Lazada

อ.อ.ป. ชูวิสัยทัศน์ ‘สร้างสรรค์สวนป่าเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืน’ มุ่งการดำเนินงานด้านธุรกิจ ควบคู่การสร้างผลเชิงบวกต่อชุมชน และรองรับสังคมคาร์บอนต่ำอย่างเต็มรูปแบบ…

นายสุกิจ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) เปิดเผยว่า อ.อ.ป. ทบทวนและจัดทำแผนวิสาหกิจองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อเป็นกรอบทิศทางการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่สร้างสมดุลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างยั่งยืน (Sustainable Stakeholder Balancing) ภายใต้วิสัยทัศน์ “สร้างสรรค์สวนป่าเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืน” โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อขยายธุรกิจพร้อมกับการสร้างผลเชิงบวกต่อชุมชนให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน และมีความรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อม ตลอดจนสามารถรองรับสังคมคาร์บอนต่ำอย่างเต็มรูปแบบ ควบคู่กับอนุรักษ์และสร้างความตระหนักในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้แก่ชุมชนและประชาชน รวมถึงบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ให้เกิดมูลค่าทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

โดยการกำหนดทิศทางการดำเนินงานของ อ.อ.ป. จะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ นโยบายรัฐบาลแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจภาพรวม ตลอดจนแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจสาขาทรัพยากรธรรมชาติ และแผนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ อ.อ.ป. มีการตั้งเป้าหมายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งกระบวนการนี้ จะเป็นการมีส่วนร่วมของคณะผู้บริหาร บุคลากร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ในทุกภาคส่วน

ผอ.อ.อ.ป. กล่าวต่อไปอีกว่า ในปี 2566 อ.อ.ป. ได้ยกระดับดัชนีความโปร่งใสในการดำเนินงาน (ITA)
และแสดงเจตจำนงสุจริตและเจตนารมณ์ในการเป็นหน่วยงานที่ไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจาก
การปฏิบัติหน้าที่ “No Gift Policy” ภายใต้โครงการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐวิสาหกิจของ อ.อ.ป. เพื่อยกระดับการดำเนินงาน ด้านธรรมาภิบาลควบคู่กับการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ อ.อ.ป. ได้กำหนดแผนการดำเนินงานที่สำคัญ เพื่อมุ่งสู่องค์กรที่ยั่งยืน จำนวน 9 โครงการ/กิจกรรม ดังนี้

1. โครงการเสริมสร้างการตระหนักรู้สวนป่าเศรษฐกิจให้แก่ประชาชน ขับเคลื่อนการตระหนักรู้ด้านสวนป่าเศรษฐกิจการเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจของ อ.อ.ป. ให้กับประเทศ พร้อมยกระดับความตระหนักรู้และการมีจิตสำนึกที่ดีต่อการปลูกไม้เศรษฐกิจต่อสาธารณะชน เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยเฉพาะพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ

2. โครงการพัฒนาธุรกิจใหม่ ในปัจจุบันการแข่งขันทางด้านการตลาดมีความหลากหลาย ดังนั้น เพื่อให้ธุรกิจของ อ.อ.ป. เติบโตและทันสมัยไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของการตลาด จะต้องมีการพัฒนาและเพิ่มธุรกิจรูปแบบใหม่ให้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น

3. โครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวจากสวนป่าเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมยกระดับขีดความสามารถในการรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ ควบคุมและลดมลพิษ แลพัฒนาระบบการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงส่งเสริมการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่เอกชนเพื่อลดแรงกดดันในการตัดไม้จากป่าธรรมชาติ ตอบสนองความต้องการใช้ไม้ภายในประเทศและชุมชนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง

4. โครงการส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Forestry Lodge) อ.อ.ป. ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่มุ่งเน้นการสร้างความหลายด้านท่องเที่ยว รักษาการเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของการท่องเที่ยวระดับโลกที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทุกระดับ และเพิ่มสัดส่วนของนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสูง อ.อ.ป. จึงพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในสวนป่า เพื่อรองรับการท่องเที่ยวในระดับประเทศ และการสร้างรายได้จากการบริการท่องเที่ยวที่คุ้มค่าต่อการลงทุนต่อไป

