9krapalm.com

เข้าใจอาการและวิธีรักษา เมื่อลื่นล้ม หรือตกจากที่สูง จน ‘กระดูกสันหลังหัก’ !?

เชื่อว่าตั้งแต่เด็กจนโต หลายคนคงเคยผ่านประสบการณ์ ‘ล้มก้นจ้ำเบ้า’ อย่างน้อยสักครั้ง ซึ่งอุบัติเหตุที่ส่งมวลร่างกายไปกระทบกับพื้นแข็ง ๆ นี้นอกจากจะสร้างรอยช้ำรอยปวดทิ้งไว้แล้ว มันยังเป็นสาเหตุของอาการที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝันได้อีกด้วย …เพราะหากแรงกระแทกนั้นมีมากพอ เราก็อาจต้องเปลี่ยนความเจ็บระดับจ้ำเบ้า ไปเป็นความร้ายแรงขั้นการแตกหักของ ‘กระดูกสันหลัง’ ได้เลยทีเดียว

ทันทีที่ร่างกายล้มลงในแนวดิ่งหรือเกิดอุบัติเหตุตกจากที่สูง จนได้รับแรงกดกระแทกที่รุนแรง แรงกระแทกนั้นจะส่งผลไปถึงลำกระดูกสันหลังส่วนหน้าและส่วนกลาง ทำให้เกิดการแตก ยุบ ความรู้สึกแรกที่ตามมาคือความปวดรุนแรงบริเวณที่บาดเจ็บ ไม่สามารถขยับหรือเคลื่อนไหวได้เป็นปกติ หรือที่เรียกว่าอาการกระดูกสันหลังหัก หรือการบาดเจ็บของกระดูกสันหลังแบบ ‘Burst Fracture’

ยิ่งไปกว่านั้น หากชิ้นกระดูกที่แตกนั้นเคลื่อนที่กระจายตัวไปรอบ ๆ จนไปกดทับโพรงประสาทหรือไขสันหลัง อาการปวดร้าวก็จะขยายไปตามเส้นประสาทที่ถูกกดทับ จนมีอาการอ่อนแรงเกิดขึ้นที่ขา มีการรับรู้รับสัมผัสผิดปกติ เช่นอาการขาชา และที่ร้ายแรงที่สุดหากการรักษาไม่เกิดขึ้นอย่างทันเวลา อุบัติเหตุนี้ก็จะนำไปสู่ ‘การพิการ’ ในที่สุด

ผศ.นพ.ศุภกิจ พิมลธเรศ หัวหน้าศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลพระรามเก้า เผยว่า โดยทั่วไปแล้ว อาการ Burst Fracture หรือกระดูกสันหลังแตกหัก มักมาจากอุบัติเหตุล้มก้นกระแทก ตกจากที่สูง รวมถึงการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถยนต์หรือจักรยานยนต์ หรือในกรณีผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis) การแตกหักส่วนใหญ่มักพบว่าเกิดในตำแหน่งรอยต่อระหว่างกระดูกสันหลังส่วนอกและเอว ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุลื่นล้มก้นกระแทกพื้น

“ก่อนรักษาอาการกระดูกสันหลังหัก แพทย์จะทำการวินิจฉัยผู้บาดเจ็บเบื้องต้นด้วยการตรวจเอกซเรย์ 2 ขั้นตอน คือ การทำ CT Scan (เอกซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์) ในบริเวณกระดูกสันหลังที่สงสัยว่าแตกหัก เพื่อประเมินลักษณะของการแตกหัก รวมถึงการเคลื่อนตัวของกระดูกสันหลัง จากนั้นจึงทำ MRI (เอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า) เพื่อทำให้เห็นตำแหน่งการหักและการบาดเจ็บของเส้นประสาท-ไขสันหลัง ให้ชัดเจนขึ้น พร้อมประเมินกลุ่มเอ็นด้านหลังของกระดูกสันหลังร่วมด้วย เพื่อวิเคราะห์ทางเลือกที่ดีและรวดเร็วที่สุด ก่อนทำการรักษา”

การรักษาอาการกระดูกสันหลังหักจึงขึ้นอยู่กับความรุนแรงที่เกิด ในรายที่อาการไม่รุนแรงมาก ผู้บาดเจ็บไม่มีการกดทับของเส้นประสาทหรือไขสันหลัง และข้อกระดูกสันหลังยังมีความมั่นคง (Stable Burst Fracture) รวมถึงกระดูกสันหลังส่วนที่ยุบเกิดการค่อมไม่มากนัก จะให้นอนพัก พร้อมให้ยาบรรเทาอาการปวดในช่วงแรก และยังต้องใส่อุปกรณ์พยุงหลัง ช่วยเสริมความมั่นคงในการเคลื่อนไหว ทั้งนั่ง ยืน เดิน จนกว่ากระดูกจะแข็งแรงเป็นปกติ ใช้เวลาประมาณ 8-12 สัปดาห์ หรือเรียกว่า รักษาโดยการไม่ผ่าตัด (Non-Operative Treatment)

แต่ในรายที่มีการบาดเจ็บของไขสันหลัง เส้นประสาทถูกกดทับ หรือมีภาวะไม่มั่นคงของกระดูกสันหลัง จะต้อง รักษาโดยการผ่าตัด (Operative Treatment) โดยทำการยึดตรึงกระดูกสันหลังด้วยโลหะดามกระดูกสันหลัง เพื่อจัดกระดูกให้เข้าที่ร่วมกับขั้นตอนผ่าตัดเปิดโพรงประสาท เพื่อลดการกดทับที่เกิดขึ้นในไขสันหลังหรือเส้นประสาท

“การล้มก้นกระแทกหรือการตกจากที่สูง เป็นอุบัติเหตุที่มีโอกาสส่งผลเสียต่อกระดูกสันหลังสูง และยังนำมาสู่ผลกระทบที่รุนแรงต่อโพรงประสาทและไขสันหลังถึงขั้นพิการได้ ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียก็คือการป้องกันอุบัติเหตุดังกล่าว แต่หากสิ่งที่ไม่คาดคิดนี้เกิดขึ้นแล้ว ทางเลือกก็จะเหลือแค่นำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพื่อให้การวินิจฉัยและการรักษาเกิดขึ้นอย่างทันท่วงทีนั่นเอง”

ติดตามสาระความรู้ที่น่าสนใจกับ โรงพยาบาลพระรามเก้า ได้ที่ Website: www.praram9.com / FB: Praram 9 hospital / Line: lin.ee/vR9xrQs หรือ @praram9hospital หรือโทร. 1270 โรงพยาบาลพระรามเก้า HEALTHCARE YOU CAN TRUST เรื่องสุขภาพ…ไว้ใจเรา #Praram9Hospital

Exit mobile version