9krapalm.com

หัวใจล้มเหลว ภาวะอันตราย เสียชีวิตได้แบบเฉียบพลัน

ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) ภัยเงียบที่เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของหัวใจ หากเป็นแล้ว และไม่ได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลง นำไปสู่การเสียชีวิตได้ โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่เข้าโรงพยาบาลด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว มีมากกว่ามะเร็งหลายชนิด พบบ่อยขึ้นในผู้สูงอายุ และมีมากถึง 2% ที่ต้องเข้าห้องฉุกเฉิน ทั้งหมดเกิดจากการไม่ควบคุมและไม่ได้รับการรักษาที่ดี โดยธรรมชาติของโรคจะดำเนินไปเรื่อย ๆ หากไม่รักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ โรคก็จะพัฒนาไปเร็วขึ้นจนไม่สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง อาทิ โรคเบาหวาน โรคไต

ศาสตราจารย์นายแพทย์รุ่งโรจน์ กฤตยพงษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์ โรคหัวใจ ได้เปิดเผยว่า “ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart failure) เป็นกลุ่มอาการที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของการทำงานของหัวใจ โดยอาจเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างหรือการทำหน้าที่ของหัวใจ ส่งผลให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายหรือรับเลือดกลับเข้าสู่หัวใจได้ตามปกติ ปัจจุบันคนไทยมักให้ความสำคัญกับภาวะหัวใจล้มเหลวน้อยกว่ามะเร็ง ซึ่งแท้จริงแล้ว อัตราการเสียชีวิตของหัวใจล้มเหลวสูงกว่ามะเร็งหลายชนิด โดยเฉลี่ยอัตราการเสียชีวิตขณะอยู่โรงพยาบาลของผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว ประมาณ 3-4% อัตราการเสียชีวิตที่ 1 ปี ประมาณ 20-30% อัตราการเสียชีวิตที่ 5 ปี ประมาณ 60% ภาวะหัวใจล้มเหลว ไม่ใช่สิ่งใหม่ หรือรุนแรงมากขึ้นกว่าสมัยก่อน เพียงแต่เราอาจจะไม่คุ้นเคย ไม่รู้จักตัวโรคมากนัก เมื่อการแพทย์สมัยใหม่ ให้ความสำคัญกับภาวะหัวใจล้มเหลวมากยิ่งขึ้น ผู้ป่วยก็มีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้มากขึ้นด้วย ดังนั้นเราจึงมักพบเจอคนที่เป็นภาวะหัวใจล้มเหลวประมาณ 1% ของประชากรทั้งหมด และมักจะพบเมื่อมาถึงโรงพยาบาลด้วยอาการผิดปกติทางระบบหัวใจและหลอดเลือดแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา พบภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นอาการที่พบบ่อยที่สุดของผู้ป่วยมาที่มาห้องฉุกเฉิน โดยสาเหตุหลักของการเกิดโรค คือ การไม่ควบคุมการรักษาที่ดี ทำให้โรคพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จนไม่สามารถควบคุมได้ แต่หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี อาจจะส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตลดลง และมีชีวิตที่ยืนยาวเหมือนกับคนปกติได้เช่นกัน”

“ภาวะหัวใจล้มเหลว และโรคหลอดเลือดหัวใจ มีความคล้ายคลึงกัน และมีอาการร่วมเช่นเดียวกัน ผู้ป่วยส่วนมากจึงมักเข้าใจผิดถึงตัวโรค และมักจะขาดการใส่ใจในการรักษาที่ดี โดยภาวะขาดเลือดเกิดจากโรคเส้นเลือดหัวใจผิดปกติทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบ จึงมีอาการจุกแน่น เจ็บหน้าอก เวลาออกกำลังหรือต้องออกแรง เพราะหัวใจเมื่อทำงานหนักขึ้น เลือดจะไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ ถ้าเกิดแบบฉับพลัน อาการก็จะจุกแน่น รุนแรงทันที นานนับชั่วโมง อาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายฉับพลันได้ (Heart Attack) ส่วนอาการของภาวะหัวใจล้มเหลวนั้น เราจะสังเกตได้จากอาการของระบบหายใจ คือ เหนื่อยง่าย ปอดบวม ขาบวม จากความผิดปกติของการทำงานระบบหัวใจ และส่งผลให้มีความผิดปกติในหลายระบบของร่างกาย เช่น ปอด จะมีน้ำคั่งในปอด ปอดบวม ทำให้เกิดความผิดปกติของการแลกเปลี่ยนออกซิเจน จึงเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ทำกิจวัตรได้ไม่เหมือนปกติ ถ้าเกิดแบบฉับพลัน อาจถึงขั้นหายใจไม่ออกได้”

