 2548 ขณะที่สัดส่วนของพลังงานที่ไม่ใช่ฟอสซิลในการใช้พลังงานทั้งหมดอยู่ที่ 16.6%

ในปี 2564 กำลังการผลิตติดตั้งของพลังงานหมุนเวียนมีมากกว่า 1 พันล้านกิโลวัตต์ โดยพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานไฮดรา และพลังงานชีวมวล ล้วนเป็นอันดับหนึ่งของโลก

นอกจากนี้ จีนยังมีทรัพยากรป่าไม้เพิ่มขึ้นมากที่สุดและมีพื้นที่ปลูกป่าใหญ่ที่สุดในโลก นับเป็นผู้นำความพยายามด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของโลก

จีนเพียงประเทศเดียวคิดเป็น 25% ของพื้นที่ใบ (Leaf Area) ที่เพิ่มขึ้นสุทธิทั่วโลก แม้ว่าจะมีพื้นที่ปลูกพืชคิดเป็นสัดส่วนเพียง 6.6% ของทั่วโลกก็ตาม จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยบอสตันด้วยการติดตามดาวเทียมของนาซ่าะหว่างปี 2543-2560 ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ ซัสเทนอบิลิตี้ (Nature Sustainability) เมื่อปี 2562

นอกจากนี้ จีนได้เปิดตลาดคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลกในแง่ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อส่งเสริมบทบาทของกลไกตลาดในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างมีประสิทธิภาพ

มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการกำกับดูแลสภาพภูมิอากาศโลก

นายไจ้กล่าวว่า จีนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการกำกับดูแลสภาพภูมิอากาศโลก

จีนสนับสนุนระบบพหุภาคีและหลักการของความรับผิดชอบร่วมกันแต่แตกต่างกันตามความสามารถ โดยจีนได้ส่งเสริมการลงนาม การบังคับใช้ และการดำเนินการตามความตกลงปารีส (Paris Agreement)

นอกจากนี้ จีนยังมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในความร่วมมือใต้-ใต้ (South-South Cooperation) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจีนได้พยายามอย่างเต็มที่ในการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเกาะขนาดเล็ก ประเทศในแอฟริกา และประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด เพื่อยกระดับความสามารถในการตอบสนองต่อสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะนำไปสู่การลดผลกระทบเชิงลบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ขณะเดียวกัน จีนยังมีความก้าวหน้าเชิงบวกในการส่งเสริมการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative หรือ BRI) โดยจีนนำเสนอโครงการนี้ในปี 2556 เพื่อสร้างเครือข่ายการค้าและโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมเอเชียกับยุโรปและแอฟริกาตามเส้นทางสายไหมโบราณ

จีนได้จัดตั้งกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางในปี 2562 เพื่อส่งเสริมการเจรจานโยบายและการวิจัยร่วมกัน และสนับสนุนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติปี 2573

ปัจจุบัน กลุ่มความร่วมมือดังกล่าวมีพันธมิตรมากกว่า 150 ราย จากกว่า 40 ประเทศ

นอกจากนี้ จีนยังมีความพยายามในการยกระดับนวัตกรรมและการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีสีเขียว รวมถึงบ่มเพาะผู้มีความสามารถในการจัดการสิ่งแวดล้อม

“เราได้ฝึกอบรมบุคลากรด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการประมาณ 3,000 คน จากกว่า 120 ประเทศ เพื่อสร้างฉันทามติและทำงานร่วมกันในด้านการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” นายไจ้กล่าว

ในอนาคต จีนจะทำงานร่วมกับทุกฝ่ายเพื่อมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการกำกับดูแลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก ตลอดจนส่งเสริมระบบกำกับดูแลสภาพภูมิอากาศโลกที่มีความเท่าเทียมและสมเหตุสมผลเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย เดินหน้ากระชับความร่วมมือใต้-ใต้ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงนำความแข็งแกร่ง ภูมิปัญญา และโซลูชันของจีนมาใช้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก นายไจ้กล่าว

https://news.cgtn.com/news/2022-10-21/China-to-continue-green-transition-toward-carbon-peak-and-neutrality-1ejn24Q034Y/index.html

Exit mobile version