5. โครงการขยายผลคาร์บอนเครดิตสู่ชุมชน โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศรูปแบบใหม่ที่มุ่งเน้น “การเติบโตที่มีคุณภาพ” สร้างความสมดุลของเศรษฐกิจที่เน้นการสร้างมูลค่า (Value – base economy) การเติบโตที่เน้นการมีส่วนร่วม (Inclusive growth) การส่งเสริมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการส่งเสริมเกษตรกรปลูกไม้เศรษฐกิจในที่ดินกรรมสิทธิ์ โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรที่ร่วมกิจกรรมส่งเสริมปลูกไม้เศรษฐกิจ มีส่วนร่วมในการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และสร้างรายได้จากการจำหน่ายคาร์บอนเครดิต

6. โครงการบริหารจัดการคุณภาพทั่วทั้งองค์กร การจัดทำนโยบายคุณภาพองค์กร เพื่อเป็น
การจัดระบบและวินัยในการทำงาน ป้องกันความผิดพลาดเสียหาย และมุ่งสร้างคุณค่าในกระบวนการทำงานในทุกขั้นตอน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการก้าวไปสู่ความเป็นเลิศทั้งด้านการบริหารองค์กร การบริหารการผลิต
การบริหารการตลาดเป็นระบบการจัดการที่ร่วมมือกันของพนักงานทั่วทั้งองค์กรในรูปแบบต่างๆ

7. โครงการเสริมสร้างคุณค่าให้ชุมชนที่สำคัญ การสร้างผลบวกเชิงสังคม โดยเฉพาะใช้
องค์ความรู้ของ อ.อ.ป. ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนถือเป็นหน้าที่ที่รัฐวิสาหกิจจะต้องดำเนินการ
เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน

8. โครงการขับเคลื่อนองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้สู่องค์กรดิจิทัล การปรับเปลี่ยน อ.อ.ป. สู่การเป็นองค์กรดิจิทัล โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการของหน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอย่างเป็นระบแบบแผน และพัฒนาสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลโดยสมบูรณ์ ตลอดจนให้ความสำคัญกับการรักษาความมั่นคงและความปลอดภัยไซเบอร์และข้อมูล รวมไปถึงการสร้างแพลตฟอร์มในการสร้างบริการภาครัฐ เพื่อให้ภาคเอกชนหรือนักพัฒนาสามารถนำข้อมูลและบริการของภาครัฐไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดนวัตกรรมบริการ และสร้างรายได้ให้กับระบบเศรษฐกิจต่อไป

9. โครงการพัฒนาระบบการบริหารทุนมนุษย์เชิงยุทธศาสตร์ การบริหารพนักงานที่มีศักยภาพสูง (Talent Management) โดยการดำเนินการเฟ้นหาบุคคลที่มีความสามารถพิเศษ มีผลการปฏิบัติงานสูง
และมีศักยภาพในการทำงานสูงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ผ่านกระบวนการพัฒนาบุคลากรที่มุ้งเน้นการให้คนเก่งหรือคนที่มีความรู้ความสามารถทำหน้าที่เป็นผู้นำของกลุ่ม และพร้อมที่จะพัฒนาบุคลากรเพื่อมุ่งสู่องค์กรที่มีสมรรถนะสูงทั้งนี้เพื่อเพิ่มขีดสมรรถนะ และประสิทธิภาพของบุคลากร รวมทั้งส่งเสริมให้มีการวางระบบเตรียมความพร้อมเพื่อทดแทนบุคลากร ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สามารถรองรับต่อการเปลี่ยนแปลง

ผอ.อ.อ.ป. กล่าวทิ้งท้ายว่า จากการเดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานของ อ.อ.ป. ภายใต้วิสัยทัศน์ “สร้างสรรค์สวนป่าเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืน” จะสามารถนำ อ.อ.ป. ไปสู่การเป็นองค์กรที่ยั่งยืนตามกรอบยุทธศาสตร์ในด้านต่างๆ พร้อมสร้างความตระหนักในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติแก่ชุมชนและประชาชน และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ให้เกิดมูลค่าทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนต่อไป