“สำหรับการรักษานั้น มีเป้าหมาย คือต้องรักษาอาการของผู้ป่วยให้ดีขึ้น ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น และท้ายสุดคือการทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้ยาวนานขึ้น ซึ่งการรักษา มีทั้งแบบป้องกันในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะเป็น คือการดูแลปัจจัยหรือโรคร่วมต่าง ๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคเส้นเลือดหัวใจ ให้อยู่ในภาวะที่ปกติที่สุด ไม่ให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในอนาคตได้ ในส่วนของผู้ป่วยที่เป็นภาวะหัวใจล้มเหลวอยู่แล้ว ก็จะใช้การรักษาแบบใช้ยาหรืออุปกรณ์ช่วยรักษา ซึ่งการใช้ยารักษาขึ้นกับชนิดของหัวใจล้มเหลว ว่าเป็นการบีบตัวหรือการคลายตัวผิดปกติของหัวใจ จึงต้องทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เช่น การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนของหัวใจ (Echo Cardiogram) ในบางกรณีแพทย์อาจแนะนำให้ใช้อุปกรณ์ หรือเครื่องมือที่ช่วยในการทำงานของหัวใจ ซึ่งจะลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ดี ซึ่งความยากของการรักษานั้นหากผู้ป่วยนั้นมีโรคร่วมด้วยการรักษาก็จะยากยิ่งขึ้น เพราะการรักษาอาการโรคร่วมนั้น อาจส่งผลต่อการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว อย่างเช่น ผู้ที่เป็นเบาหวานอยู่แล้วนั้น หากควบคุมอาการเบาหวานไม่ดี ก็จะส่งผลต่อความผิดปกติของการทำงานของหัวใจ และการตีบแคบของหัวใจได้ นอกจากนี้การบริโภคอาหารของคนไทย ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคได้ เนื่องจากคนไทยติดทานเค็ม หวาน มากเกิน ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเช่นกัน แพทย์จึงมีความจำเป็นต้องเข้าใจธรรมชาติของโรค แพทย์จะมีการปรับเปลี่ยนการรักษา มีการประเมินการรักษาอยู่ตลอดเวลา เพื่อปรับยาและการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วย”

“ญาติผู้ดูแลผู้ป่วย หรือตัวผู้ป่วย ต้องหมั่นสังเกตความผิดปกติอยู่เสมอ อย่างเช่น เรื่องของภาวะน้ำขาดหรือเกิน เพราะอาจต้องทานยาขับปัสสาวะในการรักษาด้วย ดังนั้นควรชั่งน้ำหนักทุกวัน หากน้ำหนักเพิ่มเกิน 2 กิโลกรัม ควรรีบปรึกษาแพทย์เพราะอาจมีภาวะน้ำเกิน หรือการทานยาก็อาจมีผลต่อความดันเลือด ทำให้ความดันเลือดต่ำ เวียนศีรษะ จึงควรวัดความดันควบคู่ไปด้วย หากผิดปกติเกิน ควรไปพบแพทย์ นอกจากนี้ต้องให้ความร่วมมือกับทีมแพทย์ และผู้ป่วยเองควรมีวินัยในการรักษา ทานยาสม่ำเสมอ ควบคุมอาหาร ไม่ทานเค็ม พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ควบคุมโรคที่ทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยง ผู้ดูแลผู้ป่วยก็ต้องเข้าใจผู้ป่วยและช่วยดูแลในทุกด้านด้วย เพียงเท่านี้ก็จะมีชีวิตที่ยืนยาว แบบคนปกติได้” ศาสตราจารย์นายแพทย์รุ่งโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย

Exit mobile version